บาลีวันละคำ

อสีตยานุพยัญชนะ (บาลีวันละคำ 3,703)

อสีตยานุพยัญชนะ

รูปคำก็จำยาก

รายละเอียดก็จำยาก

แต่ควรศึกษาไว้ให้มาก-เป็นพุทธบูชา

อ่านว่า อะ-สี-ตะ-ยา-นุ-พะ-ยัน-ชะ-นะ

แยกศัพท์เป็น อสีติ + อนุพยัญชนะ

(๑) “อสีติ” 

อ่านว่า อะ-สี-ติ แปลว่า แปดสิบ (จำนวน 80) ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ปกติสังขยา” คือคำบอกจำนวนของสิ่งที่นับ คู่กับ “ปูรณสังขยา” คือคำบอกเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ

แวะหาความรู้ :

“ปกติสังขยา” เช่นพูดว่า “อสีติ  มหาสาวกา” = พระมหาสาวก 80 องค์ (รวมหมดทั้ง 80 องค์)

“ปูรณสังขยา” เช่นพูดว่า “อสีติโม  มหาสาวโก” = พระมหาสาวกองค์ที่ 80 (เฉพาะองค์ที่ 80 องค์เดียว)

(๒) “อนุพยัญชนะ” 

อ่านว่า อะ-นุ-พะ-ยัน-ชะ-นะ ประกอบด้วยคำว่า อนุ + พยัญชนะ 

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “พยัญชนะ” ภาษาไทยอ่านว่า พะ-ยัน-ชะ-นะ บาลีเป็น “พฺยญฺชน” 

โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ พฺ บังคับให้ พฺ กับ ต้องอ่านควบกัน

ออกเสียงว่า เพียน-ชะ-นะ จะได้เสียงที่ตรง

อีกรูปหนึ่งเป็น “วฺยญฺชน” (เวียน-ชะ-นะ) 

วฺ แปลงเป็น พฺ เป็นหลักเกณฑ์ที่พบได้เสมอ เช่น :

วิเศษ > พิเศษ 

วิจารณ์ > พิจารณ์

เวลา > เพ-ลา

ดังนั้น : วฺยญฺชน > พฺยญฺชน 

พฺยญฺชน” รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , เป็น , ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ > วฺย + อญฺช = วฺยญฺช + ยุ > อน = วฺยญฺชน > พฺยญฺชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องให้ถึงภัตโดยพิเศษ” (คือทำให้รู้รสชาติอาหาร หรือช่วยให้กินอาหารได้อย่างออกรส) หมายถึง เครื่องปรุง, แกง, กับข้าว (condiment, curry)

พฺยญฺชน” ในความหมายนี้มักมาคู่กับ “สูป” (สู-ปะ) คือ น้ำเนื้อต้ม, ซุป, แกง (broth, soup, curry)

ตามความเข้าใจทั่วไป สูป กับ พฺยญฺชน เมื่อพูดควบคู่กัน จะแยกความหมายกันชัดเจน คือ :

สูป” หมายถึง กับข้าวชนิดที่เป็นน้ำ ( = น้ำๆ)

พฺยญฺชน” หมายถึง กับข้าวชนิดที่ไม่เป็นน้ำ ( = แห้งๆ)

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อญฺช (ธาตุ = ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , เป็น , ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ > วฺย + อญฺช = วฺยญฺช + ยุ > อน = วฺยญฺชน > พฺยญฺชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศความหมาย

พฺยญฺชน” ตามรากศัพท์ข้อนี้ มีความหมายดังนี้ :

(1) ตัวหนังสือ (letter) 

ความหมายนี้มักมาคู่กับ “อตฺถ” > อรรถะ (อัด-ถะ) ซึ่งแปลว่า เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ, การหมายถึง (sense, meaning, import (of a word), denotation, signification) เช่นในคำว่า –

– แปล “โดยพยัญชนะ” (according to the letter, by letter, orthographically)

– แปล “โดยอรรถ” (according to its meaning, by the correct sense)

(2) เครื่องบ่งชี้, เครื่องหมาย, คุณลักษณะติดตัว, เครื่องหมายเฉพาะ, ลักษณะพิเศษ (sign, mark, accompanying attribute, distinctive mark, characteristic), เครื่องหมายเพศ เช่น –

ปุริสวฺยญฺชน = อวัยวะเพศของบุรุษ (membrum virile)

อุภโตพฺยญฺชนก = มีลักษณะของทั้งสองเพศ, กะเทย (having the characteristics of both sexes, hermaphrodite) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ อนึ่ง ความหมายของคำไทยบางคำโปรดเทียบเคียงกับคำอังกฤษเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน)

วฺยญฺชน : (คำนาม) ‘วยัญชน, พยัญชนะ,’ เครื่องหมาย; ลักษณะ, ลิงค์หรือเครื่องหมายบอกลักษณะ; เครา; ส่วน- ภาค- หรือองค์ที่ลับ; อุปสกร, เครื่องชูรสอาหาร (ได้แก่-น้ำสอซ, น้ำปลา, น้ำพริก, ฯลฯ); อักษรตัวหนึ่งในหมวดพยัญชนะ (อันมิใช่สระ); สาลังการพจน์หรืออุปมาโวหาร; บริภาษณ์; a token; an insignia; the beard; A privy part; sauce or condiment; a consonant; a figurative expression; an irony, a sarcasm.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พยัญชนะ” ไว้ว่า –

(1) เสียงพูดที่เปล่งออกมาโดยใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในปากและคอ เช่น เสียง ป โดยทั่วไปจะออกเสียงพยัญชนะร่วมกับเสียงสระ, เสียงพยัญชนะ ก็เรียก.

(2) ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงพยัญชนะ เช่น ก ข, รูปพยัญชนะ ก็เรียก, ตัวหนังสือ เช่น แปลโดยพยัญชนะ.

(3) กับข้าวที่ไม่ใช่แกง, คู่กับ สูปะ ซึ่งหมายถึง แกง. (ป. พฺยญฺชน, วฺยญฺชน; ส. วฺยญฺชน).

(4) ลักษณะของร่างกาย.

สรุปว่า “พยัญชนะ” ไม่ได้หมายถึงตัวหนังสืออย่างเดียวดังที่เรามักคุ้นกัน

ในที่นี้ “พยัญชนะ” หมายถึง ลักษณะของร่างกาย

อนุ + พฺยญฺชน = อนุพฺยญฺชน แปลว่า “ลักษณะที่ละเอียดของร่างกาย

อสีติ + อนุพฺยญฺชน แปลง อิ ที่ (อสี)-ติ เป็น (อสีติ > อสีตฺย), “ทีฆะสระหลัง” คือ อะ ที่ -(นุ…) เป็น อา 

อสีติ + อนุพฺยญฺชน = อสีติอนุพฺยญฺชน > อสีตฺยอนุพฺยญฺชน > อสีตฺยานุพฺยญฺชน อ่านแบบได้เสียงบาลีว่า อะ-สีด-เตีย-นุ-เพียน-ชะ-นะ แปลว่า “ลักษณะที่ละเอียดของร่างกายแปดสิบแห่ง

อสีตฺยานุพฺยญฺชน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อสีตยานุพยัญชนะ” อ่านแบบไทยว่า อะ-สี-ตะ-ยา-นุ-พะ-ยัน-ชะ-นะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อสีตยานุพยัญชนะ : (คำนาม) ลักษณะน้อย ๆ ในร่างกายของผู้ที่เป็นพระมหาบุรุษมี ๘๐ อย่าง คือ ผู้ที่จะเป็นพระมหาบุรุษต้องสมบูรณ์ด้วยลักษณะสําคัญ ๓๒ อย่าง ซึ่งเรียกว่า มหาปุริสลักษณะ มีรอยพระบาทเป็นลายรูปจักรและอื่น ๆ ตามแบบเป็นต้น และสมบูรณ์ด้วยอสีตยานุพยัญชนะ. (ป.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อนุพยัญชนะ” แสดงรายการ “อสีตยานุพยัญชนะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

อนุพยัญชนะ : ลักษณะน้อยๆ, พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒) อีก ๘๐ ประการ คือ 

๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม 

๒. นิ้วพระหัตถ์แลนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย

๓. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี

๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง

๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง

๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทกันมิได้เป็นริ้วรอย

๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก

๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา 

๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ

๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช

๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์

๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน

๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปเบื้องขวาก่อน

๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก

๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี

๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง

๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก

๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ์

๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี

๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี

๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้

๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย

๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง

๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปานมูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง

๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง

๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง

๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ

๒๘. มีพระนาสิกอันสูง

๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม

๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก

๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน

๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์

๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย

๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น

๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์

๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย

๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน

๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก

๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว

๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด

๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยแดงรุ่งเรือง

๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ

๔๓. กระพุ้งพระปรางทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์

๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน

๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น

๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด

๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม

๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง

๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ

๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม

๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง

๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง

๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว

๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน

๕๕. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม

๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้

๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด

๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ

๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่

๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร

๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย

๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ

๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์

๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ

๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิทบ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย

๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา

๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น

๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย

๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด

๗๐. พระโอษฐ์มีสัณฐานอันงามดุจแย้ม

๗๑. กลิ่นพระโอษฐ์หอมดุจกลิ่นอุบล

๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง

๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ

๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุปผชาติ

๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น

๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น

๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด

๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง

๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ์ทุกๆ เส้น

๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ ฯ

นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความดี ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะสตรีหรือบุรุษ

: ความบริสุทธิ์ ก็ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะบุรุษหรือสตรี

#บาลีวันละคำ (3,703)

2-8-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *