กิริยา-กริยา (บาลีวันละคำ 396)
กิริยา-กริยา
“กิริยา” เขียนและอ่านเหมือนกันทั้งบาลีและไทย คืออ่านว่า กิ-ริ-ยา
ส่วน “กริยา” พจน.42 บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คือ อ่านว่า กฺริ-ยา และ กะ-ริ-ยา
คำว่า “กริยา” พจน.42 ยังบอกด้วยว่าเป็นสันสกฤต (เขียน “กฺริยา” มีจุดใต้ ก) คำนี้บาลีเป็น “กิริยา”
ความจริง บาลีมีทั้ง “กิริยา” และ “กฺริยา” เพียงแต่ว่าที่พบส่วนมากใช้ “กิริยา” จึงทำให้เข้าใจกันว่าเป็น “กฺริยา” เฉพาะสันสกฤต
“กิริยา – กฺริยา” ในบาลีมีความหมายว่า การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป, การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม
ในทางธรรม หมายถึงการกระทำใดๆ ที่กล่าวถึงอย่างกว้างๆ หรืออย่างเป็นกลางๆ ถ้าเป็น “กิริยาพิเศษ” คือเป็นการกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ก่อให้เกิดวิบาก ก็เรียกว่า “กรรม” การกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่ก่อวิบาก เช่นการกระทำของพระอรหันต์ ไม่เรียกว่ากรรม แต่เป็นเพียง “กิริยา”
“กิริยา – กริยา” ในภาษาไทย แยกใช้ต่างกัน คือ –
1 การกระทํา; อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย, มารยาท ใช้ว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”
2 คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนามในไวยากรณ์ ใช้ว่า “กริยา” แต่ในบาลีไวยากรณ์โดยทั่วไป ใช้รูปบาลี คือ “กิริยา”
ระวัง :
กิริยาอาการ ไม่ใช่ กริยาอาการ
กิริยามารยาท ไม่ใช่ กริยามารยาท
อย่าใช้พลาด จะกลายเป็น “แก่ไวยากรณ์”
บาลีวันละคำ (396)
15-6-56
ในทางไวยากรณ์ ใช้ทั้ง “กริยา” และ “กิริยา”
แต่กิริยาอาการ กิริยามารยาท ใช้เฉพาะ “กิริยา” ไม่ใช่ กริยา
กิริยา, กฺริยา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
กริยา, กรรม การกระทำ.
“กฺริยา” ในบาลี พบในข้อความดังนี้
กิริยา มชฺเฌติ ปุพฺพกิจฺจํ กตฺวา ปาติโมกฺขํ โอสารณกฺริยา มชฺเฌ.
สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๕๘๘ (๕๓๐) อุโปสถาทิปุจฺฉาวิสชฺชนวณฺณนา
คโต จ ปจฺจกฺขกฺริยาย นิพฺพุตึ
ปรมัตถทีปนี อุทานวัณณนา สุปปวาสาสูตร หน้า ๒๒๙
ปรมัตถทีปนี อิติวุตตกวัณณนา วิตักกสูตร หน้า ๒๑๙
จตสฺโส อารุปฺปกฺริยา
สัมโมหวิโนทนี วิภังควัณณนา ขันธวิภังคนิเทส หน้า ๓๙
ปณฺณตฺตึ อชานนฺเตน อรหตาปิ กฺริยาพฺยากตจิตฺเตน อาปชฺชิตพฺพตฺตา ติจิตฺตนฺติ วุตฺตํ.
สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๓ หน้า ๓๖๔ อริฏฐสิกขาบท
อเหตุกกฺริยาจิตฺตานิ ….สเหตุกกฺริยาจิตฺตาน….อเหตุกกฺริยาจิตฺตานํ วิสโย.
ปัญจิกกา ภาค ๑ หน้า ๓๔๗ อัตถโยชนาอภิธัมมัตถวิภาวินี
(ในคัมภีร์เนื่องด้วยอภิธัมมัตถสังคหะมีใช้มาก)
กิริยา (ประมวลศัพท์)
1. การกระทำ หมายถึงการกระทำใดๆ ที่กล่าวถึงอย่างกว้างๆ หรืออย่างเป็นกลางๆ ถ้าเป็น “กิริยาพิเศษ” คือเป็นการกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ก่อให้เกิดวิบาก ก็เรียกว่า กรรม, การกระทำซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่ก่อวิบาก เช่นการกระทำของพระอรหันต์ ไม่เรียกว่ากรรม แต่เป็นเพียงกิริยา (พูดให้สั้นว่า เจตนาที่ก่อวิบาก เป็นกรรม, เจตนาที่ไม่ก่อวิบาก ถ้ามิใช่เป็นวิบาก ก็เป็นกิริยา); ดู กรรม
2. ในภาษาไทย มักหมายถึงอาการแสดงออกทางกายในเชิงมารยาท บางทีใช้ควบคู่กันว่า กิริยามารยาท
3. ในทางไวยากรณ์ ได้แก่คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนาม, ในไวยากรณ์ไทย บางทีกำหนดให้ใช้รูปสันสกฤตว่า กริยา แต่ในบาลีไวยากรณ์โดยทั่วไป ใช้รูปบาลี คือ กิริยา
กิริย, กิริยา, กฺริยา (บาลี-อังกฤษ)
๑ (นาม)
(ก) การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป = การบรรลุ, action, performance, deed; the doing=fulfilment
อนฺตกิริยา การทำให้สิ้นสุด, การทำให้หมดไป making an end of, putting a stop to
(ตัวอย่าง)
กาลกิริยา “การกระทำกาละ” คือความตาย “fulfilment of one’s time” i. e. death
กุสลกิริยา การประกอบกรรมดี performance of good actions
ทานกิริยา การให้ทาน the bestowing of gifts
ปาปกิริยา การกระทำบาป commission of sin
ปุญฺญกิริยา การกระทำบุญ the performance of good works
มงฺคลกิริยา กากระทำงานมงคล, งานฉลอง celebration of a festival
มสฺสุกิริยา การแต่งหนวด the dressing of the beard
สจฺฉิกิริยา การรู้แจ้ง realization
(ข) การกระทำในความหมายพิเศษ = การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม an act in a special sense=promise, vow, dedication, intention, pledge; justice
กิริยํ ภินฺทติ ทำลายคำสาบาน to break one’s vow
(ค) (เชิงปรัชญา) การกระทำอันไม่มีผลหรือไม่เกิดอะไรขึ้น, การกระทำที่จบลงในตัวของมันเอง philosophically: action ineffective as to result, non — causative, an action which ends in itself (= เป็นเพียงกิริยา คือเป็นเพียงการกระทำ แต่ไม่มีผล ไม่เป็นกรรม)
๒ (คุณ) (อวฺยากตา ธมฺมา)
(ก) ไม่ทำให้แตกต่างกัน, ไม่กำหนดแน่นอน, ไม่มีผล making no difference, indefinite; of no result
(ข) ไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ในคำว่า อกิริยํ วฺยากโรติ ให้คำตอบไม่เด็ดขาด, ตอบเลี่ยง indecisive, in akiriyaŋ vyākaroti to give an indecisive answer, to reply evasively
กริยา
[กฺริยา, กะริยา] (ไว) น. คําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม. (ส. กฺริยา; ป. กิริยา).
กริยานุเคราะห์
(ไว) น. กริยาที่ใช้ช่วยกริยาอื่น เช่น คง จะ ถูก น่า, กริยาช่วย ก็ว่า.
กริยาวิเศษณ์
(ไว) น. คําวิเศษณ์ใช้ประกอบคํากริยาหรือคําวิเศษณ์ด้วยกันให้มีความแปลกออกไป.
กริยาวิเศษณ์วลี
(ไว) น. ท่อนความที่มีคํากริยาวิเศษณ์ที่พ่วงบุรพบทเข้าขยายกริยา เช่น ม้าวิ่งไปข้างโน้น ความที่ขีดสัญประกาศนั้นเป็นกริยาวิเศษณ์วลี.
กริยาวิเศษณานุประโยค
[-วิเสสะนานุปฺระโหฺยก] (ไว) น. อนุประโยคที่ประกอบกริยาหรือวิเศษณ์ในสังกรประโยค, ประโยควิเศษณ์ ก็ว่า.
กิริยา
น. การกระทํา; อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย, มารยาท, บางทีใช้ในอาการที่ดี เช่น มีกิริยา หมายความว่า มีกิริยาดี. (ป.).