ธัมมัปปมาณิกา (บาลีวันละคำ 3,950)
ธัมมัปปมาณิกา
1 ในปมาณิกา 4
…………..
เหตุจูงใจคนให้ศรัทธาเลื่อมใสมี 4 อย่างคือ –
(1) รูปร่างหน้าตา ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “รูปัปปมาณิกา”
(2) เสียง ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “โฆสัปปมาณิกา”
(3) ความเคร่ง ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “ลุขัปปมาณิกา”
(4) ธรรม ผู้ศรัทธาเลื่อมใสกลุ่มนี้เรียกว่า “ธัมมัปปมาณิกา”
…………..
“ธัมมัปปมาณิกา”
อ่านว่า ทำ-มับ-ปะ-มา-นิ-กา ประกอบด้วยคำว่า ธัมม + ปมาณิกา
(๑) “ธัมม”
เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ สะกดเป็น “ธัมม” ตามรูปบาลี ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึงข้อ (7) ความหมายรวบยอดคือ “ความถูกต้อง”
(๒) “ปมาณิกา”
รูปคำเดิมเป็น “ปมาณิก” อ่านว่า ปะ-มา-นิ-กะ ประกอบขึ้นจาก ปมาณ + อิก ปัจจัย
(ก) “ปมาณ” บาลีอ่านว่า ปะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มา (ธาตุ = นับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ป + มา = ปมา + ยุ > อน = ปมาน > ปมาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” “วิธีอันเขานับ”
“ปมาณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน (measure, size, amount)
(2) เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา (measure of time, compass, length, duration)
(3) อายุ = “โลกิยลักษณะ” (age = “worldly characteristic”)
(4) ขอบเขต (limit)
(5) มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ (standard, definition, description, dimension)
บาลี “ปมาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมาณ : (คำนาม) ‘ประมาณ,’ มูล, เหตุ; เขตต์; พิสูจน์, หลักฐาน, อธิการหรือศักติ์; ปริมาณ, กำหนดมากน้อย; เวทหรือธรรมศาสตร์; ผู้กล่าวความจริง; นามพระวิษณุ; cause, motive; limit; proof, testimony, authority; measure, quantity; a scripture or work of sacred authority; speaker of the truth; a title of Vishṇu; – ค. นิตย์, นิรันดร; มุขย์, มหัตหรือมหันต์; eternal; principal, capital.”
บาลี “ปมาณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ประมาณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประมาณ : (คำกริยา) กะหรือคะเนให้ใกล้เคียงจำนวนจริงหรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ปมาณ” ไว้ เป็นอันว่าคำนี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาณ”
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “ปมาณ”
(ข) ปมาณ + อิก ปัจจัย
: ปมาณ + อิก = ปมาณิก (ปะ-มา-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอา-เป็นประมาณ” = ผู้ยึดถือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเกณฑ์
ธมฺม + ปมาณิก ซ้อน ปฺ ระหว่างศัพท์
: ธมฺม + ปฺ + ปมาณิก = ธมฺมปฺปมาณิก (ทำ-มับ-ปะ-มา-นิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาธรรมเป็นประมาณ” หมายถึง ผู้ถือเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ที่ตนจะศรัทธาเลื่อมใสหรือนิยมชมชอบเป็นต้น
“ธมฺมปฺปมาณิก” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปุคฺคลา” ซึ่งเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ธมฺมปฺปมาณิกา”
“ธมฺมปฺปมาณิกา” เขียนแบบไทยเป็น “ธัมมัปปมาณิกา” อ่านว่า ทำ-มับ–ปะ-มา-นิ-กา
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ธัมมัปปมาณิกา” บอกไว้ดังนี้
…………..
ธัมมัปปมาณิกา : ถือธรรมเป็นประมาณ, ผู้เลื่อมใสเพราะพอใจในเนื้อหาธรรมและการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น ชอบฟังธรรม ชอบเห็นภิกษุรักษามารยาทเรียบร้อยสำรวมอินทรีย์
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส — Pamāṇa, Pamāṇika: those who measure, judge or take standard) ข้อ 4 ใช้คำว่า “ธรรมประมาณ” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
4. ธรรมประมาณ (ผู้ถือประมาณในธรรม, บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรมหรือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ — Dhammapamāṇa: one who measures or judges by the teaching or righteous behaviour; one whose faith depends on right teachings and practices)
บุคคล 3 จำพวกต้น ยังมีทางพลาดได้มาก โดยอาจเกิดความติดใคร่ ถูกครอบงำชักพาไปด้วยความหลง ถูกพัดวนเวียนหรือติดอยู่แค่ภายนอก ไม่รู้จักคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริงและไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมเป็นประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไป เข้าถึงธรรมที่ปราศจากสิ่งครอบคลุม
พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติสมกับทั้งสี่ข้อ (เฉพาะข้อ 3 ทรงถือแต่พอดี) จึงทรงครองใจคนทุกจำพวกได้ทั้งหมด คนที่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่จะไม่เลื่อมใสนั้น หาได้ยากยิ่งนัก
ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ
…………..
แถม :
เหตุจูงใจคนให้ศรัทธาเลื่อมใสทั้ง 4 อย่าง คนเราเลื่อมใสเพราะเหตุข้อไหนมากกว่ากัน ท่านแสดงอัตราส่วนไว้ดังนี้ –
เลื่อมใสรูปร่างหน้าตา 2 ใน 3
เลื่อมใสเสียง 4 ใน 5
เลื่อมใสความเคร่ง 9 ใน 10
เลื่อมใสธรรม 1 ใน 100,000
ข้อความตามต้นฉบับที่ท่านแสดงไว้เป็นดังนี้ –
…………..
สพฺพสตฺเต จ ตโย โกฏฺฐาเส กตฺวา เทฺว โกฏฺฐาสา รูปปฺปมาณา เอโก น รูปปฺปมาโณ ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นสามส่วน สองส่วนถือรูปเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือรูปเป็นประมาณ
ปญฺจ โกฏฺฐาเส กตฺวา จตฺตาโร โกฏฺฐาสา โฆสปฺปมาณา เอโก น โฆสปฺปมาโณ ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นห้าส่วน สี่ส่วนถือเสียงเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือเสียงเป็นประมาณ
ทส โกฏฺฐาเส กตฺวา นว โกฏฺฐาสา ลูขปฺปมาณา เอโก น ลูขปฺปมาโณ ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็น ๑๐ ส่วน เก้าส่วนถือความปอนเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือความปอนเป็นประมาณ
สตสหสฺสโกฏฺฐาเส ปน กตฺวา เอโก โกฏฺฐาโสว ธมฺมปฺปมาโณ เสสา น ธมฺมปฺปมาณาติ เวทิตพฺพา ฯ
แบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้นถือธรรมเป็นประมาณ ที่เหลือพึงทราบว่าไม่ถือธรรมเป็นประมาณ
ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 526 (รูปสุตตวัณณนา)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่ถือธรรมเป็นประมาณ
: คนกับสัตว์เดรัจฉานก็เท่าๆ กัน
#บาลีวันละคำ (3,950)
6-4-66
…………………………….
…………………………….