บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดห้าหอ (๓)


วัดห้าหอ (๓)

…………………..

๔ หอระฆัง 

…………………..

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว อารามก็มีสภาพเหมือนเป็นที่ชุมนุมพบปะกันของประชาชนหรือเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากเป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่างๆ แล้ว ยังเป็นที่บอกกล่าวข่าวสารของชุมชนอีกด้วย จึงเกิดความคิดให้มีเครื่องมือส่งสัญญาณบอกข่าวขึ้นไว้ในอาราม ทางบ้านเมืองนิยมใช้ “กลอง” เป็นสัญญาณบอกข่าว ทางอารามจึงคิดใช้ “ระฆัง” เป็นสัญญาณบอกข่าว 

หอระฆัง” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม สำหรับตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีกิจที่ควรทำหรือควรรับรู้เกิดขึ้นในอาราม 

ต่อมา เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมกันทำกิจของสงฆ์อันเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาววัดประสงค์จะให้ชาวบ้านรับรู้เพื่ออนุโมทนาก็ดี หรือมีกิจสำคัญเป็นพิเศษประสงค์จะให้ชาวบ้านรับรู้เพื่อมาร่วมด้วยช่วยกันทำก็ดี จึงตีระฆังเป็นสัญญาณ และกลายเป็นธรรมเนียมที่เมื่อสงฆ์ทำกิจวัตรประจำวันเช่นไหว้พระสวดมนต์เป็นต้น จะต้องตีระฆังเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรับรู้และอนุโมทนาสืบมาจนทุกวันนี้ 

การสร้าง “หอระฆัง” ขึ้นในวัดจึงได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน 

………………………………………..

ถ้าไม่มีสัญญาณระฆังดังมาจากวัด

นั่นคือสัญญาณวิบัติแห่งวิถีชีวิตสงฆ์ไทย

………………………………………..

…………………..

๕ หอกลอง 

…………………..

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว และมีการสร้าง “หอระฆัง” เพื่อตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้เวลาที่ชาววัดทำกิจวัตรประจำวันเพื่อให้ชาวบ้านอนุโมทนาแล้ว ได้เกิดความคิดให้มี “หอกลอง” ขึ้นอีกหอหนึ่งในอารามเพื่อตีบอกเวลา เป็นคู่กับ “หอระฆัง” ชั้นเดิมอาจจะตีในช่วงเวลาสำคัญของวัน ดังมีคำว่า “ย่ำค่ำ” และ “ย่ำรุ่ง” ซึ่งหมายถึงย่ำกลองหรือย่ำระฆังนั่นเอง

แต่ตกมาชั้นหลังได้แยกหน้าที่กันค่อนข้างชัดเจน คือ ตีระฆังเป็นสัญญาณบอกการทำกิจวัตรประจำวันของสงฆ์ ตีกลองเพื่อบอกเวลา เช่นตีกลองในเวลา ๑๑:๐๐ นาฬืกา บอกเวลาพระฉันเพล เรียกกันว่า “กลองเพล” ดังที่วัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดในชนบทยังตี “กลองเพล” อยู่ในปัจจุบันนี้

หอกลอง” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม สำหรับตีเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีกิจที่ควรทำหรือควรรับรู้เกิดขึ้นในอาราม 

บางวัด “หอกลอง” กับ “หอระฆัง” แยกกันเป็นคนละหอ แต่บางวัดเป็นหอเดียวกันก็มี คือชั้นบนแขวนระฆัง ชั้นล่างแขวนกลอง หรือแขวนไว้ชั้นเดียวกัน แต่คนละมุม ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม

อนึ่ง บางโอกาสอาจตีกลองควบคู่ไปกับตีระฆัง ดังเสียงปากที่เราคุ้นกันว่า ตะ-ลุ่ม-ตุ้ม-เม็ง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่า “ตะ-ลุ่ม-ตุ้ม” คือเสียงกลอง “เม็ง” คือเสียงระฆัง

แต่เดิมกลองและระฆังเป็นอุปกรณ์ใช้ส่งสัญญาณบอกเหตุหรือบอกเวลา เป็นสิ่งที่มีใช้อยู่ในวัดและใช้กันมานานนักหนาจนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างสำคัญที่บอกถึงวิถีชีวิตของชาววัด 

ปัจจุบันแม้เราจะมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่อาจใช้ได้ดีกว่า เร็วกว่า หรือทันสมัยกว่า แต่เสียงกลองเสียงระฆังที่ดังออกมาจากวัดก็ยังเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ได้เป็นอย่างดีว่า วิถีชีวิตของชาววัดหรือวิถีชีวิตสงฆ์ยังคงดำรงอยู่และดำเนินไปเป็นปกติ 

กลองและระฆังจึงมีความหมายและมีคุณค่ามากกว่าเป็นอุปกรณ์บอกเหตุหรือบอกเวลาธรรมดาทั่วไป 

………………………………………..

รื้อฟื้น “หอกลอง” 

รื้อฟื้นการตี “กลองเพล” 

คือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของวัด

คือการรื้อฟื้นจิตวิญญาณของพระศาสนา

………………………………………..

(ยังมีต่อ ๔)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๓:๕๔

…………………………………….

วัดห้าหอ (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

วัดห้าหอ (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *