บาลีวันละคำ

กามกรีฑา (บาลีวันละคำ 3,622)

กามกรีฑา

เล่นอะไรกัน?

อ่านว่า กาม-มะ-กฺรี-ทา

ประกอบด้วยคำว่า กาม + กรีฑา

(๑) “กาม” 

บาลีอ่านว่า กา-มะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (กมฺ > กาม)

: กมฺ + = กมณ > กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3) “ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา

กาม” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)

(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense) 

(3) ความใคร่ (sense-desire)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”

(๒) “กรีฑา” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “กีฬา” อ่านว่า กี-ลา รากศัพท์มาจาก กีฬฺ (ธาตุ = เล่น, สนุกสนาน) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: กีฬฺ + = กีฬ + อา = กีฬา แปลตามศัพท์ว่า “การเล่นสนุก” หมายถึง การเล่น, กีฬา, ความสนุกเพลิดเพลิน (play, sport, enjoyment)

บาลี “กีฬา” สันสกฤตเป็น “กฺรีฑ” และ “กฺรีฑา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

กฺรีฑ, กฺรีฑา : (คำนาม) กรีฑา, การเล่น, การลีลา, การกีฬา, การเล่นสนุก; ความลบหลู่; sport, play, pastime, pleasure, amusement; disrespect.”

ในภาษาไทย เราเอาคำว่า “กีฬา” และ “กรีฑา” มาใช้ในความหมายที่ต่างกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

(1) กีฬา : (คำนาม) กิจกรรมหรือการเล่นที่มีกฎกติกากำหนด เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากรุก ปีนเขา ล่าสัตว์. (ป.). (ดู กรีฑา ๑).

(2) กรีฑา ๑ : (คำนาม) กีฬาอย่างหนึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทลู่ เช่น การวิ่งระยะทางต่าง ๆ วิ่งผลัด วิ่งข้ามรั้ว ซึ่งในการแข่งขันต้องมีทางหรือแนวทางวิ่ง อีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทลาน เช่น กระโดดสูง พุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก ซึ่งต้องมีสถานที่กว้างเพื่อการแข่งขัน; การเล่นสนุก เช่น กรีฑาร่าเริงรื่น; การประลองยุทธ์. (ส.).

(3) กรีฑา ๒ : (คำนาม) การเล่นสมพาส เช่น ในกามกรีฑากล. (กฤษณา). (ส.).

กาม + กรีฑา = กามกรีฑา อ่านว่า กาม-มะ-กฺรี-ทา ไม่ใช่ กาม-กฺรี-ทา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กามกรีฑา : (คำนาม) ชั้นเชิงในทางกาม. (ส.)”

อภิปรายขยายความ :

กามกรีฑา” ที่พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “ชั้นเชิงในทางกาม” มีนัยไปทางเสพสังวาส ดังที่บอกความหมายที่คำว่า “กรีฑา ๒” ว่า “การเล่นสมพาส” และยกตัวอย่างคำว่า “ในกามกรีฑากล” 

กามกรีฑา” จึงน่าจะหมายถึง การเสพสังวาสกันด้วยลีลาท่าทางต่างๆ ตามแต่ใจจะปรารถนา

รูปคำ “กามกรีฑา” น่าจะเป็นสันสกฤตเต็มคำ แต่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ แต่มีคำว่า “กามเกลิ” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

กามเกลิ : (คำนาม) การสังวาส, การเสพกามสุข ( = การเล่นสนุกเชิงกาม); copulation, amorous sport; – (คำวิเศษณ์) อันกอปรด้วยกาม, คึกคะนอง; libidinous, lustful, wanton.”

กามกรีฑา” ในภาษาไทยน่าจะมีความหมายตรงกับ “กามเกลิ” ในสันสกฤต (โปรดเทียบคำแปลเป็นอังกฤษว่า amorous sport)

กามกรีฑา” เทียบคำบาลีเป็น “กามกีฬา” (กา-มะ-กี-ลา) ในคัมภีร์บาลีมีคำว่า “กามกีฬา” หมายถึง การเล่นสนุกหรือการเที่ยวหาความสุขต่างๆ ด้วยความพอใจติดใจตามวิสัยโลก ทั้งนี้ไม่ได้เพ่งเล็งไปที่เรื่องเสพสังวาส

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เล่นกับความอยาก

: คือเล่นกับความยาก

#บาลีวันละคำ (3,622)

13-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *