บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

รูปแบบกับเนื้อหา

รูปแบบกับเนื้อหา

——————

ถ้าจับพลาด พระศาสนาก็วิปลาสได้เหมือนกัน

ถ้าถามว่า ระหว่างรูปแบบกับเนื้อหา อะไรสำคัญกว่ากัน เราส่วนมากก็จะตอบว่า เนื้อหาสำคัญกว่า

อุปมาให้เห็นภาพชัดๆ –

รูปแบบเหมือนชามใส่แกง

เนื้อหาเหมือนแกงในชาม

ทีนี้ชี้เฉพาะลงไปถึงการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา 

ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ นุ่งห่มผ้ากาสายะ ไม่บริโภคหลังเที่ยงวันเป็นต้น นี่คือรูปแบบ

ศึกษาหน้าที่ ๒ อย่าง คือ (๑) เรียนคันถธุระ คือหลักคำสอนอันมีพระไตรปิฎกเป็นหลัก แล้วจดจำไว้ สวดสาธยาย บอกกล่าว แนะนำสั่งสอน และ (๒) เรียนวิปัสสนาธุระ คือปฏิบัติสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานจนกว่าจะบรรลุมรรคผล นี่คือเนื้อหา

ถ้าสมมุติว่าเกิดมีพระรูปหนึ่งบอกว่า เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ ก็เลยปล่อยผมยาว ปล่อยหนวดเครารุงรัง ใส่เสื้อ นุ่งกางเกง ฉันตอนกลางคืน ใครทักท้วงก็อ้างว่า เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ 

จะว่าอย่างไรกัน?

จะเห็นได้ว่า แค่บอกว่าเนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ เท่านี้ยังไม่พอ ต้องดูต่อไปด้วยว่า รูปแบบที่ว่านั้นคืออะไร

ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ นุ่งห่มผ้ากาสายะ ไม่บริโภคหลังเที่ยงวันเป็นต้น นี่เป็นรูปแบบด้วย และเป็นกฎกติกามารยาทในวิถีชีวิตสงฆ์ด้วย 

ใครเข้ามาอยู่ในสังคมสงฆ์ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทนี้

ปฏิบัติไม่ได้ อย่าเข้าไป

ปฏิบัติไม่ไหว ถอยออกมา

จะอ้างว่า นี่เป็นเพียงรูปแบบ เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ อาตมาไม่โกนผม ไม่โกนหนวด อาตมาใส่เสื้อนุ่งกางเกง แต่อาตมาปฏิบัติกรรมฐานไม่เคยขาด อาตมาปฏิบัติดีกว่าพระที่โกนผมโกนหนวดนุ่งสบงทรงจีวรแต่ไม่ปฏิบัติธรรมนั่นเสียอีก

ฟังขึ้นไหม?

จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีแค่รูปแบบกับเนื้อหา แต่ยังมีกฎกติกามารยาทอีกด้วย ถ้าจะว่าไปแล้วกฎกติกามารยาทครอบคลุมลงไปในรูปแบบและเนื้อหานั้นอีกชั้นหนึ่ง

……………………

ลูกเข้าโรงเรียน ไม่มีชุดนักเรียน พ่อแม่ต้องเอาสมบัติไปขายเพื่อซื้อชุดนักเรียนให้ลูก

ชุดนัดนักเรียน คือรูปแบบ

การได้เรียนวิชาความรู้ คือเนื้อหา

กรณีอย่างนี้อาจอนุโลมได้ ผู้กำหนดกฎกติกามารยาทของโรงเรียนยังมีตัวอยู่ ยังพูดจาทำความตกลงกันได้ อาจอนุญาตให้เด็กแต่งตัวธรรมดาตามที่มีไปก่อน พร้อมเมื่อไรค่อยแต่งชุดนักเรียน มุ่งไปที่-ให้เด็กได้ไปโรงเรียน ให้ได้เรียนวิชาความรู้เป็นสำคัญ

หรือผู้บริหารประเทศอาจกำหนดเป็นนโยบาย-เด็กไปโรงเรียนไม่ต้องแต่งชุดเครื่องแบบ ให้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อยเป็นใช้ได้ อย่างนี้ก็สามารถทำได้ บางประเทศก็ทำอย่างนี้

……………………

แต่กฎกติกามารยาทสำหรับบรรพชิตในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์เป็นผู้วางแบบแผนไว้ว่าให้ทำอย่างนี้ๆ ห้ามทำอย่างนั้นๆ 

บัดนี้พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่อาจจะไปทูลขอให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรอีกได้

เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนว่าเราจะปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธองค์ได้ไหม 

แล้วใช้หลัก –

ปฏิบัติไม่ได้ อย่าเข้าไป

ปฏิบัติไม่ไหว ถอยออกมา

ใครเข้าไปแล้ว ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทข้อนั้นข้อนี้โดยอ้างว่า เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ หรือที่หนักกว่านั้น เข้าไปแล้วไปแก้ไขกฎกติกามารยาทให้เป็นไปตามที่ตนเห็นว่าดีว่าเหมาะ 

ทำอย่างนี้ พระศาสนาก็วินาศ

ถ้าแก้ไขได้ตามใจชอบหรือตามที่แต่ละคนเห็นว่าดี เชื่อหรือไม่ว่า ศีลของพระจะเหลือแค่ปาราชิก ๔ ข้อมาตั้งแต่พระพุทธองค์ปรินิพพานได้เพียง ๓ เดือนโน่นแล้ว

เอาอะไรมาพูด?

ไปศึกษาดูได้จากพระวินัยปิฎก เรื่องการทำปฐมสังคายนา

ปฐมสังคายนาเป็นการประชุมรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำขึ้นเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๓ เดือน พระมหากัสสปะเป็นประธาน พระอุบาลีเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระธรรม ใช้เวลาประชุมกัน ๗ เดือน

ตอนท้ายของการประชุม พระอานนท์แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสว่า สิกขาบทที่พระองค์บัญญัติไว้ ที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ถ้าสงฆ์ต้องการจะยกเลิกเพิกถอนก็ให้ยกเลิกได้

เกิดปัญหาตรงที่พระอานนท์ไม่ได้ทูลถามว่า สิกขาบทข้อไหนบ้างเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

ในที่ประชุมครั้งนั้นมีพระเถระแสดงความเห็นกันหลากหลาย พระเถระกลุ่มหนึ่งแสดงความเห็นว่า ยกเว้นปาราชิก ๔ ข้อ สิกขาบทที่เหลือเป็นสิกขาบทเล็กน้อย จึงสามารถยกเลิกได้ทั้งหมด

นี่คือที่ผมบอกว่า ถ้าแก้ไขได้ตามใจชอบ ศีลของพระจะเหลือแค่ปาราชิก ๔ ข้อมาตั้งแต่พระพุทธองค์ปรินิพพานได้เพียง ๓ เดือน

เชิญเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ปัญจสติกขันธกะ คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐ –

หรือที่ลิงก์ข้างล่างนี้ –

………………………..

https://84000.org/tipitaka/read/?7/620

………………………..

รักและห่วงพระศาสนา ช่วยกันคิดอ่านหาทางรักษาทำนุบำรุง นั่นเป็นเจตนาที่ประเสริฐ ควรแก่การอนุโมทนา

แต่อย่าลืมช่วยกันศึกษาหลักพระธรรมวินัยเอาไปใช้เป็นพื้นฐานของการคิดอ่านด้วย เพื่อจะได้ไม่คิดนอกกฎกติกามารยาท

มิเช่นนั้น เจตนาจะช่วยกันรักษา แต่พอคิดออกมา กลายเป็นช่วยกันทำให้พระศาสนาวิปลาสไปก็ได้

……………………………………………

ภาพประกอบ: จาก google

หัวข้อเรื่อง: พระญี่ปุ่นจัดตั้งกลุ่ม “ภิกษุไร้พรมแดน” ร่วมทำงานช่วยเหลือสังคม

……………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๐๙:๒๕

……………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *