ไตรจีวร (บาลีวันละคำ 3,621)
ไตรจีวร
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า ไตฺร-จี-วอน
ประกอบด้วยคำว่า ไตร + จีวร
(๑) “ไตร”
ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)
ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –
ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม
เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน
คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส
อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –
: ติ > ตรี
: เต > ไตร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –
“ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”
(๒) “จีวร”
บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อีวร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ จิ (จิ > จ)
: จิ > จ + อีวร = จีวร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” หมายความว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ”
จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเป็นผืน
ภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม (the yellow robe of a Buddhist monk or novice)
บาลี : ติ + จีวร = ติจีวร (ติ-จี-วะ-ระ) แปลว่า “ผ้าสามผืน”
ไทย : ไตร + จีวร = ไตรจีวร (ไตฺร-จี-วอน) แปลว่า “ผ้าสามผืน”
ในภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม แต่เรียกแยกออกไปแต่ละชนิด กล่าวคือ –
(1) ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง”
(2) ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร”
(3) ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ)
รวมผ้าทั้ง 3 ผืนเข้าด้วยกันเรียกว่า “ไตรจีวร”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ไตรจีวร” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ไตรจีวร : จีวรสาม, ผ้าสามผืนที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุมีไว้ใช้ประจำตัวคือ ๑. สังฆาฏิ ผ้าทาบ ๒. อุตราสงค์ ผ้าห่ม เรียกสามัญในภาษาไทยว่าจีวร ๓. อันตรวาสก ผ้านุ่ง เรียกสามัญว่าสบง
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ไตรจีวร” เป็นอังกฤษดังนี้ –
Ticīvara : the three robes of a Bhikkhu, consisting of the under, the upper and the outer robes; Triple Robe.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ไตรจีวร : (คำนาม) ผ้า ๓ ผืนของภิกษุ คือ อันตรวาสก (สบง คือ ผ้านุ่ง) อุตราสงค์ (จีวร คือ ผ้าห่ม) และสังฆาฏิ (ผ้าทาบ), เรียกสั้น ๆ ว่า ผ้าไตร หรือ ไตร เช่น ไตรครอง ดอกไม้คลุมไตร.”
แถม :
เพื่อความเข้าใจครบถ้วน ขอนำคำที่เกี่ยวข้องในพจนานุกรมมาเสนอไว้ดังนี้ –
(ก) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
(1) จีวร : ผ้าที่ใช้นุ่งห่มของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ผืนใดผืนหนึ่ง ในจำนวน ๓ ผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร คือผ้าซ้อนนอกหรือผ้าทาบซ้อน (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (อุตราสงค์) และผ้านุ่ง (อันตรวาสก), แต่ในภาษาไทย นิยมเรียกเฉพาะผ้าห่มคืออุตราสงค์ ว่าจีวร.
(2) สบง : ผ้านุ่งของภิกษุสามเณร, คำเดิมเรียก อันตรวาสก.
(3) สังฆาฏิ : ผ้าทาบ, ผ้าคลุมกันหนาวที่พระใช้ทาบบนจีวร เป็นผ้าผืนหนึ่งในสามผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร.
(4) อันตรวาสก : ผ้านุ่ง, สบง, เป็นผืนหนึ่งในไตรจีวร.
(5) อุตตราสงค์ : ผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืน ของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญว่า จีวร (พจนานุกรมเขียน อุตราสงค์).
(ข) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
(1) จีวร, จีวร– : (คำนาม) เครื่องนุ่งห่มของภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา, ผ้าสําหรับห่มของภิกษุสามเณร, คู่กับ สบง, ภาษาปากเรียก ผ้าเหลือง. [ในพระพุทธศาสนา จีวร ในคําว่า บาตรจีวร หรือ ไตรจีวร หมายเอาผ้าทั้ง ๓ อย่าง คือ ผ้าทาบ (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (จีวร) และผ้านุ่ง (สบง), ในคําว่า สบง จีวร สังฆาฏิ หมายเอาแต่ผ้าห่มอย่างเดียว]. (ป., ส.).
(2) สบง : (คำนาม) ผ้านุ่งของภิกษุสามเณร. (ข. สฺบ่ง).
(3) สังฆาฏิ : (คำนาม) ผ้าคลุมกันหนาวที่ภิกษุใช้ทาบบนจีวร ตามปรกติใช้พับพาดบ่าซ้ายในพิธีสงฆ์. (ป.; ส. สํฆาฏิ).
(4) อันตรวาสก : (คำนาม) ผ้าสบง. (ป.).
(5) อุตราสงค์ : (คำนาม) จีวรสําหรับห่ม. (ป., ส. อุตฺตราสงฺค).
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บัณฑิต อาศัยไตรจีวรไปนิรวาณ
: คนพาล อาศัยไตรจีวรไปนิรยะ
#บาลีวันละคำ (3,621)
12-5-65
…………………………….
…………………………….