บาลีวันละคำ

สหราชอาณาจักร (บาลีวันละคำ 3,506)

สหราชอาณาจักร

ประเทศอะไร ใครลืมบ้าง

อ่านว่า สะ-หะ-ราด-ชะ-อา-นา-จัก

ประกอบด้วยคำว่า สห + ราช + อาณา + จักร

(๑) “สห” (สะ-หะ)

เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)

“สห” ในบาลีมีความหมายเพียงแค่ พร้อมกัน ร่วมกัน เช่น ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” (United) เสมอไป

(๒) “ราช”

บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย

: ราชฺ + อ = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา

: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”

“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ราช ๑, ราช- : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

แต่เดิมผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เรียกกันว่า “พระราชา” ความหมายโดยนัยของคำว่า “ราช” ในปัจจุบันจึงหมายถึงผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น “พระราชา” หรือไม่ก็ตาม

(๓) “อาณา”

เป็นคำบาลี อ่านตรงตัวว่า อา-นา รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อาณฺ + อ = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)

“อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

“อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”

นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง “อาณา” “อาชญา” และ “อาญา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

(1) อาณา : (คำนาม) อํานาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ. (ป.; ส. อาชฺญา).

(2) อาชญา : (คำนาม) อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา. (ส.; ป. อาณา).

(3) อาญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา).

(๔) “จักร”

บาลีเป็น “จกฺก” (จัก-กะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) จ (แทนศัพท์ว่า “คมน” = การไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ, ซ้อน กฺ ระหว่าง จ + กรฺ

: จ + กฺ + กรฺ = จกฺกรฺ + กฺวิ = จกฺกรกฺวิ > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทำให้เคลื่อนไปได้” หมายถึง ล้อ, วงล้อ, ชิ้นส่วนที่เป็นวงกลม

(2) จกฺก (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ (อะ) ปัจจัย

: จกฺก + อ = จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนแผ่นดิน” (คือบดแผ่นดิน) หมายถึง ล้อ, วงล้อ และหมายถึง กงจักร คืออาวุธรูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ สำหรับขว้างไปสังหาร

(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ (อะ) ปัจจัย, ทำ ก ต้นธาตุให้เป็นสองอักษร (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ทเวภาวะ” = ภาวะที่เป็นสอง : กรฺ > กกรฺ) แล้วแปลง ก ที่เกิดใหม่เป็น จ (กกรฺ > จกรฺ), แปลง ก เป็น กฺก, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: กรฺ + อ = กร > กกร > จกร > จกฺกร > จกฺก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้ทำการยึดครองได้” หมายถึง กองทัพ, กำลังพล, กำลังรบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จกฺก” ไว้ดังนี้ –

1 a wheel (of a carriage) (ล้อ [รถ])

2 a discus used as a missile weapon (แผ่นหินแบนกลมใช้เป็นอาวุธสำหรับขว้างไป)

3 a disc, a circle (แผ่นกลม, วงกลม)

4 an array of troops (ขบวนทหาร)

5 collection, set, part; succession; sphere, region, cycle (หมู่, กลุ่ม, ชุด, ส่วน; การสืบลำดับ; ถิ่น, เขตแดน, รอบ)

6 a vehicle, instrument, means & ways; attribute, quality; state, condition, esp. good condition (fit instrumentality) (ยานพาหนะ, เครื่องมือ, หนทางและวิถีทาง; คุณสมบัติ, คุณภาพ, สถานะ, สภาพ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขที่ดี [เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมได้])

บาลี “จกฺก” สันสกฤตเป็น “จกฺร” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “จักร”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –

“จักร, จักร- : (คำนาม) อาวุธในนิยาย รูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ เช่น พระนารายณ์ทรงจักร, สิ่งที่มีลักษณะเป็นวงกลมอย่างล้อรถ เช่น จักรที่ใช้ขว้างในการกีฬา, สิ่งที่มีรูปเป็นวงกลมมีฟันเฟืองหมุนด้วยพลังงานต่าง ๆ เช่น จักรนาฬิกา, เรียกเครื่องกลบางชนิด เช่น เครื่องจักร รถจักร, เรียกเครื่องเย็บผ้าที่ใช้เดินด้วยพลังงานหรือใช้เท้าถีบหรือใช้มือหมุนว่า จักร หรือ จักรเย็บผ้า; บรรจบรอบแห่งปีหรือแห่งฤดู เช่น พฤหัสบดีจักร. (ส.; ป. จกฺก).”

การประสมคำ :

๑ อาณา + จักร = อาณาจักร (อา-นา-จัก-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “วงล้อที่หมุนไปด้วยอำนาจ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

“อาณาจักร : (คำนาม) เขตแดนที่อยู่ในอํานาจปกครองของประเทศหนึ่ง ๆ; อํานาจปกครองทางบ้านเมือง, คู่กับ ศาสนจักร ซึ่งหมายความว่า อํานาจปกครองทางศาสนา.”

๒ ราช + อาณาจักร = ราชอาณาจักร (ราด-ชะ-อา-นา-จัก) แปลว่า “อาณาจักรของราชา”

๓ สห + ราชอาณาจักร = สหราชอาณาจักร (สะ-หะ-ราด-ชะ-อา-นา-จัก) แปลว่า “อาณาจักรของราชาที่ปกครองร่วมกัน”

ขยายความ :

คำว่า “สหราชอาณาจักร” พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นอังกฤษว่า the United Kingdom (of Great Britain and Norihern Ireland)

คำว่า United Kingdom พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยว่า สหราชอาราชอาณาจักร คือ อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งถือเป็นประเทศเดียว

ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564 กำหนดว่า ประเทศนี้มี 2 ชื่อ คือ

– United Kingdom ภาษาไทยใช้ว่า “สหราชอาณาจักร”

– United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland ภาษาไทยใช้ว่า “สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่”

คำว่า “สหราชอาณาจักร” เป็นชื่อประเทศและเรียกอย่างเป็นทางการ ประเทศนี้เราเรียกกันด้วยคำสั้นๆ ว่า “อังกฤษ”

เรียกกันว่า “อังกฤษ” จนเพลินไป ได้ยินคำว่า “สหราชอาณาจักร” จะได้ไม่งง และพอระลึกได้ว่าชื่อนี้มีความหมายว่าอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รวมประเทศได้ ดี

: รวมใจของคนทั้งประเทศได้ ดีที่สุด

17-01-65

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *