วิมัติกังขา (บาลีวันละคำ 4,145)
วิมัติกังขา
อ่านว่า วิ-มัด-ติ-กังขา
ประกอบด้วยคำว่า วิมัติ + กังขา
(๑) “วิมัติ”
บาลีเป็น “วิมติ” อ่านว่า วิ-มะ-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มนฺ (ธาตุ = รู้, เข้าใจ) + ติ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (มนฺ > ม)
: วิ + มนฺ = วิมนฺ + ติ = วิมนติ > วิมติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้สำคัญไปโดยอาการต่างๆ” หมายถึง ความสงสัย, ความเคลือบแคลง, ความงุนงง (doubt, perplexity, consternation)
คำนี้ในภาษาไทยใช้เป็น “วิมัติ” อ่านว่า วิ-มัด ถ้ามีคำอื่นสมาสข้างท้าย อ่านว่า วิ-มัด-ติ- เช่น “วิมัติกังขา” อ่านว่า วิ-มัด-ติ-กังขา ไม่ใช่ วิ-มัด-กัง-ขา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิมัติ : (คำนาม) ความเคลือบแคลง, ความสงสัย. (ป., ส. วิมติ).”
(๒) “กังขา”
เขียนแบบบาลีเป็น “กงฺขา” อ่านว่า กัง-ขา รากศัพท์มาจาก กงฺขฺ (ธาตุ = สงสัย) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กงฺขฺ + อ = กงฺข + อา = กงฺขา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สงสัย”
“กงฺขา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ความสงสัย, ความไม่แน่ใจ (doubt, uncertainty)
(2) มีความสงสัย, มีความข้องใจ (doubting, doubtful)
(3) ความคาดหวัง (expectation)
ในทางรูปศัพท์ “กงฺขา” บาลีตรงกับ “กางฺกฺษา” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“กางฺกฺษา : (คำนาม) ความปรารถนา, ความลำเอียง, ความใคร่; wish, inclination, desire.”
ในภาษาไทย เรารู้จัก “กงฺขา-กังขา” ในความหมายว่า สงสัย ข้องใจ แต่เมื่อเทียบกับสันสกฤตจะเห็นได้ว่า “กังขา-กางฺกฺษา” ไม่ใช่สงสัยแบบไม่แน่ใจ ลังเล หรือเคลือบแคลงเฉยๆ แต่เป็นความสงสัยแบบใคร่รู้ คือมีความคาดหวัง แต่ไม่แน่ใจว่าจะสมหวังหรือไม่ ระคนอยู่ในเรื่องนั้นด้วย
โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษ expectation, wish, desire จะเห็นความหมายของ “กังขา” ในด้านที่เราไม่ได้นึกถึงและไม่ได้นำมาใช้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กังขา : (คำนาม) ความเคลือบแคลง, ความสงสัย. (ป.).”
วิมัติ + กังขา = วิมัติกังขา (วิ-มัด-ติ-กัง-ขา) แปลโดยประสงค์ของผู้เขียนบาลีวันละคำว่า “ข้อสงสัยกังวลที่เกิดกรุ่นขึ้นในใจ”
ขยายความ :
“วิมัติ” คือสงสัย “กังขา” ก็คือสงสัย เอามาพูดควบกันเป็น “วิมัติกังขา”
คำว่า “วิมัติกังขา” เป็นสำนวนพูดหรือการพูดอย่างมีสำนวน เป็นลักษณะคำซ้ำความซึ่งนิยมใช้อยู่มากในภาษาไทย คือเอาคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันมาพูดควบกัน เช่น เรือนชานบ้านช่อง ถนนหนทาง เสื่อสาดอาสนะ เป็นต้น
“วิมัติ” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ “กังขา” ก็มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ แต่คำว่า “วิมัติกังขา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
แถม :
มีคัมภีร์บาลี 2 เล่ม ที่ใช้คำว่า “วิมติ” และ “กังขา” เป็นชื่อคัมภีร์ เล่มหนึ่งชื่อ “วิมติวิโนทนี” แปลว่า “คัมภีร์ที่บรรเทาความสงสัย” อีกเล่มหนึ่งชื่อ “กังขาวิตรณี” แปลว่า “คัมภีร์ที่ข้ามพ้นความสงสัย”
“วิมติวิโนทนี” เป็นคัมภีร์ฎีกา อธิบายพระวินัยปิฎก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกว่า “แต่งโดยพระกัสสปเถระ ชาวแคว้นโจฬะในอินเดียตอนใต้” แต่หนังสือ “คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา” นายทรงวิทย์ แก้วศรี เรียบเรียง บอกว่า “พระมหากัสสปะแห่งอุทุมพรคีรีวิหาร ประเทศลังกา แต่ง”
เท่าที่ทราบในเวลาที่เขียนบาลีวันละคำนี้ คัมภีร์ “วิมติวิโนทนี” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยมีฉบับที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุจัดพิมพ์ แบ่งเป็น 2 ภาค
“กังขาวิตรณี” เป็นคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในคัมภีร์พระปาติโมกข์ในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์แปลและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง 1000 โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อนในศรีลังกา คือใช้คัมภีร์มหาอัฏฐกถาเป็นหลัก พร้อมทั้งปรึกษาคัมภีร์มหาปัจจรีและกุรุนทีเป็นต้นด้วย
หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย เคยใช้คัมภีร์กังขาวิตรณีเป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.6 มาตั้งแต่ พ.ศ.2485 แต่ต่อมาได้ยกเลิก และใช้คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแทนตั้งแต่ พ.ศ.2508
นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ของไทยไม่รู้จักคัมภีร์ “วิมติวิโนทนี” และ “กังขาวิตรณี” กันแล้ว เพราะไม่ได้ใช้เป็นแบบเรียนในหลักสูตร ทั้งๆ ที่คัมภีร์ทั้ง 2 เล่มนี้ก็วางอยู่ใกล้ๆ ตัวนั่นเอง
ทำอย่างไรนักเรียนบาลีในบ้านเราจึงจะมีอุตสาหะศึกษาคัมภีร์บาลีนอกเหนือจากคัมภีร์ที่เป็นแบบเรียนในหลักสูตร?
ใครคิดออก ช่วยบอกกันด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ยากที่ตอบข้อวิมัติกังขา
: แต่ไม่ง่ายที่จะแก้ปัญหา
#บาลีวันละคำ (4,145)
18-10-66
…………………………….
…………………………….