ปาราชิก : เรื่องใหญ่ที่ควรรู้ให้ครบ (๒)
ปาราชิก : เรื่องใหญ่ที่ควรรู้ให้ครบ (๒)
———————————–
ปาราชิกข้อที่ ๓ เรียกเป็นศัพท์ชาววัดว่า “มนุสสวิคคหะ” แปลความสั้นๆ ว่า ฆ่ามนุษย์
“มนุสสวิคคหะ” แปลตามศัพท์ว่า “กายมนุษย์” ในพระไตรปิฎกให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ –
มนุสฺสวิคฺคโห นาม ยํ มาตุกุจฺฉิสฺมึ ปฐมํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ ปฐมํ วิญฺญาณํ ปาตุภูตํ ยาว มรณกาลา เอตฺถนฺตเร เอโส มนุสฺสวิคฺคโห นาม ฯ
ที่ชื่อว่า มนุสสวิคคหะ หมายถึง จิตดวงแรกเกิดขึ้น คือปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องมารดา (นับจากนั้นไป) จนถึงเวลาที่เสียชีวิต ร่างกายที่ดำรงอยู่ในระหว่างเวลาที่กล่าวนี้ ชื่อว่า มนุสสวิคคหะ (กายมนุษย์)
ที่มา: ตติยปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๘๑
หมายความว่า ที่เรียก “มนุษย์” หรือ “คน” ที่ภิกษุไปทำให้ตายแล้วมีโทษเป็นปาราชิกนั้น กำหนดลึกลงไปถึง-ตั้งแต่หญิงเริ่มตั้งครรภ์ กล่าวคือชายหญิงร่วมเสพสังวาสกัน (หมายรวมถึงกระบวนการที่ทำให้เชื้อชายหญิงเข้าผสมกัน) แล้วมีวิญญาณมาปฏิสนธิ
เมื่อมีวิญญาณมาปฏิสนธิ กายมนุษย์เริ่มเป็น “กลละ” คือต่อมเล็กๆ เท่าปลายเข็มเป็นเวลา ๗ วัน
จากต่อมเป็นน้ำ (อัพพุทะ) อีก ๗ วัน
จากน้ำเป็นเนื้อ (เปสิ) อีก ๗ วัน
จากเนื้อเป็นก้อน (ฆนะ) อีก ๗ วัน
จากก้อนเป็นกิ่ง (ปสาขา) คือเกิดเป็นมือเท้าและวัยวะอื่นๆ ต่อไปจนคลอดออกมา
ในพระวินัยกำหนดว่า ภิกษุทำให้กายมนุษย์ตายตั้งแต่เป็น “กลละ” เป็นต้นไป เป็นปาราชิก
เรามักเข้าใจกันว่า “ฆ่ามนุษย์” หรือฆ่าคนก็คือ คนที่หายใจได้เดินไปเดินมา ใครไปทำให้ตาย นั่นจึงเรียกว่าฆ่ามนุษย์ แต่สำหรับภิกษุ ทำให้คนตายตั้งแต่เป็นกลละ ก็เป็นการฆ่ามนุษย์เรียบร้อยแล้ว
ฆ่ามนุษย์ตามปาราชิกข้อที่ ๓ นี้ จึงไม่ได้หมายเอาเฉพาะทำให้คนที่เกิดมาแล้วตายไปเท่านั้น แม้แต่ “ทำแท้ง” ก็เป็นการฆ่ามนุษย์ เป็นปาราชิกทันที
และที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็คือ แม้แต่พูดจูงใจให้คนฆ่าตัวตาย แล้วคนนั้นฆ่าตัวตายจริงๆ ก็เป็นปาราชิกฐานฆ่ามนุษย์ด้วยเช่นกัน
…………………
ปาราชิกข้อที่ ๔ เรียกเป็นศัพท์ชาววัดว่า “อวดอุตริ” คำเต็มว่า อวดอุตริมนุสธรรม
ลองศึกษาต้นฉบับดูก่อนว่า “อวดอุตริมนุสธรรม” คือทำอะไร
…………………
อุปสมฺปนฺเนน ภิกฺขุนา อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม น อุลฺลปิตพฺโพ อนฺตมโส สุญฺญาคาเร อภิรมามีติ ฯ โย ภิกฺขุ ปาปิจฺโฉ อิจฺฉาปกโต อสนฺตํ อภูตํ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ อุลฺลปติ ฌานํ วา วิโมกฺขํ วา สมาธึ วา สมาปตฺตึ วา มคฺคํ วา ผลํ วา อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย ฯ
อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้วไม่พึงพูดอวดอุตริมนุสธรรม โดยที่สุดว่าเรายินดียิ่งในเรือนว่างเปล่า ภิกษุใดมีความอยากในทางเลว ถูกความอยากครอบงำ พูดอวดอุตริมนุสธรรมที่ตนไม่มี ไม่เป็นจริง คือฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ภิกษุนั้นไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร
ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๔๔
…………………
นี่คือลักษณะของการอวดอุตริมนุสธรรม
“อวดอุตริมนุสธรรม” ก็คือพูดบอกใครๆ ว่า ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมบัดนี้ได้บรรลุฌานแล้ว ได้สมาธิถึงชั้นนั้นแล้ว กิเลสของข้าพเจ้าเบาบางแล้ว .. ไปจนถึง-ข้าพเจ้าบรรลุมรรคผลแล้ว
หรือพูดตรงๆ – ข้าพเจ้าเป็นอริยบุคคลแล้ว
ขอให้สังเกตคำว่า “อนฺตมโส สุญฺญาคาเร อภิรมามีติ” (เรายินดียิ่งในเรือนว่างเปล่า) แปลแบบถอดความหมายว่า “ชั้นที่สุดพูดว่า ข้าพเจ้ารู้สึกแช่มชื่นใจเมื่ออยู่ในที่สงบสงัด” – พูดแค่นี้ก็เข้าข่ายอวดอุตริมนุสธรรมแล้ว
เชื่อหรือไม่ แม้แต่ไม่ได้พูดอะไรเลย แต่ทำอะไรบางอย่างที่มีเจตนาจะอวด ก็เป็นปาราชิกได้
ในพระวินัยปิฎกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างไว้เรื่องหนึ่ง เรื่องก็คือภิกษุหลายรูปจำพรรษาอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง ตั้งกติกากันไว้ว่า ภิกษุรูปใดออกจากวัดไปอยู่ที่อื่นก่อนเพื่อน ก็เป็นอันรู้กันว่าภิกษุรูปนั้นเป็นพระอรหันต์
อยู่ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งตั้งใจจะให้เพื่อนภิกษุด้วยกันเข้าใจว่าตนเป็นพระอรหันต์ จึงออกเดินทางจากวัดไปก่อนเพื่อน
ทำไปแล้วเกิดสงสัยว่า แบบนี้เป็นปาราชิกฐานอวดอุตริมนุสธรรมหรือเปล่า จึงกราบทูลเล่าเรื่องให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ (ขอให้สังเกตคุณธรรมคือความซื่อตรงของภิกษุสมัยพุทธกาล!) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๙๔
…………………
ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาที่เป็นแบบเรียนแปลเล่มแรกของนักเรียนบาลีในเมืองไทย จะพบคำว่า “อญฺญํ พฺยากโรติ” ซึ่งแปลว่า “พยากรณ์อรหัตผล” หลายต่อหลายแห่ง ตามเรื่องที่ท่านเล่าไว้ก็คือมีพระบางรูปพูดอะไรบางอย่าง แล้วมีคนเอาไป “ฟ้อง” พระพุทธเจ้าว่า “อญฺญํ พฺยากโรติ” ความหมายตรงๆ ก็คือฟ้องว่าพระรูปนั้นอวดอุตริมนุสธรรม
ตัวอย่างคำพูดที่ถูกกล่าวหาว่า “อวดอุตริมนุสธรรม” ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา:
(๑) ข้าพเจ้าไม่มีความอาลัยในความเป็นคฤหัสถ์ (นนฺทตฺเถรวตฺถุ ภาค ๑)
(๒) (บวชๆ สึกๆ หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายบอกว่า) ข้าพเจ้าตัดความข้องเกี่ยวกับครอบครัวได้แล้ว (จิตฺตหตฺถตฺเถรวตฺถุ ภาค ๒)
(๓) (เคยรู้สึกผูกพันกับลูก พอบวชก็บอกว่า) ตอนนี้ไม่รู้สึกผูกพันอีกแล้ว (โสเรยฺยตฺเถรวตฺถุ ภาค ๒)
(๔) ข้าพเจ้าตัดความข้องเกี่ยวได้แล้ว (ปิโลติกตฺเถรวตฺถุ ภาค ๕)
(๕) ใครทำอะไรกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่โกรธเลย (อญฺญตรภิกฺขุวตฺถุ ภาค ๘)
(๖) ข้าพเจ้าไม่โกรธ (สามเณรวตฺถุ ภาค ๘)
(๗) (เคยไปไหนมาไหนกับเพื่อน พอบวชแล้วได้บรรลุธรรม เพื่อนมาชวน บอกเพื่อนว่า) ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ต้องไปไหนมาไหนอีกแล้ว (จนฺทาภตฺเถรวตฺถุ ภาค ๘)
(๘) ข้าพเจ้าไม่มีความอยาก (ตัณหา) หรือความทะนงตัว (มานะ) อีกแล้ว (โชติกตฺเถรวตฺถุ ภาค ๘)
(๙) (เคยอยู่ปราสาท มีเมียงาม พอบวชแล้วบอกว่า) ข้าพเจ้าไม่อยากได้ปราสาทหรือสตรีอีกแล้ว (โชติกตฺเถรวตฺถุ ภาค ๘)
จะเห็นได้ว่า ผู้พูดไม่ได้บอกตรงๆ ว่า “ข้าพเจ้าบรรลุธรรม” แต่คำพูดตามตัวอย่างที่ยกมานั้นสามารถตีความได้ว่าอวดอุตริมนุสธรรม
ตามเรื่องในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ทุกรายที่พูดเช่นนั้นพระพุทธเจ้าทรงตัดสินว่าผู้พูดบรรลุธรรมจริง การพูดเช่นนั้นไม่ได้มีเจตนาจะอวด
ทุกวันนี้ ถ้าใครพูดแบบนั้น ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าผู้พูดบรรลุธรรมจริง?
ดังนั้น พระภิกษุผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่พูดถึงผลการปฏิบัติของตัวเอง หรือแม้แต่ความรู้สึกของตัวเองเมื่อได้ปฏิบัติธรรม ย่อมปลอดภัยที่สุด ตัดปัญหาที่จะเกิดได้ด้วย
ในพระวินัยปิฎก พระพุทธองค์ตรัสว่า ในพระศาสนานี้มีมหาโจรอยู่ ๕ จำพวก ล้วนแต่เลวทรามทั้งสิ้น แต่ที่เป็นยอดของมหาโจรก็คือภิกษุผู้อวดอุตริมนุสธรรม
พระพุทธพจน์ในพระวินัยปิฎกเป็นดั่งนี้ –
…………………
สเทวเก ภิกฺขเว โลเก สมารเก สพฺรหฺมเก สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย อยํ อคฺโค มหาโจโร โย อสนฺตํ อภูตํ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ อุลฺลปติ ตํ กิสฺส เหตุ เถยฺยาย โว ภิกฺขเว รฏฺฐปิณฺโฑ ภุตฺโตติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๐
…………………
มีข้อน่าสังเกตว่า อวดอุตริมนุสธรรมก็เป็นปาราชิกเท่ากับเสพเมถุนทุกประการ เรารังเกียจผู้เป็นปาราชิกฐานเสพเมถุน แต่เรากลับไม่รังเกียจผู้เป็นปาราชิกฐานอวดอุตริมนุสธรรม ทั้งๆ ที่ผู้อวดอุตริมนุสธรรมนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก ตรงกันข้าม ผู้เป็นปาราชิกฐานอวดอุตริมนุสธรรมกลับได้รับการยกย่องนับถืออยู่ในทุกวันนี้ก็มี
ขอจบด้วยข้ออุปมาผู้เป็นปาราชิกว่าเหมือนอะไรตามที่ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้
…………………
(๑) เสพเมถุน : ปุริโส สีสจฺฉินฺโน = เหมือนคนถูกตัดศีรษะ
(๒) ลักทรัพย์ : ปณฺฑุปลาโส พนฺธนา ปวุตฺโต = เหมือนใบไม้เหลืองที่หลุดจากขั้ว
(๓) ฆ่ามนุษย์ : ปุถุสิลา เทฺวธา ภินฺนา = เหมือนหินทั้งแท่งที่แตกเป็นสองเสี่ยง
(๔) อวดอุตริมนุสธรรม : ตาโล มตฺถกจฺฉินฺโน = เหมือนตาลยอดด้วน
ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๔๔
…………………
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๑๙:๒๕
………………………………………
ปาราชิก : เรื่องใหญ่ที่ควรรู้ให้ครบ (๒)
………………………………………