บาลีวันละคำ

พุทธพยากรณ์ (บาลีวันละคำ 3,632)

พุทธพยากรณ์

อย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นหมอดู

อ่านว่า พุด-ทะ-พะ-ยา-กอน

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + พยากรณ์

(๑) “พุทธ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

(๒) “พยากรณ์” 

บาลีเป็น “วฺยากรณ” อ่านว่า วฺยา-กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = แจ้ง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: วิ > วฺย + อา = วฺยา + กรฺ = วฺยากร + ยุ > อน = วฺยากรน > วฺยากรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เครื่องมืออันท่านอาศัยแยกศัพท์ออกตามรูปของตน” (2) “คัมภีร์ที่ท่านอาศัยจำแนกศัพท์ทั้งหลายออกเป็นรูปปกติ” (3) “การอันเขาทำให้แจ่มแจ้งโดยพิเศษ

วฺยากรณ” หมายถึง :

(1) การตอบคำถาม, การอธิบาย, การไขความ (answer, explanation, exposition)

(2) ไวยากรณ์ (grammar)

(3) การทำนาย (prediction)

กฎหรือวิธีตอบข้อสงสัยตามหลักในพระพุทธศาสนา :

(1) เอกังสพยากรณ์ = ตอบตรงๆ หรือตอบเป็นคำขาดไม่อ้อมค้อม

(2) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ = ย้อนถามให้ผู้ถามชี้ประเด็นออกมาก่อน

(3) วิภัชชพยากรณ์ = ตอบแบบแยกประเด็น

(4) ฐปนียพยากรณ์ = ตอบโดยไม่ตอบ เพราะเห็นว่าไร้สาระ หรือเห็นว่าผู้ถามไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบ แต่ถามหาเรื่อง

กฎหรือวิธีตอบแต่ละอย่างต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับความสงสัยแต่ละเรื่อง 

ไม่ใช่ทุกอย่างใช้ได้กับความสงสัยทุกเรื่อง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วฺยากรณ : (คำนาม) ‘วยากรณ์,’ ไวยากรณ์; การชี้แจ้ง, การแสดงไข; grammar; explaining, expounding.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พยากรณ์ : (คำกริยา) ทํานายหรือคาดการณ์โดยอาศัยหลักวิชา. (คำนาม) ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ว่าด้วยการทํานาย. (ป., ส. วฺยากรณ).”

พุทธ + พยากรณ์ = พุทธพยากรณ์ แปลโดยประสงค์ว่า “คำตรัสอธิบายของพระพุทธเจ้า” 

ขยายความ :

พุทธพยากรณ์” ไม่ได้หมายถึง คำทำนายของพระพุทธเจ้าแบบเดียวกับที่พูดว่า คำทำนายของหมอดูว่า เมื่อนั่นเมื่อนี่จะเกิดเหตุอย่างนั้นอย่างนี้

ในคัมภีร์มีเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ว่า เมื่อนั่นเมื่อนี่เขาจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องแบบเดียวกับหมอดูทำนายดวง แต่โปรดเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสในฐานะหมอดู แต่ทรงทราบเหตุการณ์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ คือทรงทราบว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้ได้ทำกรรมอะไรไว้ และกรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไรอย่างไร และตรัสโดยมุ่งจะอธิบายถึงผลของกรรม

อุปมาเหมือนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรู้อาการของโรคว่าโรคชนิดนี้ถ้าเป็นในระยะนี้ยังสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเป็นถึงระยะนั้นผู้ป่วยจะเสียชีวิตอย่างนี้เป็นต้น เมื่อตรวจพบโรคชนิดนั้นในตัวผู้ป่วยกำลังเป็นในระยะนั้นระยะนี้ ก็สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยจะหายหรือผู้ป่วยจะตาย – ทำนองเดียวกันนี้

เวลาจะใช้คำว่า “พุทธพยากรณ์” จึงควรแน่ใจว่า กำลังใช้ในความหมายว่า พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายหลักธรรมหรือเรื่องราวนั้นๆ ไม่ใช่ใช้ในความหมายว่า พระพุทธเจ้ากำลังทำนายทายทักเหมือนหมอดูทำนายดวง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้คำทำนายว่าจะเกิดปัญหา

: ไม่มีค่าเท่ากับรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

#บาลีวันละคำ (3,632)

23-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *