บาลีวันละคำ

ศาสนทายาท (บาลีวันละคำ 3,631)

ศาสนทายาท

จะเป็นผู้เอาจากพระศาสนา

หรือจะเป็นผู้ให้แก่พระศาสนา

อ่านว่า สา-สะ-นะ-ทา-ยาด

ประกอบด้วยคำว่า ศาสน + ทายาท

(๑) “ศาสน” 

บาลีเป็น “สาสน” อ่านว่า สา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก” 

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” (นปุงสกลิงค์) มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา

(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (1) ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาสน” และ “ศาสนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสน-, ศาสนา : (คำนาม) ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกําเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทําตามความเห็นหรือตามคําสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คําสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน).”

(๒) “ทายาท” 

บาลีอ่านว่า ทา-ยา-ทะ รากศัพท์มาจาก ทาย (อ่านว่า ทา-ยะ = สิ่งที่ควรมอบให้) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบสระ อา ที่ ทา (ทา > )

: ทาย + อา + ทา = ทายาทา > ทายาท + = ทายาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาสิ่งที่ควรมอบให้” หมายถึง ผู้สืบสกุล, ผู้รับมรดก (heir)

หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาสันสกฤตไว้ดังนี้ –

ทายาท : (คำนาม) บุตร; ญาติ (สนิธหรือห่าง); ผู้รับมรดก, ผู้สืบวงศกุล; บุตรี; สตรีผู้สืบวงศกุล; a son; a kinsman (near or remote); an heir; a daughter; an heiress.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาไทยไว้ว่า –

ทายาท : (คำนาม) ผู้สืบสันดาน, ผู้สืบสกุล, โดยปริยายหมายถึงผู้รับหรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตําแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่น เช่น ทายาททางการเมือง; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลรวมทั้งทารกในครรภ์มารดาซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามกฎหมาย เรียกว่า ทายาทโดยธรรม ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามพินัยกรรม เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม. (ป., ส.).”

สาสน + ทายาท = สาสนทายาท อ่านแบบบาลีว่า สา-สะ-นะ-ทา-ยา-ทะ แปลว่า “ผู้รับผลของศาสนา” 

สาสนทายาท” เขียนแบบไทยเป็น “ศาสนทายาท” (ศา ศาลา) อ่านว่า สา-สะ-นะ-ทา-ยาด หมายความตามประสงค์ว่า ผู้ที่อายุยังน้อยเข้ามาบวชเป็นภิกษุสามเณร (โดยมากเล็งถึงสามเณร) และหวังว่าจะอยู่ในสมณเพศยั่งยืนเพื่อสืบอายุพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป

อภิปราย :

คำว่า “ศาสนทายาท” ถ้าเทียบกับคำว่า “กรรมทายาท” ก็ควรจะมีความหมายในทำนองเดียวกัน

กรรมทายาท” หมายถึง ผู้รับผลของกรรม คือกรรมที่ทำไว้ให้ผลอย่างไร ผู้ทำกรรมก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น คืออยู่ในฐานะผู้รับผลเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรกับผลกรรมนั้น

ศาสนทายาท” ก็ควรจะหมายถึง ผู้รับผลของศาสนา คือศาสนาให้ผลอะไร ผู้นั้นก็มีหน้าที่รับผลที่จะได้จากศาสนา กล่าวคืออยู่ในฐานะผู้รับผลเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรกับศาสนา

แต่ความหมายที่ประสงค์หาใช่เช่นว่านี้ไม่

ความหมายที่ประสงค์ของคำว่า “ศาสนทายาท” คือ เป็นผู้รับภาระที่จะต้องบริหารการพระศาสนาให้ดำเนินต่อไป พระภิกษุสามเณรในพระศาสนามีกิจอันใดที่จะต้องทำ ผู้เป็น “ศาสนทายาท” ก็ต้องทำกิจอันนั้น จะนั่งนอนเสวยผลของศาสนาอยู่เฉยๆ เหมือนผู้เป็น “กรรมทายาท” เสวยผลกรรมนั้นหาได้ไม่ 

กล่าวโดยโวหารที่นิยมพูดกันก็ว่า จะเข้ามาพึ่งพระศาสนาท่าเดียวหาชอบไม่ ต้องให้พระศาสนาพึ่งได้ด้วย

“ให้พระศาสนาพึ่งได้” คืออย่างไร? คือ “ศาสนทายาท” ต้องทำกิจพระศาสนา 3 อย่าง : 

(๑) ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้องทั่วถึง 

(๒) ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ศึกษาดีแล้ว 

(๓) บอกกล่าวสั่งสอนพระธรรมวินัยที่ถูกต้องให้แพร่หลายยั่งยืนต่อไป

ปฏิบัติได้ดังนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็น “ศาสนทายาท” ที่แท้จริง

ผู้ปฏิบัติตามความหมายดังที่กล่าวนี้ ในคัมภีร์ใช้คำว่า “สาสนกร” “สาสนการก” และ “สาสนการี” แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำสอน (complying with one’s order and teaching)

…………..

ดูก่อนภราดา!

ศาสนทายาท –

: อย่าพึ่งพระศาสนาท่าเดียว

: ต้องให้พระศาสนาพึ่งได้ด้วย

#บาลีวันละคำ (3,631)

22-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *