บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปาราชิก : เรื่องใหญ่ที่ควรรู้ให้ครบ (๑)

ปาราชิก : เรื่องใหญ่ที่ควรรู้ให้ครบ (๑)

———————————–

เวลานี้มีคนพูดคำว่า “ปาราชิก” กันหนาหู ผมเข้าใจว่าทั้งคนพูดและคนฟังน่าจะเข้าใจอยู่อย่างเดียวว่า พระร่วมเพศกับผู้หญิงเป็นปาราชิก

ผมเห็นว่าน่าจะถือเป็นโอกาสเรียนรู้เรื่อง “ปาราชิก” ให้กว้างออกไปอีกสักหน่อย

เบื้องต้น รู้ไว้ก่อนว่าปาราชิกไม่ใช่มีแค่-พระร่วมเพศกับผู้หญิงเรื่องเดียว แต่มีถึง ๔ เรื่อง ชาววัดนิยมเรียกควบกันไปว่า “ปาราชิก ๔”

รู้ต่อไปเลยว่า “ปาราชิก” เป็นโทษขั้นอุกฤษฏ์ของพระ เท่ากับโทษประหาร พระรูปไปล่วงละเมิด ๔ เรื่องนี้ ความเป็นพระจะสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ เรียกเป็นสำนวนพระว่า “ขาดจากความเป็นพระ” 

จะมีใครรู้เห็นการกระทำนั้นหรือไม่ก็ตาม 

จะมีพยานหลักฐานหรือไม่ก็ตาม 

จะมีใครฟ้องร้องกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม 

ถ้ากระทำความผิดครบองค์ประกอบ ก็เป็นปาราชิกทันที คือตัดสินกันที่กระทำความผิดสำเร็จ ไม่ใช่ตัดสินด้วยคำพิพากษาของใครใด และผู้ที่รู้ว่ากระทำความสำเร็จแล้วก็คือเจ้าตัวผู้กระทำ

และตรงนี้แหละเป็นลักษณะเฉพาะของ “อริยวินัย” คือผู้กระทำผิดพิพากษาความผิดตามข้อเท็จจริงที่ตัวทำด้วยตัวเอง-ซึ่งเป็นธาตุแท้ของอารยชน คือคนที่ได้รับการอบรมสั่งสอนฝึกหัดมาดีแล้ว ไม่ปิดบังซ่อนเร้นการกระทำของตน

และตรงนี้เองคือช่องโหว่ที่ทำให้คนหน้าด้านแฝงตัวอยู่ในพระศาสนาได้ คือทำความผิดแต่อย่าให้ใครจับได้อย่าให้มีหลักฐาน ก็สามารถลอยหน้าอยู่ในหมู่ชาววัดในฐานะผู้ทรงศีลได้สบายๆ

มาศึกษากันว่า ปาราชิก ๔ เรื่องคืออะไรบ้าง

…………………

ปาราชิกข้อที่ ๑ เรียกเป็นศัพท์ชาววัดว่า “เสพเมถุน” (เมถุน = กิจกรรมของคนคู่) คือร่วมเพศ จะร่วมกับคนต่างเพศ หรือคนเพศเดียวกัน หรือแม้แต่กับสัตว์ เมื่อครบองค์ประกอบก็เป็นปาราชิกทันที

มีกรณีหนึ่งท่านบรรยายไว้ว่า ภิกษุเอวอ่อนสามารถก้มลงอมอวัยวะเพศของตัวเองได้ หรืออวัยวะเพศยาวสามารถสอดเข้าไปในทวารหนักของตัวเองได้ ถ้าทำอย่างนั้นก็เป็นปาราชิกเช่นกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปร่วมเพศกับใครนี่แหละ

รายละเอียดแบบนี้ท่านบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้ และนี่แหละคือหน้าที่ของนักเรียนบาลี 

ลองคิดดู ถ้านักเรียนบาลีของเราเรียนบาลีจบแค่สอบได้ ไม่ไปให้ถึงพระไตรปิฎก เราจะศึกษารายละเอียดของพระธรรมวินัยกันจากไหน

เรื่องปาราชิกข้อที่ ๑ นี้ ท่านบรรยายไว้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม ถ้าอ่านอย่างมีอกุศลจิต จะรู้สึกเหมือนได้ดูหนัง X ถ้าอ่านด้วยจิตเป็นกุศลมุ่งการศึกษาเรียนรู้ ก็จะเหมือนนักเรียนแพทย์เรียนชำแหละศพ

…………………

ปาราชิกข้อที่ ๒ เรียกเป็นศัพท์ชาววัดว่า “อทินนาทาน” แปลกันว่า ลักของเขา

แค่ไหนอย่างไร การลักจึงจะครบองค์ประกอบ ท่านก็อธิบายไว้อย่างละเอียดในพระไตรปิฎก บางกรณีเราก็คาดผิดไม่คิดว่าวินัยพระละเอียดถึงเพียงนี้ 

เช่นกรณีพระลักวัว

ปกติที่เรารู้กัน การลักขโมยจะถือว่าความผิดสำเร็จก็คือได้ทรัพย์นั้นไปครอบครอง ไม่ว่าจะครอบครองชั่วครู่ชั่วคราวหรือครอบครองถาวรก็ตาม แต่กรณีพระลักวัวไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ

ถ้าวัวล่ามอยู่ ฐานความผิดมี ๕ คือปมเชือกที่ล่าม ๑ และขาวัวอีก ๔ 

ถ้าวัวไม่ได้ล่าม ฐานความผิดมี ๔ คือขาวัวทั้ง ๔

กรณีวัวถูกล่ามอยู่ –

แก้ปมเชือก ยังไม่เป็นปาราชิก

วัวก้าวขาจากที่ยืนครบทั้ง ๔ ขา เป็นปาราชิกทันที

หรือถ้ายังไม่ได้แก้ปมเชือก วัวก้าวขาจากที่ยืนครบทั้ง ๔ ขา ยังไม่เป็นปาราชิก

พอแก้แก้ปมเชือกหลุด เป็นปาราชิกทันที

กรณีวัวไม่ได้ล่าม –

วัวก้าวขาจากที่ยืนครบทั้ง ๔ ขา เป็นปาราชิกทันที

จะเห็นได้ว่า แม้ยังไม่ได้เอาวัวไปครอบครอง วัวก็ยังอยู่ตรงนั้น แต่เมื่อครบองค์ประกอบ ก็เป็นปาราชิกไปแล้ว

ปัญหาใหญ่ในปาราชิกข้อที่ ๒ ก็คือ ในบาลีกำหนดไว้ว่าทรัพย์ที่ลักต้องมีมูลค่า “๕ มาสก” ขึ้นไปจึงจะเข้าข่ายเป็นปาราชิก

“๕ มาสก” ในเมืองไทยเรียนรู้กันมาแต่เดิมว่าเท่ากับราคา “หนึ่งบาท” จึงเข้าใจกันมาว่า ภิกษุลักทรัพย์มีราคา ๑ บาทก็เป็นปาราชิกแล้ว ถึงกับพูดกันขำๆ ว่า พระเรามีราคาแค่บาทเดียว

แต่ตกมาถึงปัจจุบันวันนี้ เกิดมีการตั้งประเด็นว่า “๕ มาสก” ไม่ใช่ ๑ บาทอย่างที่เคยเข้าใจ แต่จะเป็นกี่บาทหรือเป็นเงินเท่าไรยังไม่มีการวินิจฉัยเป็นที่ยุติ

เรื่องก็ไปเข้าตำรา- “๕ มาสก” ท่านเจ้าคุณนี่ว่าเป็นเงินเท่านั้น พระมหานั่นว่าเป็นเงินเท่าโน้น อาจารย์โน่นว่าเป็นเงินเท่านี้ คือหาข้อยุติไม่ได้ว่าเท่าไรกันแน่

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องเล่น ถ้าเกิดมีพระไปขโมยของเขาแล้วต่อสู้ว่า ของที่ท่านขโมยมีราคาไม่ถึง ๕ มาสก เพราะฉะนั้น ท่านจึงยังไม่เป็นปาราชิก เราจะเอาตัวเลข “๕ มาสก” ของใครเป็นมาตรฐาน? ของท่านเจ้าคุณนี่ ของท่านมหานั่น หรือของท่านอาจารย์โน่น?

งานเร่งด่วนก็คือ คณะสงฆ์/มหาเถรสมาคมต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา และวิธีที่ดีที่สุดก็คือตั้ง “กองวิชาการคณะสงฆ์” ขึ้นมาเป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติทั้งปวง แล้ววินิจฉัยออกมาว่า “๕ มาสกในปัจจุบันเป็นเงินเท่านี้” แล้วประกาศออกมาเป็นมติของคณะสงฆ์ไทย ให้ถือมตินี้เป็นมาตรฐานต่อไป

คณะทำงานหรือ “กองวิชาการคณะสงฆ์” ไม่ใช่หน่วยงานเฉพาะกิจ ทำงานเรื่องนี้เสร็จแล้วสลายตัว แต่ควรเป็นหน่วยงานถาวรทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาอื่นๆ ที่เป็นปัญหาคาใจสังคมซึ่งมีอยู่มากมายหลายเรื่อง-พระทำอย่างนี้ผิดไหม พระทำอย่างนี้ได้ไหม ฯลฯ มีงานให้ทำไม่รู้จบ

“๕ มาสก” คือเท่าไร คณะสงฆ์/มหาเถรสมาคมต้องมีคำตอบเตรียมไว้ตั้งแต่วันนี้ อย่ารอให้เกิดเรื่องก่อนจึงค่อยคิด

เห็นประโยชน์และความจำเป็นของ “กองวิชาการคณะสงฆ์” กันบ้างหรือยังเจ้าข้า

(ยังไม่จบ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๙:๓๙

………………………………………….

ปาราชิก : เรื่องใหญ่ที่ควรรู้ให้ครบ (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *