สมดุล (บาลีวันละคำ 404)
สมดุล
“สม” บาลีอ่านว่า สะ-มะ มีความหมายดังนี้ –
1. ความสงบ, ความราบรื่น, ความสงบทางใจ
2. เรียบ, ได้ระดับ, สม่ำเสมอ
3. เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, เท่าเทียมกัน, มีลักษณะ นิสัยใจคอ รสนิยม แนวโน้ม ฯลฯ ไปในทางเดียวกัน
4. เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม
5. “ด้วยกัน” เช่น สมตึส “สามสิบด้วยกัน” = ถ้วนๆ เต็มๆ
“ดุล” บาลีเป็น “ตุล” (ตุ-ละ) แปลว่า ชั่ง, ประเมิน, พิจารณา, ใคร่ครวญ (ใช้ในความปฏิเสธ เป็น “อตุล” มีความหมายว่า เปรียบเทียบไม่ได้, ชั่งไม่ได้, วัดไม่ได้, ไม่มีที่เปรียบ, เหลือที่จะเปรียบ)
ความหมายในภาษาไทย ตามพนจ.42 บอกว่า “ดุล : ตราชู, คันชั่ง, มาตราชั่งนํ้าหนักโบราณ เช่น ทองคําหนัก 20 ชั่ง เรียกว่า ดุลหนึ่ง; ความเท่ากัน, ความเสมอกัน; เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน”
สม + ตุล = สมตุล = สมดุล อ่านแบบอิงบาลีว่า สะ-มะ-ดุล มีความหมายตามศัพท์ว่า –
1. ชั่งตวงวัดอย่างเป็นธรรม, ไม่โกง, ไม่เอาเปรียบ (ใช้ในกรณีซื้อขายสินค้าหรือบริการ)
2. ตัดสินอย่างยุติธรรม (ใช้ในกรณีพิจารณาคดีความ = ทำเจ้าของให้เป็นเจ้าของ, ทำผู้มิใช่เจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ)
“สมดุล” ในภาษาไทย (โปรดสังเกตว่า ไม่มี ย์ การันต์) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า
– อ่านว่า สะ-มะ-ดุน ก็ได้ สม-ดุน ก็ได้
– เป็นคำวิเศษณ์ มีความหมายว่า เสมอกัน, เท่ากัน
– เทียบคำภาษาอังกฤษว่า equilibrium
: ทำสังคมให้สมดุลไม่ได้ แต่ทำตัวเราเองให้สมดุลได้
——————–
(สืบเนื่องมาจากคำปรารภของ Chakkris Uthayophas และ สุดที่รัก มายเดียร์)
บาลีวันละคำ (404)
23-6-56
โพสต์
เรื่องชอบกลครับ
ผมแสดงความคิดเห็นไว้ที่ บาลีวันละคำ “สมภาร” แล้ว
ขออนุญาตนำมาวางไว้ตรงนี้ด้วย เผื่อใครที่ยังไม่ได้เห็น
คือบาลีวันละคำ “สมภาร” เมื่อวานนี้ ทำให้คุณ Chakkris Uthayophas เอ่ยถึงคำว่า “สมดุล”
จึงต้องไปหาความรู้จากพจนานุกรม
พจน.๔๒ บอกว่า “สมดุล” เป็นคำเทียบภาษาอังกฤษว่า equilibrium
พจนานุกรม สอ เศรษฐบุตร แปล equilibrium เป็นภาษาไทยว่า สภาพคงที่, อาการแน่วแน่, ความสงบ, สภาพตราชู, ดุลภาพ (ไม่มีคำว่า “สมดุล”)
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล equilibrium เป็นภาษาบาลีว่า สมภารตา (สะ-มะ-พา-ระ-ตา) แปลว่า “ความมีน้ำหนักเท่ากัน”
โปรดสังเกตว่า สมภาร > สมดุล > equilibrium > สมภารตา > สมภาร
ดูคล้ายกับเริ่มที่ “สมภาร” แล้วก็ย้อนกลับมาที่ “สมภาร” อีก
ชอบกล !
ดูเพิ่มเติมที่คำว่า “สม” บาลีวันละคำ (220) 14-12-55
สมดุล
[สะมะดุน, สมดุน] ว. เสมอกัน, เท่ากัน. (อ. equilibrium).
equilibrium
ฝรั่งแปลเป็นภาษาบาลีว่า สมภารตา (สะ-มะ-พา-ระ-ตา) แปลว่า “ความมีน้ำหนักเท่ากัน”
ในคัมภีร์มีคำว่า “ตุลากูฏ” (ตุ-ลา-กู-ตะ หรือ ตุ-ลา-กูด) แปลว่า “โกงตาชั่ง” = เอาเปรียบลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ
มีความหมายตรงกันข้ามกับ “สมดุล”
สม (บาลี-อังกฤษ)
1. ความสงบ, ความราบรื่น, ความสงบทางใจ calmness, tranquillity, mental quiet Sn 896.
2. ความเหน็ดเหนื่อย (จาก สมฺมติ) fatigue J vi.565.
3. เรียบ, ได้ระดับ, สม่ำเสมอ even, level J i.315;
4. เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, เท่าเทียมกัน, (มีลักษณะ นิสัยใจคอ รสนิยม แนวโน้ม ฯลฯ ไปในทางเดียวกัน) like, equal, the same D i.123, 174;
5. เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม impartial, upright, of even mind, just A i.74, 293 sq.;
6. “ด้วยกัน” เช่น สมตึส สามสิบด้วยกัน = ถ้วนๆ เต็มๆ “altogether”. e. g. ˚tiŋsa thirty altogether Bu 18, 18.
สม ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
เสมอ,เรียบ, ได้ระดับ,เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, ยุติธรรม
ตุล จากกิริยา “ตุเลติ” (บาลี-อังกฤษ)
ชั่ง, ประเมิน, พิจารณา, ใคร่ครวญ
ใช้เป็นคำปฏิเสธ อตุล เปรียบเทียบไม่ได้, ไม่มีที่เปรียบ, วัดไม่ได้ หรือสุดที่จะเปรียบ
ตุล ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ใช้ในรูปปฏิเสธอย่างเดียวเป็น “อตุล” =เปรียบเทียบไม่ได้, ชั่งไม่ได้, เหลือที่จะเปรียบเทียบ.
ตุลน นป.
การชั่ง, การตวง, การวัด, การนับ.
ดุล, ดุล-
[ดุน, ดุนละ-] น. ตราชู, คันชั่ง, มาตราชั่งนํ้าหนักโบราณ เช่น ทองคําหนัก ๒๐ ชั่ง เรียกว่า ดุลหนึ่ง; ความเท่ากัน, ความเสมอกัน, เช่น รายรับรายจ่ายเท่ากัน เรียกว่า งบประมาณสู่ดุล; ชื่อกลุ่มดาวรูปคันชั่ง เรียกว่า ราศีดุล เป็นราศีที่ ๖ ในจักรราศี, ราศีตุล ก็ว่า.ว. เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน. (ป., ส.).
ดุลย-
[ดุนละยะ-, ดุนยะ-] ว. เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน. (ป., ส.).
สม ๑
ว. เหมาะ, เหมาะกับ, ควรแก่, เช่น บ่าวสาวคู่นี้สมกัน เขาแต่งตัวสมฐานะ แสดงละครได้สมบทบาท เขาต่อสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี เด็กคนนี้แต่งตัวไม่สมวัย, รับกัน เช่น หัวแหวนสมกับเรือนแหวน; ตรงกับ เช่น สมคะเน สมปรารถนา สมความตั้งใจ. (ปาก) สมน้ำหน้า เช่น สมแล้วที่สอบตก เพราะขี้เกียจนัก.
สม ๒
ใช้ประกอบกับคำกริยาบางคำมีความหมายว่า ร่วมด้วยกัน รวมกัน เช่น สมคิด สมรู้.
สม- ๓
[สะมะ-, สมมะ-, สม-] ว. เท่ากัน, เสมอกัน.
สมตุลฺยานิ ภูตานิ
กุโต เชฏฺฐาปจายิโก
นตฺถิ พลํ วิริยํ วา
กุโต อุฏฺฐานโปริสํ.
คนทั้งหลายเท่าเทียมกันทั้งสิ้น
จะต้องเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ไปทำไม
(ผลแห่ง) เรี่ยวแรง หรือความเพียรพยายาม ไม่มีอยู่จริง
คนเราจะต้องขยันหมั่นเพียรไปทำไม
นันทิกาเปตวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๑๒๓