บาลีวันละคำ

ปราบดาภิเษก (บาลีวันละคำ 955)

ปราบดาภิเษก

อ่านว่า ปฺราบ-ดา-พิ-เสก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปราบดาภิเษก : (คำวิเศษณ์) มีอภิเษกอันถึงแล้ว. (คำนาม) พระราชพิธีอภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ราชสมบัติมาด้วยการรบชนะข้าศึก. (ส. ปฺราปฺต + อภิเษก).

พจน.54 บอกว่าคำนี้สันสกฤตเป็น ปฺราปฺต + อภิเษก

ปฺราปฺต + อภิเษก บาลีเป็น ปตฺต + อภิเสก

(๑) “ปตฺต

เป็นรูปคำกริยา (ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “กิริยากิตก์”) อดีตกาล และใช้เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ได้รับ, บรรลุ, ได้มา, ถึง (obtained, attained, got, reached)

(๒) “อภิเษก

บาลีเป็น “อภิเสก” (อะ-พิ-เส-กะ) แปลว่า การอภิเษก, การประพรม, การเจิม, การทำพิธีสถาปนา (เป็นกษัตริย์) (anointing, consecration, inauguration [as king])

ในภาษาไทยใช้ว่า “อภิเษก” พจน.54 บอกความหมายว่า “แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน

อภิเสกอภิเษก” ความหมายเดิมคือทำพิธีรดน้ำเพื่อประกาศสถานภาพบางอย่าง เช่นความเป็นกษัตริย์ ความเป็นคู่ครอง เมื่อเอาคำนี้มาใช้ในวัฒนธรรมไทยความหมายก็ค่อยๆ กลายเป็นว่า ทำพิธีในวาระสำคัญ ทำพิธีเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

คำว่า “เสก” และ “ปลุกเสก” ที่หมายถึงร่ายมนตร์เพื่อทำให้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ก็น่าจะกร่อนกลายมาจากคำว่า “อภิเสก” นี่เอง

ปตฺต + อภิเสก = ปตฺตาภิเสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการอภิเษกอันตนบรรลุแล้ว” = บรรลุถึงการอภิเษก, ได้รับการอภิเษก หมายถึงได้รับราชสมบัติ-เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ปตฺตาภิเสก” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า after consecration (ได้รับการอภิเษก)

ปตฺตาภิเสก > ปฺราปฺตาภิเษก (< ปฺราปฺต + อภิเษก) มาเป็น “ปราบดาภิเษก” ได้อย่างไร

(1) ตฺ ตัวสะกดในบาลี เป็น ปฺ ในสันสกฤต เช่น สตฺตาห เป็น สปฺตาห

ดังนั้น ในที่นี้ ปตฺ– ในบาลี ก็เป็น ปฺราปฺ– ในสันสกฤตได้

(2) –ปฺต– ในสันสกฤต เป็น –ปด– ในภาษาไทย เช่น สปฺต ในคำว่า “สปฺตาห” เป็น สัปด คือ “สัปดาห์

ปฺราปฺตา– จึงเป็น ปราปดา– แล้วแปลง ปลา เป็น ใบไม้ อีกทีหนึ่ง

(3) : ปตฺตา– > ปฺราปฺตา– > ปราปดา– > ปราบดา (+ –ภิเษก) = ปราบดาภิเษก

พอดีรูปและเสียงคำว่า “ปราป-” ใกล้กับคำว่า “ปราบ” ในภาษาไทยซึ่งหมายถึงทําให้ราบ, ทําให้อยู่ในอํานาจ คำว่า “ปราบดาภิเษก” จึงให้ชวนให้เข้าใจว่า หมายถึงการขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยการ “ปราบ” ฝ่ายตรงข้ามให้ราบคาบลงเสียก่อน (ความหมายใน พจน.54 ก็มีนัยเช่นนี้)

อย่างไรก็ตาม การขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นในโลกนี้ก็มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ –

(1) แบบ “สืบราชสันตติวงศ์” คือครองราชสมบัติสืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน คือผู้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นั้นอยู่ในลำดับที่มีสิทธิ์จะได้รับราชสมบัติ

(2) แบบ “ปราบดาภิเษก” คือตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ จะโดยรบชนะฝ่ายตรงข้ามหรือโดยแยกตัวไปจับจองดินแดนตั้งบ้านเมืองของตัวเองขึ้นมาใหม่ก็ตาม

มีปัญหาว่า กรณีที่ผู้มีสิทธิ์จะได้รับราชสมบัติมีหลายท่าน แล้วเกิดแย่งชิงกันเอง ผู้แย่งชิงได้สำเร็จขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจะเรียกว่า “สืบราชสันตติวงศ์” หรือ “ปราบดาภิเษก” ?

: ปราบดาภิเษกแบบพิเศษ คือชนะกิเลสในอาณาจักรใจ

—————-

(เนื่องมาจากคำถามของ Supachoke Thaiwongworakool

ผู้ไปถูกจังหวะรถติดที่วงเวียนใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้)

#บาลีวันละคำ (955)

29-12-57

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *