บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่

พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่

———————————–

เรื่องนี้ ไม่ได้ถามว่า พระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ เพราะถ้าถามแบบนั้นก็จะต้องเถียงกันยาวระหว่างผู้เห็นว่ามีสิทธิ์กับผู้เห็นว่าไม่มีสิทธิ์ ดีไม่ดีก็จะขัดใจกันเปล่าๆ

เพราะฉะนั้น จึงถามอีกแบบหนึ่ง – พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่?

เป็นที่รู้กันว่า กฎหมาย-หรือจะเรียกว่าอะไรก็ไม่แน่ใจ-ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า บุคคลต่อไปนี้ห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ –

๑ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช

๒ อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

๓ ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

๔ วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ข้อกำหนดนี้มีผู้หยิบยกเอาไปตัดพ้อต่อว่า-ว่า พระภิกษุสามเณรเป็นพลเมืองชั้นสองและถูกจัดให้รวมอยู่ในจำพวกคนวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 

นอกจากถูกตัดสิทธิ์แล้ว พระภิกษุสามเณรยังมีฐานะเหมือนคนวิกลจริตจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นการลดเกียรติกันอย่างเลวร้าย เขามองว่าอย่างนั้น

ทีนี้สมมุติว่า ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองสั่งยกเลิกข้อห้ามนี้ ซึ่งนั่นแปลว่าพระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้ง ถามว่า พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่?

แน่นอน ถ้าอ้างข้อกำหนดกฎหมายของทางบ้านเมือง (ตามสมมุตินั้น) พระภิกษุสามเณรย่อมเลือกตั้งได้ 

ทีนี้สมมุติใหม่อีกเรื่องหนึ่ง สมมุติว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองออกกฎหมายว่า พระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์ร้องเพลงได้ 

ถามว่า พระภิกษุสามเณรสามารถร้องเพลงโดยอ้างกฎหมายนี้ได้หรือไม่?

จะเห็นได้ว่า พระภิกษุสามเณรจะทำอะไรโดยอ้างกฎหมายของทางบ้านเมืองอย่างเดียวหาได้ไม่ จะต้องคำนึงถึงหลักพระธรรมวินัยเป็นสำคัญจึงจะถูกต้อง

เพราะฉะนั้น พระภิกษุสามเณรจะเลือกตั้งได้หรือไม่ได้ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทางบ้านเมืองมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า-ตามหลักพระธรรมวินัยพระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่

ตรงนี้แหละที่ผมว่า คนที่อยากให้พระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน

และตรงนี้แหละที่ผมเชื่อว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้มีการศึกษาให้ถี่ถ้วนว่า หลักพระธรรมวินัยห้ามพระภิกษุสามเณรใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรืออนุญาตให้พระภิกษุสามเณรใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ 

ถ้าห้าม ห้ามไว้ที่ไหน 

ถ้าอนุญาต อนุญาตไว้ที่ไหน

ใครจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้?

ที่เป็นความหวังอย่างยิ่ง-ในความคิดของผม-ก็คือ มจร กับ มมร

มจร  (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) กับ มมร (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย) เป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ทันชาวโลก พูดกับชาวโลกเขารู้เรื่องและเดินนำเขาได้

ถามว่า ในฐานะสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ มจร และ มมร ได้ศึกษาเรียนรู้กันหรือยังว่า ตามหลักพระธรรมวินัยพระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่ได้

ถ้ามีการศึกษาสืบค้นแล้ว คำตอบคืออย่างไร ได้หรือไม่ได้ หลักฐานการศึกษาสืบค้นอยู่ที่ไหน?

ถ้ายังไม่เคยหรือยังไม่ได้ศึกษาสืบค้นเรื่องนี้ มจร กับ มมร ก่อตั้งมาตั้งนานแล้ว ไปมัวศึกษาเรื่องอะไรอยู่ ทำไมจึงไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้-เรื่องพระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่ได้ตามหลักพระธรรมวินัย

………………………………………..

หรือว่าสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์และตัวพระภิกษุสามเณรเองศึกษาเรียนรู้ทุกเรื่องที่ชาวโลกเขาเรียนกัน ยกเว้น ๒ เรื่อง คือเรื่องพระห้ามทำอะไร และเรื่องพระต้องทำอะไร ๒ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการศึกษา?

………………………………………..

ญาติมิตรที่อ่านข้อความนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าผมพูดประชด แต่ผมตั้งใจประชดเพื่อให้กระทบใจผู้บริหารการพระศาสนาของเรา

อีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นความหวังว่าจะช่วยตอบปัญหานี้-และปัญหาคาใจสังคมอีกหลายๆ เรื่อง-นั่นคือ “กองวิชาการคณะสงฆ์” 

โดยศักยภาพแล้ว คณะสงฆ์สามารถตั้งได้ทันที คน เงิน ส่วนสนับสนุน มีพร้อม แต่ “กองวิชาการคณะสงฆ์” ก็ยังเป็นเพียงความฝัน เพราะท่านไม่ตั้ง และไม่คิดจะตั้งด้วย จบข่าว

อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นความหวังของผม นั่นก็คือกลุ่มนักเรียนบาลีที่เรียนจบแล้ว (คงยังไม่ลืมบรรยากาศชื่นมื่นในวันรับพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศที่พระอุโบสถวัดพระแก้วก่อนวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา) ทั้งที่เพิ่งจบและที่จบมาแล้วในรุ่นก่อนๆ ย้อนขึ้นไป 

นักเรียนบาลีของเราที่เรียนจบแล้วมีจำนวนมาก ถึงวันนี้น่าจะนับพัน แต่แทบทั้งหมดจบแล้วจบเลย ไม่ได้ทำงานศึกษาสืบค้นพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติใดๆ-ซึ่งหมายถึงไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยใดๆ-ต่อไปอีก

ผมหวังไว้ว่า บุคลากรกลุ่มนี้จะมีอุดมคติ อุดมการณ์ ทำงานรับใช้พระศาสนากันให้มากขึ้น

ถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เริ่มด้วยการหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า “พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่ตามหลักพระธรรมวินัย” – เริ่มตรงนี้เลยก็ได้

อย่ารอให้ปัญหานี้-และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับพระธรรมวินัย-เกิดเป็นประเด็นร้อนขึ้นในสังคมเสียก่อนแล้วจึงคิดที่จะแก้เอาเฉพาะหน้า

………………..

จุดอ่อนหรือจุดอับอย่างหนึ่งของพวกเราก็คือ ให้ความสำคัญแก่ตัวบุคคลมากว่าตัวปัญหา

อย่างกรณีปัญหาถามว่า-พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่ตามหลักพระธรรมวินัย เราก็จะสนใจกันว่าใครถาม แต่ถามเรื่องอะไรแทบจะไม่ได้นึก

ถ้าคนถามเป็นคนไม่สำคัญ แม้เรื่องที่ถามจะเป็นเรื่องสำคัญ เราก็จะพากันนิ่งเฉยหมด 

แต่ถ้าคนถามเป็นคนสำคัญ เราจึงจะพากันกุลีกุจอลุกขึ้นมาตอบ แม้ว่าเรื่องที่ถามจะเป็นเรื่องสัพเพเหระเพียงไรก็ตาม

เมื่อไรเราจึงจะก้าวข้ามวิธีคิดแบบนี้กันได้

ผมเคยจำวาทะไว้ได้บทหนึ่ง เข้าใจว่าฝรั่งจะเป็นคนพูด ข้อความในวาทะนั้นว่า – 

“ถ้าคำแนะนำนั้นดี ก็ไม่ต้องถามว่าใครเป็นคนแนะนำ” 

– ประมาณนี้

ญาติมิตรท่านใดถนัดการข้างฝรั่ง ขอแรงช่วยสืบหาที่มาให้หน่อยก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

หรือว่าต้องรอให้คนสำคัญขอมาจึงจะช่วยทำให้?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๕:๔๖

……………………………………..

พระภิกษุสามเณรเลือกตั้งได้หรือไม่

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *