บาลีวันละคำ

สมาทาน (บาลีวันละคำ 3,637)

สมาทาน

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า สะ-มา-ทาน

รากศัพท์มาจาก สํ + อา + ทาน

(๑) “สํ” 

อ่านว่า สัง เป็นคำจำพวก “อุปสรรค” ในบาลีมีคำ “อุปสรรค” ประมาณ 20 คำ

คำ “อุปสรรค” มีความหมายอย่างไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุปสรรค : (คำนาม) … คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น วัฒน์ = เจริญ อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง ปักษ์ = ฝ่ายปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.”

คำว่า “สํ” นักเรียนบาลีท่องจำว่า “สํ = พร้อม, กับ, ดี” ใช้ในความหมายว่า พร้อมกัน, ร่วมกัน มักแปลงรูปเป็นอย่างอื่น เช่นในที่นี้แปลงนิคหิตเป็น : สํ > สม

(๒) “อา” 

เป็นคำจำพวกอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำว่า “อา = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ

ในที่นี้ “อา” ใช้ในความหมาย “กลับความ” เช่น –

คม” แปลว่า “ไป” 

อาคม” กลับความ แปลว่า “มา” 

ในที่นี้ “ทาน” แปลว่า “ให้” 

อาทาน” กลับความ แปลว่า “เอา” คือ รับเอา ถือเอา

(๓) “ทาน” 

อ่านแบบบาลีว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ทา + ยุ > อน = ทาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป; 

ทาน 2 คือ 

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ 

2. ธรรมทาน ให้ธรรม; 

ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ 

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม 

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทาน ๑, ทาน– : (คำนาม)  การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในสังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม. (ดู สังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม).”

การประสมคำ :

(๑) อา + ทาน = อาทาน 

อาทาน” ในบาลีมีความหมายว่า การถือเอา, การรวบเอา, การจับเอา, การยึดเอา (taking up, getting, grasping, seizing)

อาทาน” ใช้ในความหมายโดยอุปมาหมายถึง การยึดถือ, การเกาะติดอยู่กับโลก, การยึดถือใน [โลกิยารมณ์] (appropriating, clinging to the world, seizing on [worldly objects])

อาทาน” ยังใช้ในความหมายอื่นๆ อีก คือ –

(1) การกิน [อาหาร], การกินหญ้า (taking [food], pasturing)

(2) การรับเอา, การได้มา, การถือเอา, การยึดถือ (getting, acquiring, taking, seizing)

(3) ตัณหา (attachment, clinging)

(๒) สํ + อาทาน แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น

: สํ > สม + อาทาน = สมาทาน บาลีอ่านว่า สะ-มา-ทา-นะ ใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ถือเอา, นำไป (taking, bringing) 

(2) สมาทาน, กระทำ, ได้มา (taking upon oneself, undertaking, acquiring)

(3) ความตั้งใจ, การอธิษฐาน (resolution, vow)

ในภาษาไทย “สมาทาน” อ่านว่า สะ-มา-ทาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สมาทาน : (คำกริยา) รับเอาถือเอาเป็นข้อปฏิบัติ เช่น สมาทานศีล. (ป., ส.).”

…………..

สมาทาน” คำที่เรารู้สึกว่าคุ้นๆ ง่ายๆ แต่พอกระจายความหมายแต่ละส่วนประกอบออกไป ก็อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

บางคำก็ไม่ง่ายจริงๆ เช่น “สมาทานวิรัติ” แค่อ่านให้ถูกก็ไม่ง่ายแล้ว หมายถึงอะไร น่าศึกษาต่อไปอีก – อย่างนี้เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนบาลีให้ถูกวิธี

: ก็คือเรียนวิธีปฏิบัติธรรม

#บาลีวันละคำ (3,637)

28-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *