บาลีวันละคำ

สัมปัตตวิรัติ (บาลีวันละคำ 3,638)

สัมปัตตวิรัติ

ตัดสินใจเฉพาะหน้า

อ่านว่า สำ-ปัด-ตะ-วิ-รัด

แยกศัพท์เป็น สัมปัตต + วิรัติ

(๑) “สัมปัตต”

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปตฺต” อ่านว่า สำ-ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ตฺต

: สํ + ปทฺ = สํปทฺ + ต = สํปทต > สมฺปทต > สมฺปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ถึงพร้อมแล้ว”

“สมฺปตฺต” ใช้เป็นคำกริยาหรือเป็นคุณศัพท์ก็ได้ หมายถึง ถึง, มาถึง, ถึงพร้อม, บรรลุ, ปรากฏ (reached, arrived, come to, present)

(๒) “วิรัติ”

บาลีเป็น “วิรติ” อ่านว่า วิ-ระ-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + รมฺ (ธาตุ = เว้น) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: วิ + รมฺ = วิรมฺ + ติ = วิรมติ > วิรติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเว้นพิเศษ” (คือปกติไม่ได้เว้น การงดเว้นนี้จึงพิเศษกว่าปกติ) (2) “การเว้นต่าง” (คือคนทั่วไปไม่เว้นการกระทำเช่นนั้น การงดเว้นนี้จึงต่างจากคนทั่วไป)

“วิรติ” หมายถึง การเลิกละ, การงดเว้น (leaving off, abstinence); การงดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยทำ (abstaining from)

“วิรติ” (วิ-ระ-ติ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิรัติ” (วิ-รัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิรัติ : (คำกริยา) งดเว้น, เลิก. (คำนาม) การงดเว้น, การเลิก, เช่น มังสวิรัติ สุราวิรัติ. (ป., ส. วิรติ).”

สมฺปตฺต + วิรติ = สมฺปตฺตวิรติ (สำ-ปัด-ตะ-วิ-ระ-ติ) แปลว่า “การงดเว้นสิ่งที่มาถึงเข้า”

“สมฺปตฺตวิรติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมปัตตวิรัติ” อ่านว่า สำ-ปัด-ตะ-วิ-รัด

“สัมปัตตวิรัติ” เป็นหนึ่งในเจตนางดเว้นที่จะไม่ทำบาปอกุศล

ในหลักวิชาทางธรรม ท่านแบ่ง “วิรัติ” เป็น 3 อย่าง คือ –

(1) สัมปัตตวิรัติ (สำ-ปัด-ตะ-วิ-รัด) เว้นได้ซึ่งสิ่งที่ประจวบเข้า (สัมปัตต : “ถึงพร้อม” – reached, arrived, come to, present) = งดเว้นเมื่อมีเหตุมาประจวบเข้าเฉพาะหน้า (ไม่ได้ตั้งเจตนามาก่อน)

(2) สมาทานวิรัติ (สะ-มา-ทาน-นะ-วิ-รัด) เว้นด้วยการสมาทาน (สมาทาน : “ยึดถือไว้พร้อม” – resolution, vow) = ตั้งใจงดเว้นไว้ก่อนแล้ว

(3) สมุจเฉทวิรัติ (สะ-หฺมุด-เฉด-ทะ-วิ-รัด) เว้นได้โดยเด็ดขาด (สมุจเฉท : “ตัดขึ้นพร้อม” – cutting off, abolishing, giving up) = ปฏิบัติถึงขึ้นที่ตัดได้ขาดจริง ไม่เล็งถึงงดเว้นเฉพาะหน้าหรือตั้งเจตนาไว้ก่อน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไรหรือเป็นอย่างไร ก็ไม่ทำ ไม่ล่วงละเมิดเด็ดขาด

สมุจเฉทวิรัติ ในข้อ (3) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เสตุฆาตวิรัติ” (เส-ตุ-คา-ตะ-วิ-รัด) = เว้นได้เหมือนรื้อสะพาน

ขยายความ :

คำว่า “สัมปัตตวิรัติ” อาจแปลได้หลายอย่าง คือ –

๑ แปลว่า “การงดเว้นอันมาถึงเข้า” แปลแบบนี้ “สัมปัตต” เป็นคำขยาย “วิรัติ” หมายความว่า เจตนางดเว้นเกิดขึ้นในฉับพลันทันทีในเวลานั้น ไม่ได้ตั้งใจงดเว้นมาก่อน ทั้งนี้เล็งถึงตัวเจตนาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เล็งไปที่สิ่งหรือเรื่องที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้งดเว้น

๒ แปลว่า “การงดเว้นสิ่งที่มาถึงเข้า” แปลแบบนี้ “สัมปัตต” เป็น “กรรม” ของ “วิรัติ” คือเป็นสิ่งที่ถูก “วิรัติ” งดเว้น แปลแบบนี้ไม่ได้เล็งไปที่ตัวเจตนาที่จะงดเว้น หากแต่เล็งไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้า หมายความว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่ชวนให้ทำหรือเป็นสิ่งที่อยากทำ และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะไม่ทำ ใจหนึ่งอยากทำ แต่ครั้นเห็นสิ่งนั้นมาอยู่ตรงหน้า ก็เกิดเปลี่ยนใจฉับพลัน ไม่ทำ แบบนี้คือ “การงดเว้นสิ่งที่มาถึงเข้า”

๓ แปลว่า “การงดเว้นเมื่อมีเหตุมาถึงเข้า” แปลแบบนี้เล็งถึงเหตุการณ์ 2 อย่างที่มาประจวบกัน คือ หนึ่ง “สัมปัตต” มีเหตุเกิดขึ้นเฉพาะหน้า สอง “วิรัติ” เกิดเจตนางดเว้น = มีเหตุเกิดขึ้นเฉพาะจึงเกิดเจตนางดเว้น

แต่ไม่ว่าจะแปลแบบไหน ลงท้ายการกระทำก็เหมือนกัน นั่นคือ ไม่ได้ตั้งใจจะงดเว้นมาก่อน แต่มางดเว้นเอาเมื่อเกิดเหตุขึ้นเฉพาะหน้า การงดเว้นเช่นนี้แหละท่านเรียกว่า “สัมปัตตวิรัติ”

…………..

ดูก่อนภราดา!

ไม่ทำชั่ว –

: ตัดสินใจชั่ววินาที

: ดีไปชั่วชีวิต

…………..

#บาลีวันละคำ (3,638)

29-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *