บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อพระศาสนา

ผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อพระศาสนา

———————————-

เมื่อคืนนี้ (๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕) ผมกำลังนั่งทำงานอ่านเขียนอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อันเป็นกิจวัตร พระคุณเจ้ารูปหนึ่งโทรศัพท์มาถามว่า พระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ได้ไหม โยมอาจารย์เคยค้นหาเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า

ผมนมัสการท่านไปว่า พระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ไหม กระผมตอบไม่ได้ และยังไม่ได้สืบค้นเรื่องนี้ เพียงแต่ได้ยินกระแสข่าว กำลังตั้งท่าจะหาความรู้อยู่

ต่อจากนั้นก็สนทนาธรรมเชิงปรับทุกข์กันอีกในบางประเด็น และมีความเห็นตรงกันว่า คณะสงฆ์ควรจะมีบทบาทในเรื่องนี้

“คณะสงฆ์ควรจะมีบทบาทในเรื่องนี้” หมายความว่า ปัญหาเกี่ยวกับหลักพระธรรมวินัย คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยให้ชัดเจน ไม่ใช่ท่านเจ้าคุณนี่ว่าอย่างนั้น พระมหานั่นว่าอย่างโน้น อาจารย์โน่นว่าอย่างนี้ ลงท้ายก็หาข้อยุติไม่ได้ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ ได้หรือไม่ได้

คำถามนี้มีต้นเรื่องมาจากพระภิกษุรูปหนึ่ง –

(๑) มีผู้ยกย่องว่าท่านเป็นพระอรหันต์ 

(๒) ต่อมาท่านไปจับต้องร่างกายสตรี 

(๓) แล้วก็มีผู้ชี้แจงว่าท่านเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำไปโดยไม่รู้ตัว

จึงเกิดคำถามว่า พระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่

ผมขอเสนอวิธีคิดดังนี้ 

ข้อ ๑ พระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ – ตัดประเด็นนี้ออกไป อย่าเอามาผูกกัน เรากำลังหาคำตอบว่าพระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่ ไม่ใช่หาคำตอบว่าใครเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่

ข้อ ๒ พระภิกษุรูปนั้นจับต้องร่างกายสตรีจริงหรือไม่อย่างไร – ประเด็นนี้ก็ตัดออกไป อย่าเอามาผูกกัน ใครอยากรู้ก็ไปสืบหาความจริงกันเอง และถ้ายังไม่รู้จริงก็อย่าเอาไปพูดต่อ

โปรดทราบว่า การไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือไม่รู้จริง แต่ชอบเอาไปพูดต่อนี่แหละคือต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง

คนที่มีสติ แม้จะรู้แจ้งเห็นจริงอะไรมา ถ้าจะเอาไปพูดต่อเขาก็ยังต้องใช้วิจารณญาณถึงผลดีผลเสียให้รอบคอบก่อน

เมื่อตัดประเด็นที่ไม่ตรงประเด็นออกไปแล้ว ต่อไปก็ —

ข้อ ๓ ศึกษาให้รู้ชัดถึง “สภาวะของพระอรหันต์” สภาวะของพระอรหันต์นั้นย่อมเป็นสัจธรรม คือเป็นจริงอย่างที่พระอรหันต์ท่านเป็น ไม่ใช่เป็นตามที่มีใครเชื่อว่าเป็น

“สภาวะของพระอรหันต์” คืออย่างไร ศึกษาสืบสวนค้นคว้าหาคำตอบจากหลักฐานคือคัมภีร์พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติ อย่าอ้างความเห็นของตัวบุคคล – ท่านเจ้าคุณนี่ว่าอย่างนั้น พระมหานั่นว่าอย่างโน้น อาจารย์โน่นว่าอย่างนี้ แบบนี้ไม่เอา เอาเฉพาะหลักฐานจากคัมภีร์

ท่านเจ้าคุณ พระมหา ท่านอาจารย์ทั้งหลาย โปรดช่วยกันไปศึกษาหลักจากคัมภีร์เอามาแสดง อย่าเอาความเห็นส่วนตัวมาแสดง

และกรุณาเข้าใจสถานะของ “คัมภีร์” ให้ถูกต้องตรงกัน เพราะจะมีบางท่าน-หลายท่านคอยจ้องจะตำหนิว่า คำก็คัมภีร์ สองคำก็คัมภีร์ ยึดติดคัมภีร์ งมงายกับคัมภีร์ หัวเก่า หัวโบราณ ฯลฯ

คัมภีร์คือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาอาจริยมติเป็นหลักฐานแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เรามีอยู่ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ใครจะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา เป็นสิทธิส่วนตัว แต่เมื่อหลักฐานมีอยู่ก็ต้องยึดหลักฐานไว้ก่อน ถ้าเอาความเห็นความเชื่อของบุคคลเป็นหลัก ก็จะหาข้อยุติไม่ได้เลย เพราะความเห็นของผู้นี้ก็อาจถูกแย้งค้านโดยความเห็นของผู้โน้น นั่นแปลว่าจะต้องเถียงกันไม่รู้จบ แล้วจะตัดสินกันได้อย่างไร

เบื้องต้น ยึดหลักจากคัมภีร์ไว้ก่อน – ตามหลักฐานในคัมภีร์สภาวะของพระอรหันต์คืออย่างนี้ๆ – ส่วนปัญหาที่ว่าคัมภีร์เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ ยกไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง อย่าเพิ่งเอามาปนกัน

ใครรู้ว่าสภาวะของพระอรหันต์มีแสดงไว้ในคัมภีร์ไหนว่าอย่างไร ช่วยกันยกมาแสดง หรือชี้ช่อง ปักป้ายบอกทางให้ไปดู แล้วประมวลไว้เป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจนว่า-สภาวะของพระอรหันต์คืออย่างนี้

ข้อ ๔ ศึกษาให้รู้ชัดถึง “สภาวะของโรคอัลไซเมอร์” ว่าคือโรคอะไร สภาวะของโรคอัลไซเมอร์ย่อมเป็นสัจธรรมเช่นกัน คือเป็นจริงอย่างที่โรคนั้นเป็น ไม่ใช่เป็นตามที่มีใครเชื่อว่าเป็น

ตัวอย่างหัวข้อที่ควรรู้ให้ชัดเจน เช่น อัลไซเมอร์เป็นโรคทางกายหรือเป็นโรคทางจิต โรคทางกายคือเกิดที่อวัยวะร่างกาย คนมีจิตใจดีหรือมีสุขภาพจิตดีขนาดไหนก็เป็นโรคนี้ได้ โรคทางจิตคือเกิดที่ความรู้สึกนึกคิด คนมีสุขภาพกายดีขนาดไหนก็เป็นโรคนี้ได้-อย่างนี้เป็นต้น

ใครรู้ว่าสภาวะของโรคอัลไซเมอร์มีบอกไว้ที่ไหนอย่างไร ช่วยกันยกมาบอกกล่าว หรือชี้ช่อง ปักป้ายบอกทางให้ไปดู แล้วประมวลไว้เป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจนว่า-สภาวะของโรคอัลไซเมอร์คืออย่างนี้

เมื่อได้หลักความรู้ทั้งสองเรื่องนี้ครบถ้วนแล้ว ต่อจากนี้ก็ถึงขั้นตอนพิจารณาวินิจฉัย –

พระอรหันต์ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้อาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้ได้หรือไม่

โรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้อาจเกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้ได้หรือไม่

ถ้าจะให้เป็นหลักฐาน ก็อย่าปล่อยให้เป็นข้อวินิจฉัยหรือความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่วมกันพิจารณาวินิจฉัย แล้วประกาศข้อวินิจฉัยออกมาให้สังคมรับทราบ

ใครไม่เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัย ก็ทำความเห็นแย้งขึ้นมา ด้วยเหตุด้วยผลตามหลักวิชา

พระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่ได้ ก็ได้ข้อยุติ

ผู้คนในสังคมได้ความรู้

มึงพูดที กูพูดที มึงว่าอย่างนี้ กูว่าอย่างนั้น ก็ควรหยุดได้

ผู้ที่ควรเป็นเจ้าภาพทำให้กระบวนการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ก็คือคณะสงฆ์ ก็คือมหาเถรสมาคม

ถ้ามี “กองวิชาการคณะสงฆ์” เหมือนที่มีกองบาลีสนามหลวง และกองธรรมสนามหลวง กองวิชาการคณะสงฆ์ก็จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ตรงๆ เต็มๆ เนื้อๆ

แล้วยังจะสามารถแก้ปัญหา-พระทำอย่างนี้ได้ไหม พระไม่ทำอย่างนี้ผิดไหม ฯลฯ ได้อีกสารพัด ขจัดปัญหา-มึงว่าอย่างโน้น กูว่าอย่างนี้-ไปได้ในตัว

ที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ คนรู้เรื่องพระอรหันต์ก็ไม่มีความรู้เรื่องโรคโรคอัลไซเมอร์ คนที่มีความรู้เรื่องโรคโรคอัลไซเมอร์ก็ไม่รู้เรื่องพระอรหันต์ แล้วต่างคนต่างก็พยายามจะบอกว่าพระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้ หรือพระอรหันต์เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องครบถ้วนนั่นแหละ

หยุดพูดหยุดวิจารณ์ แล้วถอยมาตั้งหลักหาความรู้กันก่อนนะครับ

ขอย้ำยืนยันว่า-งานแบบนี้ คณะสงฆ์/มหาเถรสมาคมต้องเป็นเจ้าภาพ

พระเดชพระคุณที่มีตำแหน่ง “กรรมการมหาเถรสมาคม” ต่อท้ายชื่อ ขอกราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่งว่า โอกาสพิเศษมาถึงแล้วขอรับ-สำหรับการพิจารณาทบทวนว่า จะให้คำว่า “กรรมการมหาเถรสมาคม” มีความหมายเพียงแค่เป็นเกียรติในประวัติชีวิต หรือมีความหมายต่อไปถึงการเป็นผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๖:๑๑

………………………………………..

ผู้อุทิศชีวิตทำงานเพื่อพระศาสนา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *