บาลีวันละคำ

สามัญชน (บาลีวันละคำ 3,630)

สามัญชน

ความหมายกลายเป็นคนที่ไม่เสมอกัน

อ่านว่า สา-มัน-ชน (?)

ประกอบด้วยคำว่า สามัญ + ชน

(๑) “สามัญ” 

บาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง – (ที่ สมาน) เป็น สา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย, แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ เป็น ญฺญ

: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน” หมายถึง (1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same) (2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)

(2) สมณ (สะ-มะ-นะ, นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย (กฎการแปลงทำนองเดียวกับ สมาน + ณฺย)

: สมณ + ณฺย = สมณณฺย > สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)

สามญฺญ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สามัญ” มักใช้ตามความหมายในข้อ (1) ข้างต้นเป็นส่วนมาก 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สามัญ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สามัญ– ๑ : (คำนาม) ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล. (ป. สามญฺญ; ส. ศฺรามณฺย).

(2) สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).

สามัญ” เขียนตามสันสกฤตเป็น “สามานย์” (สา-มาน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สามานฺย : (คุณศัพท์) ‘สามานยะ’ สาธารณะ; common.

(2) สามานฺย : (คำนาม) ‘สามานยะ’ เภท, ประเภท; ชาติธรรม, วิเศษลักษณะ; สามานยทรัพย์; โลกกฤตย์; ชนการย์หรือคณกรรมน์; สากลย์; รูปอลังการศาสตร์; สตรีที่เปนสาธารณะแก่ชายทั้งหลาย, หญิงแพศยา; kind, sort; specific property, generic character, or foremost quality; common property; public affairs or business; totality, the whole; a figure of rhetoric; a female who is common to all men, a harlot.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สามานย์ : (คำวิเศษณ์) เลวทรามตํ่าช้า เช่น ลูกสามานย์ทำร้ายพ่อแม่, มักใช้เข้าคู่กับคำ ชั่วช้า เป็น ชั่วช้าสามานย์. (ส. สามานฺย).

(2) สามานย– : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น สามานยนาม. (ส. สามานฺย; ป. สามญฺญ).

ความหมายโดยสรุปตามที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย :

สามัญ = ปรกติ, ธรรมดา

สามานย์ = ชั่วช้า, เลวทราม

ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “สามัญ

(๒) “ชน” 

ภาษาไทยอ่านว่า ชน บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้ 

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” (ปุงลิงค์) หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ชน ๒, ชน– : (คำนาม) คน (มักใช้ในภาษาหนังสือ).(ป., ส.).”

สามัญ + ชน = สามัญชน 

คำนี้ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็คือ สามญฺญ + ชน = สามญฺญชน อ่านว่า สา-มัน-ยะ-ชะ-นะ แปลว่า “คนสามัญ” “คนทั่วไป” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามัญชน : (คำนาม) คนธรรมดาที่มิใช่เจ้า.”

คำนิยามของพจนานุกรมฯ บอกให้รู้ว่า เป็นความหมายที่ใช้อยู่ในสังคมที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมฯ บอกว่า คำว่า “สามัญชน” เป็นลูกคำของ “สามัญ ๒”

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “สามัญ” ไว้ 2 คำ คือ “สามัญ– ๑” และ “สามัญ ๒” (ดูข้างต้น)

สามัญ– ๑” มีขีด – หลัง หมายถึงใช้ในกรณีที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย บอกคำอ่านว่า สา-มัน-ยะ- เป็นคำนาม บอกความหมายว่า ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล 

ตามข้อมูลนี้ “สามัญผล” ต้องอ่านว่า สา-มัน-ยะ-ผน ไม่ใช่ สา-มัน-ผน

สามัญ ๒” ไม่มีขีด – หลัง พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า สา-มัน ไม่ใช่ สา-มัน-ยะ เป็นคำวิเศษณ์ บอกความหมายว่า ปรกติ, ธรรมดา

ตามข้อมูลนี้ เมื่อ “สามัญชน” แปลว่า คนธรรมดา เป็นลูกคำของ “สามัญ ๒” ก็ต้องอ่านว่า สา-มัน-ชน ไม่ใช่ สา-มัน-ยะ-ชน 

เป็นอันว่า :

“สามัญผล” อ่านว่า สา-มัน-ยะ-ผน ไม่ใช่ สา-มัน-ผน

สามัญชน” อ่านว่า สา-มัน-ชน ไม่ใช่ สา-มัน-ยะ-ชน 

ถามว่า “สามัญชน” อ่านว่า สา-มัน-ยะ-ชน จะผิดหรือไม่ 

ตอบว่า ว่าตามหลักภาษาย่อมไม่ผิด เพราะ “สามัญ” และ “ชน” เป็นคำบาลีทั้งคู่ เมื่อสมาสสนธิกันก็ควรอ่านตามหลักการอ่านคำสมาสสนธิ คืออกเสียงสระของพยางค์ท้ายคำหน้าด้วย 

สามัญ” รูปคำเดิมคือ “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ (ออกเสียง -ยะ พยางค์ท้าย) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สามัญ” ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายก็ต้องอ่านว่า สา-มัน-ยะ เท่าการอ่านในรูปคำเดิม “สามัญชน” จึงอ่านว่า สา-มัน-ยะ-ชน ได้ และถ้าถือเคร่งตามหลักภาษาก็ต้องอ่านว่า สา-มัน-ยะ-ชน ไม่ใช่ สา-มัน-ชน

คำทั่วไป พจนานุกรมฯ จะบอกคำอ่านไว้ด้วย คำที่อาจจะมีปัญหาในการอ่าน เช่น “สามัญชน” แต่ไม่บอกคำอ่านไว้ ก็ต้องใช้หลักภาษาเข้าตัดสินว่าควรอ่านอย่างไร

เท่าที่ได้ยินอ่านกันทั่วไป “สามัญชน” มีแต่คนอ่านว่า สา-มัน-ชน ทั้งนั้น เพราะคนทั่วไปมักอ่านตามสะดวกปากมากกว่าที่จะคิดถึงหลักภาษา ใครอ่านว่า สา-มัน-ยะ-ชน ก็คงจะมีคนคิดว่าผิดปกติ พอดีพอร้ายอาจะนึกว่าเป็นการอ่านแบบ “ดัดจริต” ไปเลยก็เป็นได้

ในสังคมที่คนไม่นิยมหาความรู้ จึงต้องตั้งสติให้ดีว่าจะยึดอะไรเป็นหลัก ระหว่างความนิยมของผู้คนกับความถูกต้องดีงาม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหรือเป็นสามัญชน

: โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลมีเท่าเทียมกัน

#บาลีวันละคำ (3,630)

21-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *