บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิถีชีวิตสงฆ์ (๑)

วิถีชีวิตสงฆ์ (๒)

วิถีชีวิตสงฆ์ (๒)

————–

เมื่อศึกษาความเกิดขึ้นแห่งวิถีชีวิตสงฆ์แล้วจะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตสงฆ์เกิดขึ้นเพื่อการครองชีวิตที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรม

พูดสั้นๆ ออกบวชเพราะอยู่เป็นชาวบ้านปฏิบัติธรรมไม่สะดวกไม่โปร่งใจ

วิถีชีวิตสงฆ์จึงมีเนื้อหาสาระอยู่ที่การปฏิบัติธรรม

ว่าโดยเนื้องานก็มี ๒ ส่วน คือ

๑ ศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก และบอกกล่าวสั่งสอนต่อไป

๒ ปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติจิตภาวนา

นี่คือ “งาน” ของผู้เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์

ไม่ทำสิ่งที่ห้ามทำและดำรงวิถีชีวิตสงฆ์ นั่นคือการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือเตรียมความพร้อมเพื่อทำงาน ๒ เรื่องนี้ 

ไม่ใช่เตรียมความพร้อมไว้เฉยๆ ว่างๆ เตรียมพร้อมแล้ว แต่ไม่ทำอะไรต่อไปอีก

………………

๒๕๐๐ ปีผ่านไป เป้าหมายของวิถีชีวิตสงฆ์เบี่ยงเบนไป เพราะไม่ศึกษาสืบทอดเรียนรู้ให้เข้าใจว่าเหตุผลที่ถูกต้องในการบวชในพระพุทธศาสนาคืออะไร

และที่หนักกว่านั้นก็คือมีการอ้างหรือ “สร้าง” เหตุผลใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วเราก็พากันยอมรับว่าเหตุผลที่อ้างใหม่ๆ นั้นถูกต้อง เช่น บวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา บวชเพื่อรักษาประเพณีหรือบวชตามประเพณีเป็นต้น 

เมื่ออ้างและยอมรับเหตุผลใหม่ๆ แบบนี้ บวชแล้วก็ไม่ต้องศึกษาพระธรรมวินัยและไม่ต้องปฏิบัติจิตภาวนา 

และเมื่อคิดเห็นแบบนี้กันมากเข้านานเข้า การไม่ศึกษาพระธรรมวินัยและไม่ปฏิบัติจิตภาวนาก็กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครเห็นว่าเสียหายอะไร 

ชาววัดเองก็ไม่ว่าอะไรกัน

ชาวบ้านไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่รู้เรื่องอะไรด้วย

………………

เมื่อคณะสงฆ์จัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณร เหตุผลใหม่ของการบวชก็เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง คือ บวชเพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนให้มีวุฒิทางการศึกษาเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านเขาเรียนกัน ยังแถมด้วยว่า เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่พลเมืองที่ด้อยโอกาส และเป็นการช่วยรัฐจัดการศึกษาให้แก่พลเมืองของประเทศอีกทางหนึ่ง

ความหมายของคำว่า “บวชเรียน” ที่แต่เดิมหมายถึงเรียนพระธรรมวินัย ก็เคลื่อนที่ไป กลายเป็นบวชเพื่อเรียนวิชาความรู้เช่นเดียวกับการศึกษาที่รัฐจัดให้แก่พลเมืองทั่วไป ต่างกันที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนทั่วไป แต่คณะสงฆ์จัดให้แก่พระภิกษุสามเณร แต่ผลที่ได้เหมือนกัน คือได้วุฒิการศึกษาชนิดเดียวกัน มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกัน

การศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ และการปฏิบัติมุ่งไปที่การขัดเกลาตนเองจนถึงได้บรรลุมรรคผล ก็คลาดเคลื่อนไปจากเดิมจนแทบจะไม่เห็นร่องรอย

ในขณะที่งานในวิถีชีวิตสงฆ์ซึ่งเนื้อแท้ดั้งเดิมคือการปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนถึงได้บรรลุมรรคผลค่อยๆ เลือนรางไปนั่นเอง ก็เกิดงานใหม่ๆ ขึ้น งานหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้นก็คือ งานช่วยเหลือสังคม ดังที่คณะสงฆ์เองถึงกับกำหนดเป็นสายงานใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิม

สายงานเดิมของคณะสงฆ์ คือ การปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ (สาธารณูปการ: การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทางศาสนา

สายงานที่เพิ่มขึ้นใหม่ ๒ สาย คือ การศึกษาสงเคราะห์ และการสาธารณสงเคราะห์

เนื้องานทั้งสองสายนี้มิใช่อื่นไกลเลย คืองานช่วยเหลือสังคมโดยตรงนั่นเอง

เหตุผลของการบวชก็ยิ่งเคลื่อนที่ไปจากเดิมมากขึ้นทุกที เป้าหมายของการบวชแต่ดั้งเดิมคือบวชเพื่อขัดเกลาตนเองจนถึงได้บรรลุมรรคผล ก็ยิ่งห่างไกลออกไป จนแทบจะไม่มีใครนึกถึง

แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เกิดแนวคิดหรือค่านิยมขึ้นใหม่ว่า “อย่าเกณฑ์ให้พระไปนิพพานหมดเลย ให้พระอยู่ช่วยสังคมกันบ้างเถิด”

แนวคิดหรือค่านิยมนี้กำลังเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

พระช่วยสังคม ชาวบ้านชื่นชมยินดี

ชาววัดก็เห็นดีไปกับชาวบ้าน

………………

มีพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก เป็นพระพุทธดำรัสโดยตรง ตรัสอุปมาผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำในแม่น้ำคงคา ซึ่งถ้าไม่มีเหตุขัดข้อง ท่อนไม้นั้นก็จะลอยออกทะเลไปในที่สุด

ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องก็จะสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลได้ที่สุด-อันเป็นเป้าหมายของการออกบวชหรือเป้าหมายของการเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์

เหตุขัดข้องที่เป็นเหตุให้ท่อนไม้ลอยไปไม่ถึงทะเลมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นก็คือ มีคนมาลากเอาไปเสียก่อน

“มีคนมาลากเอาไปเสียก่อน” คำบาลีว่า “มนุสฺสคฺคาโห” แปลตามศัพท์ว่า “การจับเอาของมนุษย์” แปลให้ชัดกว่านี้คือ “ถูกคนมาเก็บไป”

เหตุขัดข้องที่เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ไปไม่ถึงมรรคผลก็มีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นก็คือ “มนุสฺสคฺคาโห”

ขออัญเชิญพระพุทธพจน์ในพระสูตรที่ตรัสอธิบายความหมายของคำว่า “มนุสฺสคฺคาโห” มาแสดงไว้ในที่นี้ทั้งบาลีและคำแปล 

ขอความกรุณาอย่าได้รังเกียจภาษาบาลีว่าเป็น “ภาษาแขกโบราณ” อย่างที่บางท่านเรียกขานนั่นเลย

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ท่านใช้บันทึกพระธรรมวินัย จึงเป็นภาษาของพระพุทธเจ้าโดยแท้

เวลาอ่านคำบาลีขอให้ตั้งอารมณ์ว่ากำลังสวดมนต์ ถ้าท่านเชื่อว่าสวดมนต์ได้บุญ การอ่านคำบาลีที่ยกมาจากพระไตรปิฎกก็ได้บุญเท่ากับสวดมนต์นั่นเอง

ความในพระสูตรเป็นดั่งนี้ –

………………………………………

กตโม  จ  ภิกฺขุ  มนุสฺสคฺคาโห  ฯ

ดูก่อนภิกษุ ถูกคนมาเก็บไปเป็นไฉน?

อิธ  ภิกฺขุ  คิหีหิ  สํสฏฺโฐ  วิหรติ  สหนนฺทิ  สหโสกี

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกชาวบ้าน 

สุขิเตสุ  สุขิโต

เขาสุขก็สุขด้วย 

ทุกฺขิเตสุ  ทุกฺขิโต

เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย

อุปฺปนฺเนสุ  กิจฺจกรณีเยสุ  อตฺตโน  โยคํ  อาปชฺชติ  ฯ

เขามีกิจกรณีย์เกิดขึ้น ก็เอาตัวเข้าร่วมไปกับเขาด้วย

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขุ  มนุสฺสคฺคาโห  ฯ

ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าถูกคนมาเก็บไป

ที่มา: ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๓๒๒-๓๒๔

………………………………………

การปฏิบัติที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่รู้ คือไม่รู้ว่าข้อนี้มีพระวินัยบัญญัติห้ามไว้ ไม่รู้ว่าเรื่องนี้มีพระสูตรตรัสสอนไว้

ความไม่รู้มีสาเหตุมาจากการไม่ศึกษาเรียนรู้ให้ทั่วถึง

การไม่ศึกษาเรียนรู้ให้ทั่วถึงจึงเป็นรากเหง้าใหญ่ของปัญหา

เมื่อปฏิบัติขัดแย้งกับพระธรรมวินัยกันมากเข้านานเข้า ต่อมาแม้จะรู้ว่าข้อนี้มีพระวินัยบัญญัติห้ามไว้ เรื่องนี้มีพระสูตรตรัสสอนไว้ แต่ก็ไม่เห็นโทษ กลับเห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะทำกันทั่วไป

เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างก้ำกึ่ง หมายความว่า แม้จะปฏิบัติขัดแย้งกับพระธรรมวินัย และยอมรับว่าทำผิด แต่ก็ยังคิดที่จะทำต่อไป ไม่งด ไม่ลด ไม่เลิก เหตุผลสำคัญคือเป็นการช่วยสังคม

ในอนาคต เมื่อค่านิยม “พระช่วยสังคมเป็นพระดี” เข้มข้นถึงขนาด ก็จะมีผู้ออกมาบอกว่า พระวินัยข้อนั้นพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ไม่เหมาะ พระธรรมข้อนั้นพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ไม่ถูก ที่พระทำอย่างนี้ๆ เป็นการถูกต้องกว่า

เวลานี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะความเคารพหนักแน่นในพระธรรมวินัยยังมีตกค้างอยู่ในใจมากพอสมควร

แต่ในอนาคตอีกไม่นาน ถึงขั้นนั้นแน่

ทางแก้คือ ถอยกลับไปศึกษาเหตุผลต้นเค้าอันเป็นรากเหง้าเป้าหมายของการออกบวชหรือการเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ แล้วดำรงเป้าหมายนั้นไว้

จะช่วยสังคมหรือจะทำอะไรอีกก็ทำไป แต่ต้องไม่ทิ้งเป้าหมายเดิม และต้องซื่อตรงต่อหลักการ –

ทำไม่ได้ อย่าเข้าไป

ทำไม่ไหว ถอยออกมา

แต่ถ้าไม่ซื่อตรงต่อหลักการ –

ทำไม่ได้ ไม่เป็นไร

ทำไม่ไหว ไม่ต้องทำ

วิถีชีวิตสงฆ์ก็จะวิปริตไปเรื่อยๆ แล้วก็จะพากันเห็นความวิปริตนั้นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา พร้อมกับพยายามหาเหตุผลมารองรับ เช่นบอกว่านั่นไม่ใช่วิปริต แต่เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

ถึงตอนนี้ ที่บอกว่า-การไม่ศึกษาเรียนรู้ให้ทั่วถึงเป็นรากเหง้าใหญ่ของปัญหา ก็อาจจะต้องพูดใหม่ว่า ทิฏฐิ-คือความคิดเห็น-นั่นต่างหากที่เป็นรากเหง้าใหญ่ของปัญหา

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๘:๓๑

…………………………………….

วิถีชีวิตสงฆ์ (๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

วิถีชีวิตสงฆ์ (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *