วิถีชีวิตสงฆ์ (๑)
วิถีชีวิตสงฆ์ (๓)
วิถีชีวิตสงฆ์ (๓)
————–
มีบางเรื่องบางประเด็นที่ผู้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์และผู้ที่มองเข้าไปในวิถีชีวิตสงฆ์ควรทำความเข้าใจให้แจ่มชัด
๑ การบวชเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่สิทธิ
ครั้งหนึ่งเคยได้ยินสตรีที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณีอ้างเหตุผลว่า ในเมื่อผู้ชายมีสิทธิ์บวชเป็นพระได้ ผู้หญิงก็ต้องมีสิทธิ์บวชเป็นภิกษุณีได้เช่นกัน
ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การบวช-ไม่ว่าจะบวชเป็นพระภิกษุหรือบวชเป็นภิกษุณี-ไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นความสมัครใจ
สิทธิ หมายถึง ต้องได้ทำ-ถ้าอยากทำ ต้องได้มี-ถ้าอยากมี ต้องได้เป็น-ถ้าอยากเป็น
ผู้ที่จะบวชได้ อันดับแรกต้องมีคุณสมบัติตามที่พระวินัยกำหนด ข้อนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คุณสมบัติหรือเงื่อนไขอื่นๆ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักของพระวินัย
นอกจากนี้ยังจะต้องมีคุณสมบัติหรือเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่คณะสงฆ์หรือทางการบ้านเมืองกำหนดย่อยลงไปอีก ทั้งนี้เพราะการบวชเป็นเรื่องของคน คนต้องอยู่กันเป็นสังคม และการอยู่กันเป็นสังคมต้องมีกฎกติกา
สมมุติว่า ทางบ้านเมืองออกข้อกำหนดว่า ผู้ที่จะบวชต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ผู้มีอายุเกิน ๖๐ ห้ามบวช
ใครจะบวช แม้มีคุณสมบัติตามพระวินัยครบถ้วนแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกานี้ด้วย
มีคุณสมบัติทุกอย่างพร้อมจะบวชได้แล้ว ยังจะต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจอีกด้วย คำว่า “ความสมัครใจ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความเต็มใจหรือความพอใจ แต่หมายถึง “ยอมบวช” หมายความว่า ไม่ว่าอยากจะบวชเองหรือมีบุคคลหรือเหตุการณ์บีบบังคับให้ต้องบวชก็ตาม ถ้าไม่ยอมบวช การบวชก็มีขึ้นไม่ได้ ที่บวชได้ก็เพราะยอมบวช ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ว่าใครอยากบวชก็ต้องได้บวชหรือบวชได้ทุกคน เพราะฉะนั้น การบวชจึงไม่ใช่สิทธิ และจึงอ้างไม่ได้ว่าฉันมีสิทธิ์บวช
๒ พระพุทธศาสนามิได้เกิดมีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวโลก
พระพุทธศาสนาเกิดมีขึ้นเพื่อเสนอหนทางปฏิบัติขัดเกลาตนเอง ดังนั้น การเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์จึงไม่ใช่เข้ามาเพื่อทำงานตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน
เวลานี้มีข้ออ้างว่า พระพุทธศาสนาต้องอำนวยประโยชน์ให้สังคม วัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งอำนวยประโยชน์ให้สังคม พระต้องอยู่กับสังคม เพราะฉะนั้น เมื่อชาวบ้านต้องการอย่างนี้ พระจึงมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน
ลองสังเกตดู วัดที่มีคน “ขึ้น” หรือหลั่งไหลเข้าไปอย่างคับคั่งก็คือวัดที่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ดี และชาวบ้านเหล่านั้นก็เข้าไปในวัดเพื่อไปรับการตอบสนองจากวัดเป็นส่วนใหญ่
จนกระทั่งเราวัดความสำเร็จของวัดจากจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้าไปรับการตอบสนอง
วัดที่ชักชวนคนให้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมมีคนเข้าวัดวันละเป็นสิบ
แต่วัดที่ทำพิธีกรรมตอบสนองความต้องการของชาวบ้านมีคนเข้าวัดวันละเป็นหมื่น
เมื่อเอาการตอบสนองความต้องการของชาวบ้านเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จเช่นนี้ จึงเป็นภาพลวงตาลวงใจลวงความคิดว่า ผู้เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ทำหน้าที่มีบทบาทตอบสนองความต้องการของชาวบ้านเป็นการถูกต้องแล้ว
แทนที่จะใช้หลักพระธรรมวินัยนำชาวบ้าน ก็กลายเป็นวิ่งตามกิเลสชาวบ้านไป
๓ แนวความคิดขอสิทธิ์ทางการเมือง
มีการพูดกันมากถึงสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์ เริ่มด้วยการชี้ไปที่-พระภิกษุสามเณรถูกจัดรวมไว้ในกลุ่มคนวิกลจริต คนบ้าใบ้ไม่สมประกอบ ซึ่งไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ชี้ถึงความไม่เสมอภาค ชี้ถึงการเมืองที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับพระ แล้วสรุปว่า-เพราะฉะนั้น พระจึงควรมีสิทธิ์ทางการเมือง
การเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์เป็นการประกาศสละสิทธิ์แบบชาวบ้านอยู่แล้วในตัว ทำไมจะขอกลับไปใช้สิทธิ์แบบชาวบ้านอีก?
ถ้าพระขอมีสิทธิ์ฉันข้าวเย็นเหมือนชาวบ้าน จะว่าอย่างไรกัน?
ในพระวินัยปิฎกมีสำนวนบาลีที่มีความหมายว่า “เหมือนชาวบ้าน” อยู่หลายแห่ง
“เหมือนชาวบ้าน” ภาษาบาลีท่านว่า –
ยเถว มยํ … เอวเมวิเม … (ยะเถวะ มะยัง … เอวะเมวิเม)
แปลว่า – พวกเรา-อย่างไร … พระพวกนี้ก็-อย่างนั้น
สรุปว่า “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน”
ในพระวินัยปิฎกมีตัวอย่างที่ชาวบ้านตำหนิ “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” หลายเรื่อง ถ้ายกพฤติการณ์ตามพระไตรปิฎกออก แล้วเอาพฤติการณ์ในปัจจุบันเข้าไปใส่แทน ก็จะมองเห็นภาพ “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” ได้เป็นร้อยๆ เรื่อง
การแก้ปัญหา-การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับพระ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่น่าจะไม่ใช่แก้ด้วยวิธีให้พระมีสิทธิทางการเมือง เช่นให้พระมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นต้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นพระก็จะ “เหมือนชาวบ้าน” หนักเข้าไปอีก แทนที่จะแก้ปัญหาก็จะกลายเป็นเพิ่มปัญหา
และปัญหาหนึ่งที่เพิ่มก็คือ-เท่ากับไปกระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการมีสิทธิ์ทำอะไรเหมือนชาวบ้าน ทำไมไม่ออกไปเป็นชาวบ้าน จะต้องเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ทำไม
คำถามทำนองนี้เท่ากับสร้างและเพิ่มความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อกันขึ้นมาอีก
๔ ฆราวาสปกครองพระ
คำนี้เป็นภาพรวมของการที่การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับพระ แล้วก็มีผู้สรุปว่า-ฆราวาสปกครองพระ
“ฆราวาสปกครองพระ” ควรเป็นภาพที่ชัดเจน ถ้าแจกแจงเป็นเรื่องๆ ไปเลยก็จะช่วยให้เห็นชัดขึ้น ดีกว่าสรุปลอยๆ หรือพูดคลุมๆ ไปแบบนี้
ทำรายการหรือ list ออกมาเลยว่าแบบนี้คือฆราวาสปกครองพระ เช่น –
(๑) พระภิกษุที่อายุครบเกณฑ์ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเป็นทหารกองประจำการ-ที่เราเรียกกันว่าไล่ทหาร ถ้าจับได้ใบแดงก็ต้องสึก-นี่คือฆราวาสปกครองพระ
ไม่ควรเป็นแบบนี้ แต่ควรเป็นแบบไหน เสนอแนะมา
(๒) ผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนจึงจะบวชได้-นี่คือฆราวาสปกครองพระ
ไม่ควรเป็นแบบนี้ แต่ควรเป็นแบบไหน เสนอแนะมา
(๓) ….
(๔) ….
(๕) ….
ฯลฯ ฯลฯ
ใครเห็นว่าอะไรอีกที่ฆราวาสปกครองพระ แจกแจงออกมาเป็นเรื่องๆ ไป ทุกฝ่ายจะมองเห็นตัวปัญหาตรงกันและช่วยกันแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช่พูดคลุมๆ ว่า “ฆราวาสปกครองพระ” แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ตรงไหน อย่างไร
๕ อริยสงฆ์หรือปุถุชน
ปัจจุบันนี้มีการยกย่องพระว่าเป็นอริยสงฆ์กันอยู่เสมอ เมื่อไม่นานมานี้ผมเห็นข่าวประชาสัมพันธ์ที่ไหนสักแห่งบอกว่า เชิญร่วมทำบุญตักบาตรพระอริยสงฆ์ ๑๒๕๐ รูป แสดงว่าพระอริยสงฆ์ยังมีอยู่มากพอสมควร หาได้ไม่ยาก
แต่ในขณะเดียวกันนั่นเอง ถ้าใครกล่าวตำหนิพระว่าปฏิบัติย่อหย่อนไม่เคร่งครัด ก็จะมีคนออกมาบอกว่า สมัยนี้มีแต่พระปุถุชนทั้งนั้น จะไปเกณฑ์ให้ท่านเคร่งครัดเหมือนพระอริยะได้อย่างไร แค่มีพระไว้เฝ้าวัด ไว้ให้ญาติโยมได้ทำบุญก็พอแล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนา
นี่เป็นตัวอย่างที่เตือนใจว่า เวลาฟังใครพูดอะไรเกี่ยวกับพระต้องมีปัญญาและมีสติด้วย มิเช่นนั้นก็จะหลงทางได้ง่ายๆ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๑๘:๔๘
……………………………………………….
วิถีชีวิตสงฆ์ (๑)
……………………………………………….