ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
—————————-
เมื่อได้มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้เห็นการยกป้ายถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชในที่ทั่วไป
คำหลักในป้ายนั้นก็คือ –
“ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา”
ใครที่เห็นข้อความนี้ย่อมจะเข้าใจตรงกันว่าเป็นคำที่แปลงมาจาก “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา” นั่นเอง
นั่นคือ ผู้ใช้คำถวายพระพรนี้เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินมีสถานะเช่นใด สมเด็จพระสังฆราชก็มีสถานะเช่นนั้น
พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประมุขของอาณาจักร คือประเทศชาติและประชาชนเช่นใด
สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงเป็นประมุขของพุทธจักร คือคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเช่นนั้น
ภาพประกอบเรื่องนี้ ที่เป็นภาพป้ายของเทศบาลเมืองราชบุรี ลงท้ายว่า “เกล้ากระหม่อม เทศบาลเมืองราชบุรี และพสกนิกรชาวราชบุรี” ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่ามีผู้เข้าใจไปถึงขั้นที่ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นผู้ปกครองประชาชนเช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินนั่นเลย ประชาชนจึงมีฐานะเป็น “พสกนิกร” ของสมเด็จพระสังฆราชด้วย
ความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเลย คนเขียนถ้อยคำของเทศบาลเมืองราชบุรีใช้คำเช่นนั้นด้วยความเข้าใจผิดไปเอง เพราะสมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองประชาชนเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นประชาชนจึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นพสกนิกรของสมเด็จพระสังฆราชแต่ประการใด
——————-
“ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา” เป็นภาษาบาลี แปลตามตัวว่า “ขอพระมหาราชาจงทรงพระชนมายุยืนนาน”
ก็คือที่เราพูดกันสั้นๆ ว่า “ทรงพระเจริญ” นั่นเอง
คำว่า “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” แปลว่า “ขอสมเด็จพระสังฆราชจงทรงพระชนมายุยืนนาน”
คำถวายพระพรและคำแปลนี้ถ้าฟังผ่านๆ เพลินๆ ไป ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะความรู้สึกของคนทั่วไปเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินกับสมเด็จพระสังฆราชทรงอยู่ในสถานะเดียวกันดังกล่าวแล้ว คำถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินก็ย่อมแปลงมาเป็นคำถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชได้โดยไม่ขัดเขิน
แต่ถ้าฉุกคิดก็จะเห็นความไม่ปกติ
——————-
เบื้องต้น ต้องเข้าใจก่อนว่าความเป็นพระเจ้าแผ่นดินกับความเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ “หลักนิยม” หรือหลักการ หรืออุดมคติ คือที่ไปที่มาและจุดหมายปลายทางแตกต่างกันมาก
สัจธรรมของความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็คือ มีตำแหน่งเดียว แต่มีคนอยากเป็นหลายคน และการที่จะได้ขึ้นไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นมักจะต้องฝ่าด่านอำนาจต่างๆ เป็นอันมาก
แปลว่าต้องใช้อำนาจปราบอำนาจ ใครมีอำนาจเหนือกว่า คนนั้นก็ชนะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ความเป็นมาในอดีตย่อมเป็นเช่นนั้น แม้ในปัจจุบันจะมีกฎเกณฑ์การสืบอำนาจที่ชัดเจนและรัดกุม แต่แม้กระนั้นเงาของอำนาจต่างๆ ก็ยังมีแฝงอยู่เสมอ ไม่ได้หายไปไหน
ในประวัติศาสตร์ของเราเองก็ปรากฏชัดว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องล้างเผ่าพันธุ์ฝ่ายตรงข้ามจนสิ้นซาก เพราะถ้าขืนปล่อยเชื้อให้เหลือไว้ก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นสุข
สรุปเป็นภาพรวมว่า ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ต้องรักษาชีวิตให้อยู่รอดจึงจะมีสิทธิ์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ดังนั้น การที่ยังมีชีวิตรอดอยู่ได้จึงเป็นยอดปรารถนาของพระเจ้าแผ่นดิน
ข้างประชาชนในปกครอง ถ้าได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ก็ย่อมปรารถนาให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นครองแผ่นดินไปนานๆ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องมีพระชนมายุยืนนาน
ดังนั้น การที่มีชีวิตรอดอยู่ได้ยาวนานจึงเป็นยอดปรารถนาทั้งของพระเจ้าแผ่นดิน และของประชาชนที่ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขในแผ่นดิน
นี่คือที่มาของคำถวายพระพร “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา”
——————-
แต่สมเด็จพระสังฆราชมิได้มีที่มาหรือภูมิหลังเป็นเช่นนั้น
สมเด็จพระสังฆราชเป็นตำแหน่งที่ทางบ้านเมืองสถาปนาให้เป็น มิใช่สถาปนาพระองค์เอง หรือคณะสงฆ์เป็นผู้คัดเลือกกันขึ้นมาเอง สมเด็จพระสังฆราชไม่ต้องฝ่าฟันกับอำนาจจากฝ่ายใดๆ เพื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่ง
และโดยสถานภาพของภิกษุ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็มิใช่ตำแหน่งที่จะให้คุณให้โทษแก่ใคร หรือแม้แต่เป็นตำแหน่งที่จะอำนวยผลประโยชน์ใดๆ ให้แก่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นเอง
สารัตถะหรือเป้าหมายของตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการได้เป็นอยู่นานๆ หรือการมีอายุยืนนาน นี่เป็นจุดหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชต่างจากพระเจ้าแผ่นดิน
แต่ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ความเป็นพระภิกษุ
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช มาตรา ๑๑ บัญญัติไว้ว่า –
สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก
จะเห็นได้ว่า มรณภาพ (คือตาย) ลาออก และทรงพระกรุณาโปรดให้ออก ( = ผู้มีอำนาจสั่งให้ออก) ทั้ง ๓ กรณีนี้เป็นหลักที่ใช้กับตำแหน่งทั่วไปทั้งทางโลกทางธรรม
แต่ที่พิเศษมีเฉพาะในทางพระศาสนาก็คือ “ความเป็นพระภิกษุ”
นั่นคือ ผู้ที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น
เมื่อใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุ
เมื่อนั้นก็ต้องพ้นจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไปด้วย
เห็นได้ชัดแล้วใช่ไหม ที่ผมว่า-ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ความเป็นพระภิกษุ
แต่ที่สำคัญที่สุดของความเป็นพระภิกษุก็อยู่ตรงที่ดำรงมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย ตลอดจนความเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติ
หากสมเด็จพระสังฆราช “ทีฆายุโก โหตุ … ทรงพระชนมายุยืนนาน” ตามที่ยกป้ายถวายพระพร แต่-สมมุติว่า-มิได้ทรงดำรงมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย จะเป็นด้วยทรงย่อหย่อนในพระธรรมวินัยก็ตาม หรือถึงขั้นพ้นจากความเป็นพระภิกษุก็ตาม การทรงมีพระชนมายุยืนนานจะมีความหมายอะไร?
——————-
โปรดสังเกตว่า กฎหมายใช้คำรอบคอบอย่างยิ่ง คือ “พ้นจากความเป็นพระภิกษุ” ไม่ได้ใช้คำระบุกิริยาเฉพาะ เช่น “ลาสิกขา” ตามที่หลายคนนึกว่าน่าจะระบุตรงๆ เช่นนั้น
ทั้งนี้เพราะการ “พ้นจากความเป็นพระภิกษุ” นั้นมิได้ตัดสินกันที่ “ลาสิกขา” อย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน
ภิกษุกระทำการล่วงละเมิดสิกขาบทเข้าองค์ประกอบถึงขั้นพ้นจากความเป็นพระภิกษุ แม้จะยังนุ่งสบงทรงจีวรอยู่ คือยังไม่ได้ “ลาสิกขา” ตามที่คนทั่วไปเข้าใจกันก็ตาม แต่นั่นก็คือเข้าถึงภาวะ “พ้นจากความเป็นพระภิกษุ” ไปเรียบร้อยแล้ว
นี่คือความละเอียดรอบคอบของกฎหมายที่สอดรับกับพระธรรมวินัย
——————-
ในพระไตรปิฎก คัมภีร์พระธรรมบท มีพระพุทธพจน์ตรัสว่า –
……………
คนอายุยืนตั้งร้อยปี แต่ทุศีล ปัญญาทราม เกียจคร้าน ไม่เห็นความเกิดดับ ไม่เห็นอมฤตบท ไม่เห็นอุดมธรรมคือพระนิพพาน …
คนมีศีล มีปัญญา มีความเพียร เห็นความเกิดดับ เห็นอมฤตบท เห็นอุดมธรรมคือพระนิพพาน มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวประเสริฐกว่า
……………
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในระบบพระธรรมวินัย ความมีอายุยืนนานไม่สำคัญเท่าความดำรงมั่นคงและเจริญงอกงามอยู่ในพระธรรมวินัย
ถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชให้พระองค์ท่าน “ทีฆายุโก โหตุ … ทรงพระชนมายุยืนนาน” แม้จะฟังดูดีในทางโลก แต่ก็ไม่ใช่ถวายสิ่งที่ดีที่สุดในทางธรรม
——————-
ถ้าถามว่า-แล้วควรจะใช้คำอย่างไร
ผมก็ไม่ทราบว่าควรจะใช้คำว่าอย่างไร
แต่ได้เคยเห็นที่โบราณาจารย์ท่านแสดงมุทิตาจิตกับพระสงฆ์ ท่านกล่าวในทำนองนี้ —
……………
วุฑฺฒึ วิรุฬฺหิ เวปุลฺลํ
ปปฺโปตุ พุทฺธสาสเน
(วุฑฒิง วิรุฬหิ เวปุลลัง
ปัปโปตุ พุทธะสาสะเน)
แปลว่า –
ขอจงประลุถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์
ในพระพุทธศาสนา เทอญ
……………
เป็นใจผม ผมจะใช้คำว่า –
“วิรุฬฺโห โหตุ สาสเน”
(ขอทรงเจริญงอกงามในพระศาสนาเทอญ)
อธิบายว่า-จะทรงมีพระชนมายุนานแค่ไหนก็สุดแต่บุญบารมีของพระองค์ แต่ตลอดเวลาที่ทรงมีพระชนม์อยู่นั้น ขอให้ทรงเจริญงอกงามในพระศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ
อนึ่ง คำว่า “เจริญงอกงามในพระศาสนา” นั้น ไม่ได้หมายความว่ามีฐานะมีตำแหน่งสูงขึ้น เช่นเป็นพระธรรมดาก็ขยับขึ้นพระมหา
จากพระมหาเจริญขึ้นเป็นท่านเจ้าคุณ
เป็นชั้นราช
ชั้นเทพ
ชั้นธรรม …
เป็นสมเด็จ
เป็นสมเด็จแล้วก็เจริญขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่แล้วก็ให้เจริญขึ้นเป็นอภิมหาสังฆราช
ไม่ได้หมายความอย่างนี้เลย อย่าได้เข้าใจผิด
แต่หมายความว่า ให้เจริญในทางธรรมปฏิบัติ คือรักษาพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ผุดผ่อง เจริญในมรรคผลไปตามลำดับ จนประลุถึงความพ้นทุกข์เป็นปริโยสาน-หมายความอย่างนี้
……………
แต่อย่าเอาไปใช้เลยครับ เชย!!
คนติด “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว
ต่อไปก็คงจะมีผู้พยายามอธิบายว่า “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” เป็นคำที่เหมาะสมด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆๆๆ
ทั้งนี้เพราะเมื่อคิดคำนี้ขึ้นมาใช้ และคนก็พากันใช้จน “ติด” ไปแล้ว จะแก้เป็นคำอื่นก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร จะเลิกใช้คำนี้ ก็เลิกไม่ได้ เพราะคนเขาจะใช้ ใครจะไปห้ามได้
เพราะฉะนั้น ก็เหลือทางเดียวคือต้องหาทางอธิบายให้เห็นว่าถูกต้องเหมาะสม โปรดคอยฟังกันต่อไป
ก็เหมือนคำถวายสังฆทาน ที่เวลานี้พากันใช้คำว่า อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆะทานานิ … ทั่วกันไปหมดแล้ว จนแก้ไม่ได้
เรื่อง “สังฆะทานานิ” ต้องเอาไว้เขียนเป็นต่างหากออกไปอีกตอนหนึ่งครับ เพราะเรื่องมันยาว
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
๑๖:๕๗
………………………………………..
………………………………………..