ดุลยพินิจ (บาลีวันละคำ 406)
ดุลยพินิจ
“ดุลย” บาลีเป็น “ตุลฺย” (ตุน-ลฺยะ เสียงตรงที่สุดคือออกเสียงว่า ตุน-เลียะ) แปลตามศัพท์ว่า ชั่ง, ประเมิน, พิจารณา, ใคร่ครวญ (ดูเพิ่มเติมที่คำว่า “สมดุล”)
พจน.42 บอกความหมายไว้ว่า เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน
“พินิจ” พจน.42 บอกคำแปลไว้ว่า พิจารณา, ตรวจตรา, เช่น เพ่งพินิจ
คำว่า “พินิจ” เขียนเป็น “วินิจ” ก็ได้ คำนี้น่าจะตัดมาจากบาลีว่า “วินิจฺฉย” (วิ-นิด-ฉะ-ยะ) ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “วินิจฉัย” มีความหมายว่า ตัดสิน, ชี้ขาด; ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ
“วินิจฺฉย” สันสกฤตเป็น “วินิศฺจย”
คำที่มีความหมายคล้ายกันอีกคำหนึ่ง คือ “พินิศ” แปลว่า ดู, แลดู, เพ่งดู
“พินิศ” ก็น่าจะตัดมาจาก “วินิศฺจย” ในสันสกฤตนั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
1 ดุลย- อ่านว่า ดุน-ละ-ยะ- ก็ได้ อ่านว่า ดุน-ยะ- ก็ได้
2 ดุลยพินิจ (มี ย ยักษ์) ก็ใช้ ดุลพินิจ (ไม่มี ย ยักษ์) ก็ใช้
3 ดุลยพินิจ – ดุลพินิจ เป็นคำนาม แปลว่า การวินิจฉัยที่เห็นสมควร
ถาม : “ดุลยพินิจ – วินิจฉัยที่เห็นสมควร” คืออย่างไร ?
ตอบ : คือวินิจฉัยให้เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน ตามเหตุที่สมควรแก่ผล ไม่ใช่เอียงไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งด้วยอำนาจอคติ
: ดุลยพินิจ คือดาบอาญาสิทธิ์ของผู้มีอำนาจ
: ถ้าใช้ผิดก็จะกลับมาพิฆาตตัวผู้ใช้เอง
———————–
(เนื่องมาจากคำปรารภของ ผจญ จอจาน)
บาลีวันละคำ (406)
25-6-56
ดุลยพินิจ
(ผจญ จอจาน ๒๓ มิ.ย.๕๖)
วินิจฺฉย (ส.วินิศฺจย) (บาลี-อังกฤษ)
การวินิจฉัย, การแสดงความแตกต่าง, ความคิด, ความเห็น (ที่หนักแน่น); ความรู้ตลอด
ตุล, ตุลฺย = ดุล, ดุลย์, เสมอกัน, เท่ากัน (ศัพท์วิเคราะห์)
ตุลาย ตุลนาย สมฺมิโต สมํ มิเนตพฺโพติ ตุโล ภาวะอันเขากำหนดด้วยตาชั่ง
ตล บทหน้า อ ปัจจัย, ลง ย ปัจจัย ได้รูปเป็น ตุลฺโย บ้าง
วินิจฺฉย = การตัดสิน, การชี้ขาด
วินิจฺฉยนํ วินิจฺฉโย การตัดลงไปโดยวิเศษ
วิ + นิ บทหน้า ฉิ ธาตุ ในความหมายว่าตัด อ ปัจจัย แปลง อิ เป็น ย ซ้อน จ
วิวิเธน อากาเรน นิจฺฉยตีติ วินิจฺฉโย การตัดสินโดยอาการหลายอย่าง (เหมือน วิ.ต้น)
วิวิธํ นินฺนภาเวน นิจฺฉิโนติ อาโรเปตีติ วินิจฺฉโย การตัดสินโดยน้อมไปสู่วิธีต่างๆ (เหมือน วิ.ต้น)
ตุล (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
ชั่ง. ตวง, วัด
ตุลฺย (คุณ.)
“ดุลย์” เหมือน, แม้น, คล้าย, เสมอภาค like, resembling, equal
ดุลย-
[ดุนละยะ-, ดุนยะ-] ว. เท่ากัน, เสมอกัน, ทัดเทียมกัน. (ป., ส.).
ดุลยพินิจ
น. การวินิจฉัยที่เห็นสมควร, ดุลพินิจ ก็ใช้.
ดุลยภาพ
น. ความเท่ากัน, ความเสมอกัน.
ดุลพินิจ
[ดุนละ-] น. การวินิจฉัยที่เห็นสมควร, ดุลยพินิจ ก็ใช้.
พินิจ
ก. พิจารณา, ตรวจตรา, เช่น เพ่งพินิจ.
วินิจ
ก. ตรวจตรา, พิจารณา.
วินิจฉัย
ก. ตัดสิน, ชี้ขาด, เช่น เรื่องนี้วินิจฉัยได้ ๒ ทาง; ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ, เช่น คณะกรรมการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกเพื่อวินิจฉัยปัญหาให้รอบคอบยิ่งขึ้น. (ป.).
พินิศ
ก. ดู, แลดู, เพ่งดู.
พิศ ๑
[พิด] ก. เพ่งดู, แลดูโดยถี่ถ้วน.
พิศดู
[พิดสะดู] ก. พิจารณาดูให้รอบคอบ, พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน.