บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผู้ควรแก่การฝากพระศาสนาไว้

ผู้ควรแก่การฝากพระศาสนาไว้

——————————-

เมื่อวานนี้ (๖ มกราคม ๒๕๖๐) พระคุณเจ้าคณะหนึ่งจากอยุธยาได้มีเมตตามาเยี่ยมเยียนผมถึงบ้าน

บ้านผมนั้น พูดตามสำนวนบาลีก็ว่า-เปิดประตูต้อนรับสงฆ์อันมาแต่จตุรทิศ ไม่จำกัดวัด ไม่จำกัดนิกาย 

มาถึงในเพล ถวายภัตตาหาร

มาถึงนอกเพล ถวายน้ำปานะ

พระคุณเจ้าคณะนี้รู้จักกัน-เริ่มต้นก็ทางเฟซบุ๊ก แล้วก็ได้ไปมาหาสู่กัน แล้วก็ชักชวนเพื่อนสหธรรมิกมารู้จักมักคุ้นกันต่อไปอีก จากรูปเดียวกลายเป็นกลุ่มเป็นคณะ

พระคุณเจ้ามากันคราวนี้ ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านก็คงต้องพูดว่า-มาเที่ยวปีใหม่ หรือมาเยี่ยมญาติโยมที่รู้จักคุ้นเคย

ที่รู้สึกเป็นญาติกันอย่างยิ่งก็คือพระคุณท่าน request มาว่าใคร่จะได้ฉันก๋วยเตี๋ยวไข่

โปรดทราบว่า ราชบุรีบ้านผมนั้นก๋วยเตี๋ยวไข่มีชื่อมาก เป็นก๋วยเตี๋ยวที่แปลกประหลาดตรงที่ใส่ไข่ต้มด้วย แต่ที่สำคัญก็คืออร่อย

และโปรดทราบต่อไปด้วยว่า ภิกษุจะออกปากขอนั่นนี่โน่นกับใครๆ นั้นมิได้ มีพระวินัยบังคับไว้ 

เว้นไว้แต่เป็นญาติและปวารณา

ในทางพระวินัยท่านนับญาติเหนือตนขึ้นไป ๓ ชั้น คือ พ่อ ปู่ และทวด นับลงมา ๓ ชั้น คือลูก หลาน และเหลน นับรวมชั้นตัวเองอีกชั้นหนึ่ง คือพี่และน้อง รวมเป็น ๗ ชั้น

สำนวนที่ว่า “ตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร” ก็น่าจะนับแบบนี้

สมัยก่อน ใครทำผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่รับโทษเฉพาะตัวคนทำผิด แต่ญาติเจ็ดชั่วโคตรหรือเจ็ดชั่วคนจะต้องถูกลงโทษด้วย

ฟังดูเหมือนกับจะเป็นระบบที่เหี้ยมโหด แต่มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นการป้องปรามคนที่คิดจะทำผิดให้คิดให้รอบคอบ เพราะถ้าพลาดก็จะพาวงศ์ญาติฉิบหายไปด้วย

สันนิษฐานว่า ในทางกลับกัน ถ้าทำความดีความชอบก็น่าจะมีระบบ “ปูนบำเหน็จเจ็ดชั่วโคตร” ด้วยเช่นกัน 

ญาติมิตรท่านใดมีความรู้ทางโบราณคดี ขอฝากให้ศึกษาสืบค้นด้วยนะครับ

ที่ว่ามานั่นเป็นเรื่องญาติ

แล้วปวารณาคืออย่างไร

“ปวารณา” มีความหมายว่า ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ ในทางปฏิบัติก็คือไปบอกกล่าวแก่ภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งว่า หากต้องประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดบอกกล่าวเรียกร้องได้

ปวารณานั้นอาจมีเงื่อนไขหรือไม่มีก็ได้ มีเงื่อนไขก็อย่างเช่น กำหนดระยะเวลา เช่นปวารณาไว้เพียง ๑ ปี ก็เรียกร้องได้ภายในเวลา ๑ ปี พ้นกำหนดก็หมดสิทธิ์ หรือกำหนดวัตถุสิ่งของ เช่นปวารณาด้วยอาหารบิณฑบาต ก็เรียกร้องได้เฉพาะเรื่องอาหาร จะเรียกร้องสิ่งอื่นไม่ได้ 

บางทีถ้อยคำปวารณานั่นเองก็กำหนดเงื่อนไขไว้ เช่นข้อความว่า “… เมื่อข้าพเจ้ามีความสามารถ ก็จะจัดให้ตามประสงค์ …” ก็แปลว่า ถ้าเกิดไม่สามารถขึ้นมา เช่นตอนปวารณายังพอมีทรัพย์สมบัติอยู่ แต่ต่อมาผู้ปวารณาเกิดตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีสิ่งใดจะถวายให้ได้ตามที่เคยปวารณาไว้ อย่างนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่ภิกษุจะเรียกร้องมิได้

ถ้าเป็นญาติหรือปวารณาดังว่านี้ ภิกษุย่อมสามารถเรียกร้องได้ ไม่ผิดพระวินัย

พระคุณเจ้าจากอยุธยาคณะนี้เป็นผู้ที่ผมได้ปวารณาไว้แล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงใช้สิทธิ์ request ได้เต็มที่

ผมพาคณะพระคุณเจ้าไปเจริญอาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยวไข่ 

แล้วพาไปเจริญกุศลไหว้พระสี่มุมเมืองบนเขาแก่นจันทน์ 

แล้วพาไปเจริญปัญญาด้วยการชมสถานที่ที่น่าดูน่ารู้บางแห่งตามสมควรแก่เวลา

ทั้งนี้โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากท่านอาจารย์ผู้หญิงที่บ้าน สุดใจ แสงสินชัย และ ปุณณภัทร เภาประเสริฐ หนุ่มบางแพ

ขอทั้งสองท่าน และญาติมิตรทั้งปวงโปรดอนุโมทนาโดยทั่วกัน

—————–

พระคุณเจ้าคณะนี้เป็นผู้ที่ผมมั่นใจว่าเป็นผู้ควรแก่การฝากพระศาสนาไว้ได้

ผมดูจุดเดียวเท่านั้น ไม่ดูมาก

พระคุณเจ้าเข้ามาในบ้านผม ทุกรูปห่มคลุมเรียบร้อย

เข้าร้านก๋วยเตี๋ยวไข่ ก็ห่มคลุมเรียบร้อย

ขึ้นเขาแก่นจันทน์ พอลงจากรถทุกรูปห่มลดไหล่โดยไม่ต้องนัดหมาย แล้วขึ้นไว้พระบนวิหาร

ไหว้พระเสร็จ พอขึ้นรถทุกรูปก็ห่มคลุม

ไปวัดคงคาราม พอถึงวัดก็ห่มลดไหล่

ไปวัดม่วง พอถึงวัดก็ห่มลดไหล่

ห่มคลุมห่มลดไหลสำคัญอย่างไร

พระวินัยส่วนที่เป็นมารยาทกำหนดไว้ว่า –

ภิกษุเข้าบ้านต้องครองจีวรเป็นปริมณฑล คือห่มคลุมสองไหล่ 

เข้าไปยังเขตปูชนียสถานต้อง เอกํสํ จีวรํ กตฺวา กระทำจีวรเฉวียงบ่า คือห่มจีวรปิดไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา ภาษาวัดเรียกว่า ห่มลดไหล่

มารยาทเช่นนี้ผมเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็กวัด พระท่านทำให้เห็นเป็นประจำ เวลาไปธุระต่างวัด ระหว่างทางก็ห่มคลุม สะพายย่าม ถลกจีวรข้างหนึ่งพาดไหล่เพื่อความคล่องตัวระหว่างเดินเท้า มีร่มก็กางร่ม

แต่พอถึงวัด ท่านก็หยุดอยู่แค่ประตูวัด หุบร่ม ปลดย่ามจากไหล่ เปลื้องจีวรเป็นห่มลดไหล่ คล้องย่ามไว้ที่แขน ถือร่ม เดินเข้าวัด

พระที่เป็นครูบาอาจารย์สอนพระที่เป็นศิษย์แล้วทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง

เราเป็นเด็กวัดเห็นพระท่านทำ ก็เท่ากับพระสอนเด็กวัดไปในตัว

เห็นพระคุณเจ้าจากอยุธยาประพฤติอภิสมาจาริกาสิกขาเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส-เพียงแค่ห่มคลุมห่มลดไหล่ ผมดูแค่นี้ก็รู้สึกว่า-พอละ

อาทิพรหมจริยกาสิกขา และอภิสมาจาริกาสิกขาอีกสิบเรื่องร้อยเรื่องพันเรื่อง ผมไม่ห่วงแล้ว

ญาติมิตรอาจจะรู้สึกทึ่งกว่านี้ถ้าทราบว่า พระคุณเจ้าทุกรูปจบ มจร. อย่างต่ำปริญญาตรี อย่างสูงปริญญาเอก ทุกรูปเป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส

ผมเคยบอกแล้วว่า พระเณรที่เรียน มจร. มมร. นั้นน่านับถือมาก เพราะต้องออกแรงเป็นสองเท่า

เท่าหนึ่ง คือต้องเรียนให้ได้ ให้จบ เหมือนที่ชาวบ้านเขาเรียนกัน

อีกเท่าหนึ่ง คือต้องรักษาสิกขาวินัยวัตรปฏิบัติไว้ให้ได้ตามแบบแผนที่ถูกต้องดีงามของสงฆ์

เรียนให้จบก็ต้องทำให้ได้

รักษาพระธรรมวินัยก็ต้องทำให้ดี ไม่มีบกพร่อง

พระเณรที่เรียนจบ มจร. มมร. น่านับถือมากๆ ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้

ถ้าสามารถรักษาอภิสมาจาริกาสิกขาไว้ได้ 

ก็สามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้

พระคุณเจ้าจากอยุธยาคณะนี้จึงเป็นผู้ควรแก่การฝากพระศาสนาไว้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

กราบอนุโมทนาสาธุขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ มกราคม ๒๕๖๐

๑๖:๔๐

————–

เจ็ดชั่วโคตร

 น. วงศ์สกุลที่สืบสายโลหิต ซึ่งนับตั้งแต่ตัวเองขึ้นไป ๓ ชั้น คือ ชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด กับนับจากตัวเองลงมาอีก ๓ ชั้น คือ ชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วโคตร ไม่นับผู้หญิงรวมด้วย.

ปวารณา

 [ปะวาระนา] ก. ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *