บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พยานแห่งความจงรักภักดี

พยานแห่งความจงรักภักดี

————————-

ใครเข้าไปในวัดมหาธาตุ ราชบุรี ในช่วงเวลานี้จะเห็นว่า กำลังมีการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองอยู่อย่างรีบเร่ง

เช้าๆ ผมเดินออกกำลัง มักถือโอกาสโฉบผ่านเข้าไปในวัด ไหว้พระแล้วไปสนทนาธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาส หลวงพ่อท่านก็จะบอกกล่าวข่าวสารต่างๆ ให้ได้รับทราบ

เฉพาะเรื่องพระเมรุมาศจำลองนี่ได้ความว่า ทางราชการกำหนดให้วัดมหาธาตุเป็นที่ถวายดอกไม้จันทน์แห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี โดยให้จัดสร้างซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ตามแบบที่กรมศิลปากรออกแบบ

แล้วเมื่อเร็วๆ นี้เองทางราชการก็สั่งเปลี่ยนแปลงใหม่ ให้สร้างพระเมรุมาศจำลองจังหวัดละ ๑ แห่ง

ถอยไปที่ก่อนจะมีการกำหนดให้สร้างซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ หลวงพ่อท่านเคยแสดงความเห็นว่าน่าจะตั้งพระเมรุมาศ ท่านบอกว่าควรเป็นเมรุเก้ายอด ท่านเล็งไว้ด้วยแล้วว่าจะได้เมรุจากที่ไหน

แต่เมื่อทางราชการตกลงใจให้สร้างเป็นซุ้ม ท่านก็ไม่ว่าอะไร ซุ้มก็ซุ้ม ท่านก็ชี้ “ตำบลที่” ให้ (ภาษาทหารว่าอย่างนั้น) ว่าควรจะเป็นตรงนั้น กว้างยาวเท่านั้น ก็เป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย

เมื่อมีคำสั่งให้สร้างพระเมรุมาศจำลอง ตอนแรกทางราชการตกลงกันว่าให้สร้างที่โรงยิมเนเซี่ยม กะการต่างๆ กันเรียบร้อย

หลวงพ่อท่านทราบ ท่านก็แย้งไปว่า ธรรมเนียมตั้งเมรุนั้นเขาตั้งกลางแจ้ง ไม่มีแบบอย่างที่ไหนที่ไปตั้งเมรุในร่ม (ตรงนี้ต้องออกตัวก่อนว่าที่ทางจังหวัดกะจะตั้งพระเมรุมาศที่ยิมเนเซี่ยมนั้นไม่ทราบว่าจะตั้งในโรงยิมหรือตั้งหน้าโรงยิม) 

แล้วทางราชการยังมีคำสั่งต่อท้ายมาด้วยว่าเมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้วให้ตั้งพระเมรุมาศไว้เช่นนั้นเป็นเวลา ๑ เดือน หรืออาจถึง ๑ ปี เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ

หลวงพ่อท่านบอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้ลองคิดดูเถิดว่าโรงยิมเป็นที่เล่นกีฬา บริเวณรอบๆ เป็นสถานที่ออกกำลังของประชาชน แล้วพระเมรุมาศไปตั้งอยู่ตรงนั้น จะเป็นอย่างไร

———————

เรื่องนี้ต้องย้อนหลังไปถึงคราวจังหวัดราชบุรีจัดงาน “ฉลองพระสุพรรณบัฏ” สมเด็จพระสังฆราชเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๐ 

เดิมตกลงกันว่าจะจัดที่วัดมหาธาตุ ทางจังหวัดราชบุรีโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นเป็นผู้เสนอขึ้นเอง 

พระเถระระดับนำทั้งสองนิกายที่มาร่วมหารือก็เห็นดีเห็นชอบด้วยอย่างแข็งขัน 

หลวงพ่อท่านก็ยินดี ท่านมีเหตุผลว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสถานะ “สกลมหาสังฆปริณายก” คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชของสงฆ์ทั้งปวง มิใช่เฉพาะของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายตามนิกายของพระองค์ท่าน 

วัดมหาธาตุเป็นวัดประจำจังหวัด งานระดับจังหวัดจัดที่วัดนี้ย่อมเหมาะสม

แต่หลังจากนั้น ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นว่าทางจังหวัดย้ายที่ ไปจัดที่โรงยิมเนเซี่ยม

มีเสียงบ่นกันเงียบๆ โดยเฉพาะท่านผู้ใหญ่ บอกเบาๆ ว่า ราชบุรีหาวัดไม่ได้หรือไรจึงต้องไปฉลองสมเด็จพระสังฆราชที่โรงยิม

คราวนี้ก็อีก 

คราวนี้หลวงพ่อท่านเปรยยิ้มๆ ว่า “โรงยิมอีกแล้วรึ”

หลวงพ่อท่านบอกว่า ฉันท้วงแล้วนะ ฉันทำตามหน้าที่ของฉันแล้ว คราวนี้อย่ามาให้ฉันช่วยอะไรอีกก็แล้วกัน

แต่หลังจากนั้นอีกวันเดียว คณะพรรคของทางจังหวัดก็ยกขบวนมาที่วัดมหาธาตุ บอกว่าจะเอาที่วัดมหาธาตุนี่แหละ

หลวงพ่อท่านแสดงความเห็นว่า สถานที่ตั้งพระเมรุมาศจำลองทุกจังหวัดควรเป็นที่วัด แต่หลายๆ จังหวัดก็ไปเลือกตั้ง ณ สถานที่ซึ่งไม่ใช่วัด 

บางจังหวัดก็เหมาะสม เช่นอยุธยาตั้งที่พระราชวังโบราณ หลวงพ่อท่านว่าอันนี้เหมาะ 

แต่หลายๆ จังหวัดอยากจะพูดคำที่ท่านผู้ใหญ่พูดว่า – หาวัดไม่ได้หรือไร

———————

พอย้ายที่มาตั้งพระเมรุมาศจำลองที่วัดมหาธาตุ ก็มีขบวนการเล่าลือตามมาทันทีว่า รัฐบาลมีงบประมาณให้แห่งละ ๒๐ ล้าน 

เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุรวยไปเลย

หลวงพ่อบอกว่า การสร้างพระเมรุมาศจำลองเป็นเรื่องของทางราชการ วัดไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนนั้น ราชการจะมีงบเท่าไรก็เป็นเรื่องของทางราชการ ไม่เกี่ยวอะไรกับวัด 

ท่านทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเตรียมพื้นที่ให้ในฐานะเจ้าของบ้านเท่านั้น ค่าใช้จ่ายในการเคลียร์พื้นที่ วัดก็ควักกระเป๋าเองทั้งสิ้น

———————

หลวงพ่อบอกว่า เสร็จงานแล้วตั้งพระเมรุมาศจำลองไว้เดือนหนึ่งนี่นับว่าดี เป็นโอกาสให้ประชาชนมาถวายสักการะได้อีก 

ตั้งไว้ ๑ ปีก็ยิ่งดี 

ผมก็เลยเสนอแนะหลวงพ่อไปว่า ทางวัดน่าจะเจรจากับทางราชการขอพระเมรุมาศจำลองไว้เป็นสมบัติของวัดเลย แล้วปรับปรุงให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ ๙ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของราชบุรีต่อไป

และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรทำให้เหมือนกันทุกจังหวัด 

สร้างพระเมรุมาศจำลอง ณ ที่ไหน ก็คือสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ ๙ ขึ้นไว้ ณ ที่นั้น

นั่นหมายถึงประเทศไทยของเรานี้จะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ในรัชกาลที่ ๙ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั่วทุกจังหวัด ประกาศให้รู้ว่า ณ ที่นี้คือที่ถวายดอกไม้จันทน์แด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนแห่งมหาชนชาวสยาม เป็นพยานแห่งความจงรักภักดีสืบไปชั่วกาลนาน

ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณากันเทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ กันยายน ๒๕๖๐

๑๔:๓๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *