ปฏิปัตติธรรม (บาลีวันละคำ 1,924)
ปฏิปัตติธรรม
ไม่ใช่ “ปฏิบัติธรรม”
อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ
แยกศัพท์เป็น ปฏิปัตติ + ธรรม
(๑) “ปฏิปัตติ”
บาลีเป็น “ปฏิปตฺติ” (ปะ-ติ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)
: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ติ = ปฏิปทฺติ > ปฏิปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงเฉพาะ” “ที่ไปเฉพาะ” หมายถึง ทาง, วิธี, การปฏิบัติ, วิธีปฏิบัติ, การกระทำ, พฤติการณ์หรือความประพฤติ, ตัวอย่าง (way, method, conduct, practice, performance, behaviour, example)
“ปฏิปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปฏิบัติ” (ตัด ต ออกตัวหนึ่ง และแผลง ป ปลา เป็น บ ใบไม้) อ่านว่า ปะ-ติ-บัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ปฏิบัติ : (คำกริยา) ดําเนินการไปตามระเบียบแบบแผน เช่น ปฏิบัติราชการ, กระทําเพื่อให้เกิดความชํานาญ เช่น ภาคปฏิบัติ; กระทําตาม เช่น ปฏิบัติตามสัญญา; ประพฤติ เช่น ปฏิบัติสมณธรรม ปฏิบัติต่อกัน; ปรนนิบัติรับใช้ เช่น ปฏิบัติบิดามารดา ปฏิบัติครูบาอาจารย์. (ป. ปฏิปตฺติ).”
(๒) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ปฏิปตฺติ + ธมฺม = ปฏิปตฺติธมฺม (ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมคือการปฏิบัติ” หมายถึง ปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติคือลงมือกระทำ ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
…………..
ขยายความ :
หลักความเข้าใจในคำว่า “ปฏิปตฺติธมฺม” ก็คือ พระพุทธพจน์คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเมื่อศึกษาเข้าใจดีแล้วต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง
กล่าวสั้นว่า มิใช่เพียงแค่เรียนเพื่อรู้ แต่ต้องลงมือทำ
ในบาลี คำที่ใช้แทน “ปฏิปตฺติธมฺม” มีอีก 2 คำ คือ –
“ปฏิปตฺติสทฺธมฺม” (ปะ-ติ-ปัด-ติ-สัด-ทำ-มะ) = ธรรมอันดีคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ
“ปฏิปตฺติสาสน” (ปะ-ติ-ปัด-ติ-สา-สะ-นะ) = ศาสนาคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ
คำในชุดนี้มี 3 คำ คือ –
(ปริยัตติ– ปฏิปัตติ– ปฏิเวธ– สะกดตามบาลี)
(1) ปริยัตติธรรม (ปะ-ริ-ยัด-ติ-ทำ) คือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์
(2) ปฏิปัตติธรรม (ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ) คือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
(3) ปฏิเวธธรรม (ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ) คือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน
มักพูดกันสั้นๆ ว่า ปริยัติ (ปะ-ริ-ยัด) ปฏิบัติ (ปะ-ติ-บัด) ปฏิเวธ (ปะ-ติ-เวด)
“ปฏิปตฺติสทฺธมฺม” > “ปฏิปตฺติธมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “ปฏิปัตติธรรม” ถ้าตัด ต ออกตัวหนึ่งตามลักนิยมก็จะเป็น “ปฏิปัติธรรม” อ่านว่า ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” อ่านว่า ปะ-ติ-บัด-ทำ บอกความหมายไว้ว่า –
“ปฏิบัติธรรม : (คำกริยา) ประพฤติตามธรรม; เจริญภาวนา.”
“ปฏิบัติธรรม” กับ “ปฏิปัติธรรม” ถ้าไม่สังเกตอาจเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ความจริงเป็นคนละคำคนละความหมาย
“ปฏิบัติธรรม” เป็นคำประสมแบบไทย “ปฏิบัติ” เป็นกริยา “ธรรม” เป็นกรรม คือสิ่งที่ถูกปฏิบัติ แปลจากหน้าไปหลัง คือ ปฏิบัติ > ธรรม แบบเดียวกับคำว่า “ปฏิบัติราชการ”
ส่วน “ปฏิปัติธรรม” เป็นคำนาม แปลจากหลังมาหน้า คือแปลว่า ธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ
“ปฏิปัตติธรรม” หรือ “ปฏิปัติธรรม” คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนแล้วไม่ปฏิบัติ คือวิปริต
: ไม่เรียน แต่ชอบปฏิบัติผิดๆ คือวิปลาส
15-9-60