บาลีวันละคำ

ปริยัติธรรม (บาลีวันละคำ 1,923)

ปริยัติธรรม

แหล่งเรียนรู้พระธรรมวินัย

อ่านว่า ปะ-ริ-ยัด-ติ-ทํา

แยกศัพท์เป็น ปริยัติ + ธรรม

(๑) “ปริยัติ

บาลีเป็น “ปริยตฺติ” (ปะ-ริ-ยัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบๆ, ทั่วไป) + อปฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ปัจจัย, ลง อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปริ + + อปฺ), แปลง ที่สุดธาตุเป็น (อปฺ > อตฺ) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปริ + + อปฺ = ปริยปฺ + = ปริยปฺต > ปริยตฺต + อิ = ปริยตฺติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้ออันผู้ต้องการประโยชน์พึงเล่าเรียน” (2) “ข้อที่สามารถยังประโยชน์แห่งบุรุษที่เป็นปัจจุบันเป็นต้นให้สำเร็จได้

ปริยตฺติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความสามารถพอ, ความสำเร็จ, ความพอเพียง, ความสามารถ, ความเหมาะเจาะ (adequacy, accomplishment, sufficiency, capability, competency)

(2) พระปริยัติ, ความสามารถทางพระคัมภีร์, การเล่าเรียน (ท่องจำ) คัมภีร์ (accomplishment in the Scriptures, study [learning by heart] of the holy texts);

(3) ตัวพระคัมภีร์นั้นเองทั้งหมดรวมกัน ซึ่งจดจำสืบๆ ต่อกันมา (the Scriptures themselves as a body which is handed down through oral tradition)

ปริยตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปริยัติ” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า ปะ-ริ-ยัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริยัติ : (คำนาม) การเล่าเรียนพระไตรปิฎก. (ป. ปริยตฺติ).”

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

ปริยตฺติ + ธมฺม = ปริยตฺติธมฺม แปลว่า “ธรรมที่พึงเล่าเรียน” หมายถึงพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปริยตฺติธมฺม” ไว้ว่า –

That which belongs to the holy study, part or contents of the Scriptures, the Tipiṭaka comprising the nine divisions. (ธรรมที่ต้องศึกษาในทางศาสนา, เนื้อความของพระปริยัติอันเป็นส่วนของพระไตรปิฎก หรือตัวพระไตรปิฎกเองซึ่งประกอบด้วยองค์เก้า)

ปริยตฺติธมฺม” ในภาษาไทยใช้ว่า “ปริยัติธรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริยัติธรรม : (คำนาม) ธรรมที่จะต้องเล่าเรียนได้แก่พระไตรปิฎก.”

…………..

ขยายความ :

ในบาลี คำที่ใช้แทน “ปริยตฺติธมฺม” มีอีก 2 คำ คือ –

ปริยตฺติสทฺธมฺม” (ปะ-ริ-ยัด-ติ-สัด-ทำ-มะ) = ธรรมอันดีคือการศึกษาพระพุทธพจน์

ปริยตฺติสาสน” (ปะ-ริ-ยัด-ติ-สา-สะ-นะ, เขียนแบบไทย “ปริยัติศาสนา”) = ศาสนาคือการศึกษาพระพุทธพจน์

คำในชุดนี้มี 3 คำ คือ –

(ปริยัตติปฏิปัตติปฏิเวธ– สะกดตามบาลี)

(1) ปริยัตติธรรม (ปะ-ริ-ยัด-ติ-ทำ) คือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์

(2) ปฏิปัตติธรรม (ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ) คือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

(3) ปฏิเวธธรรม (ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ) คือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน

มักพูดกันสั้นๆ ว่า ปริยัติ (ปะริ-ยัด) ปฏิบัติ (ปะ-ติ-บัด) ปฏิเวธ (ปะ-ติ-เวด)

พระภิกษุสามเณรเมื่อบวชแล้วมีหน้าที่ศึกษาพระพุทธพจน์ เรียกกันว่าเรียนพระปริยัติธรรม

คณะสงฆ์ไทยแบ่งการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็น 2 แผนก คือ

– พระปริยัติธรรมแผนกธรรม เรียนพระธรรมวินัยเป็นภาษาไทย

– พระปริยัติธรรมแผนกบาลี เรียนภาษาบาลีเพื่อให้สามารถอ่านและแปลพระคัมภีร์ได้

วัดต่างๆ ที่เป็นสำนักเรียนจะมี “โรงเรียนพระปริยัติธรรม” ตั้งอยู่ในวัด เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บวชแล้วไม่เรียน คือวิปริต

: เรียนแล้วไม่รู้ถูกรู้ผิด คือวิปลาส

: รู้แล้วยังประพฤติผิดพลาด คือวิบัติบรรลัย

#บาลีวันละคำ (1,923)

14-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย