บาลีวันละคำ

ครรโภทร (บาลีวันละคำ 2,645)

ครรโภทร

ภาษาหนังสือ

อ่านว่า คัน-โพ-ทอน

ประกอบด้วยคำว่า ครรภ + อุทร

(๑) “ครรภ

บาลีเป็น “คพฺภ” (คับ-พะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) คสฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อภ ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น พฺ (คสฺ > คพฺ)

: คสฺ + อภ = คสภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นไปปกติ” (คือมีทั่วไป)

(2) คุ (เสียงดังโครกคราก) + อภ ปัจจัย, ซ้อน พฺ ระหว่างบทหน้ากับปัจจัย (คุ + พฺ + อภ), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ คุ (คุ > )

: คุ + พฺ + อภ = คุพฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ส่งเสียงดังโครกๆ

(3) คพฺภฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย

: คพฺภฺ + = คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ทรงไว้” (คือรองรับเด็กไว้)

(4) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ เป็น พฺ (ครฺ > คพ)

: ครฺ + = ครฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไหลออกไปข้างนอก

คพฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง

(2) ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง

(3) ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง

(4) สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง

บาลี “คพฺภ” สันสกฤตเป็น “ครฺภ” และ “ครฺพฺภ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ครฺภ, ครฺพฺภ : (คำนาม) ‘ครรภ’ สัตว์นอนอยู่ในครรภ์; เด็ก, ทารก, ทาริกา; อุทร, ท้อง; ภายใน; มัธยภาค, กลาง; การต่อ-รวม-สมทบหรือสมาน; ห้องใน, ห้องอยู่ไฟ; ห้องในห้องใดห้องหนึ่ง; ที่ตั้งพระประธานในวิหาร (= ที่ศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร); รยบถของแม่น้ำคงคา (เมื่อแม่น้ำนั้นเต็มเปี่ยม); ‘ปุษฺปครฺภ, ปุษฺปโกศ’ กลีบนอกของดอกบัว (คือกลีบที่หุ้มดอกภายนอก); อันตภาคของสิ่งนั้นๆว; the foetus or embryo; the child; the belly, the inside; the middle; joining, union; an inner apartment, a lying-in chamber; any interior chamber; the adytum of the temple (= the secred place of te temple); the bed of the Ganges (when the river is fullest); the calyx of the lotus; the interior of anything.”

ในที่นี้ภาษาไทยสะกดอิงสันสกฤตเป็น “ครรภ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ครรภ, ครรภ-, ครรภ์ : (คำนาม) ห้อง, ท้อง เช่น หญิงมีครรภ์ (ใช้เฉพาะผู้หญิงที่มีลูกอยู่ในท้อง). (ส. ครฺภ; ป. คพฺภ).”

(๒) “อุทร

บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) + ทรฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: อุ + ทรฺ = อุทรฺ + = อุทรฺ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่เดินขึ้นข้างบนแห่งลม

อุทร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ท้อง, กระเพาะอาหาร (the belly, stomach)

(2) ช่อง, ภายใน, ข้างใน (cavity, interior, inside)

อุทร” ในภาษาไทยอ่านว่า อุ-ทอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อุทร : (คำนาม) ท้อง. (ป., ส.).”

ครรภ + อุทร (แผลง อุ เป็น โอ) = ครรโภทร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ครรโภทร : (คำแบบ) (คำนาม) ท้องมีลูก. (ส. ครฺภ + อุทร).”

คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันนี้อีกคำหนึ่ง คือ “คัพโภทร” อ่านว่า คับ-โพ-ทอน รากเดิมของคำเหมือน “ครรโภทร” คือ

ครรโภทร” มาจาก ครฺภ + อุทร

คัพโภทร” มาจาก คพฺภ + อุทร

ครฺภ” กับ “คพฺภ” เป็นคำเดียวกัน

ครฺภ” เป็นรูปคำสันสกฤต

คพฺภ” เป็นรูปคำบาลี

เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย :

ครรโภทร” อ่านว่า คัน-โพ-ทอน

คัพโภทร” อ่านว่า คับ-โพ-ทอน

อ่านคนละอย่าง ดูเหมือนเป็นคนละคำ ทั้งๆ ที่มีรากศัพท์เหมือนกัน ความหมายก็เหมือนกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คัพโภทร : (คำนาม) ครรโภทร, ท้องมีลูก. (ป. คพฺภ + อุทร).”

ขยายความ :

ในภาษาไทย พูดว่า “ครรภ์” หรือ “อุทร” คำใดคำหนึ่งก็สื่อความหมายถึง “ท้องมีลูก” หรือลูกที่อยู่ในท้องได้เหมือนกัน แต่ไทยเราชอบใช้คำซ้ำซ้อน ซึ่งผู้รู้บอกว่าเกิดจากการรับเอาคำต่างภาษามาใช้ จึงนิยมพูดควบกันไป ลักษณะเช่นนี้จะพบได้ง่ายในกลุ่มคำคล้องจอง เช่น ถนนหนทาง เสื่อสาดอาสนะ ถ้วยโถโอชาม วัดวาอาราม เป็นต้น คำว่า “ครรโภทร” แม้จะไม่ได้คล้องจองกับคำอะไร ก็เข้าในลักษณะนี้

ครรโภทร” และ “คัพโภทร” เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “คพฺโภทร” (คับ-โพ-ทะ-ระ) เป็นคำที่ประสมขึ้นแบบไทย ยังไม่พบคำเช่นนี้ในคัมภีร์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครรโภทรเห็นได้ด้วยดวงตา

: คุณของมารดาเห็นได้ด้วยดวงใจ

#บาลีวันละคำ (2,645)

9-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย