วลาหก (บาลีวันละคำ 2,901)
วลาหก
ฝนตกเพราะคำนี้
ภาษาไทยอ่านว่า วะ-ลา-หก
“วลาหก” บาลีอ่านว่า วะ-ลา-หะ-กะ รากศัพท์มาจาก วาริ (น้ำ) + วหฺ (ธาตุ = ทำให้ถึง, นำไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง วาริ เป็น ว, แปลง ว ที่ วหฺ เป็น ล (วหฺ > ลห), ทีฆะ อะ ที่ ล-(ห) เป็น อา (วหฺ > ลห > ลาห), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: วาริ + วหฺ = วาริวหฺ + ณฺวุ = วาริวหฺณฺวุ > ววหณฺวุ > วลหณฺวุ > วลาหณฺวุ > วลาหก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำน้ำไป” (คือไปที่ไหนก็มีน้ำไปด้วย)
“วลาหก” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เมฆ, เมฆดำ, เมฆฝน (a cloud, dark cloud, thundercloud)
(2) ชื่อม้าในเทพนิยาย (N. of mythical horses)
บาลี “วลาหก” สันกฤตเป็น “วลาหก” และ “พลาหก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วลาหก, พลาหก (คำนาม) เมฆ, ก้อนเมฆ; บรรพต; เวตาล; นาคตัวหนึ่ง; ม้าเทียมราชรถของกฤษณตัวหนึ่ง; a cloud; a mountain; a demon; one of the Nāgas; one of the horses of Krishṇa’ car.”
ในคัมภีร์มีคำว่า “วลาหกกายิกา เทวา” หมายถึง พวกเทพวลาหก หรือเมฆเทพ (groups of cloud gods)
ในภาษาไทยใช้เป็น “วลาหก” และ “พลาหก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) วลาหก : (คำนาม) เมฆ. (ป.).
(2) พลาหก : (คำนาม) เมฆ, ฝน. (ป., ส. วลาหก).
โปรดสังเกตว่า “วลาหก” พจนานุกรมฯ บอกว่า เมฆ แต่ “พลาหก” พจนานุกรมฯ บอกว่า เมฆ, ฝน
ในภาษาบาลี “วลาหก” หมายถึง cloud (เมฆ) ไม่ใช่ rain (ฝน)
ลองตรวจดูกับพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล cloud เป็นบาลีดังนี้ –
(1) valāhaka วลาหก (วะ-ลา-หะ-กะ) = ผู้นำน้ำไป > เมฆ
(2) ambuda อมฺพุท (อำ-พุ-ทะ) = ผู้ให้น้ำ
(3) jaladhara ชลธร (ชะ-ละ-ทะ-ระ) = ผู้ทรงไว้ซึ่งน้ำ
(4) jalada ชลท (ชะ-ละ-ทะ) = ผู้ให้น้ำ
(5) meghapaṭala เมฆปฏล (เม-คะ-ปะ-ตะ-ละ) = ชั้นของเมฆ > เมฆเป็นชั้นๆ
ไม่มีคำแปลที่หมายถึงฝน เช่น “วสฺส” = ฝน
แต่ก็โปรดทราบว่า คำบาลีสันสกฤตที่เอามาใช้ในภาษาไทย ความหมายอาจเคลื่อนที่ไปได้เป็นธรรมดา ไม่ถือว่าผิดหรือผิดปกติแต่ประการใด
คำว่า “วลาหก” และ “พลาหก” แม้จะมีใช้ในภาษาไทย แต่ก็นิยมใช้เป็นภาษาวรรณคดีหรือภาษาเขียน ไม่ได้ยินว่ามีใช้เป็นภาษาพูด
แถม :
มีคำอุปมาเมฆฝน (วลาหก) กับคน 4 จำพวก กล่าวคือ –
(๑) เมฆฝนที่กระหึ่ม แต่ไม่ตก เปรียบเหมือนคนที่ชอบพูด แต่ไม่ทำ
(๒) เมฆฝนที่ตก แต่ไม่กระหึ่ม เปรียบเหมือนคนที่ทำ แต่ไม่พูด
(๓) เมฆฝนที่ไม่กระหึ่มและไม่ตก เปรียบเหมือนคนที่ไม่พูดและไม่ทำ
(๔) เมฆฝนที่ทั้งตกทั้งกระหึ่ม เปรียบเหมือนคนที่ทั้งพูดทั้งทำ
ที่มา: วลาหกสูตร จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 101
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มีเมฆอยู่เบื้องบน ไม่ใช่ข้อยืนยันว่าฝนจะตก
: มีเงินอยู่ในพก ไม่ใช่ข้อยืนยันว่าจะควักออกทำทาน
#บาลีวันละคำ (2,901)
22-5-63