บาลีวันละคำ

พุทธวิสัย (บาลีวันละคำ 2,794)

พุทธวิสัย

อจินไตยข้อแรก

อ่านว่า พุด-ทะ-วิ-ไส

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + วิสัย

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

พุทฺธ” เขียนแบบไทยเป็น “พุทธ” (ไม่มีจุดใต้ ท)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

(๒) “วิสัย”

บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)

: วิ + สิ = วิสิ + = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –

(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)

(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)

จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –

(1) ขอบเขต

(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”

พุทฺธ + วิสย = พุทฺธวิสย (พุด-ทะ-วิ-สะ-ยะ) แปลว่า “วิสัยแห่งพระพุทธเจ้า”

พุทฺธวิสย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธวิสัย” (พุด-ทะ-วิ-ไส) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พุทธวิสัย” เป็นข้อหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “อจินไตย

คำว่า “อจินไตย”  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

อจินไตย : (คำวิเศษณ์) ที่พ้นความคิด, ไม่ควรคิด, (สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑). (ป. อจินฺเตยฺย; ส. อจินฺตฺย).”

เรื่องอจินไตยมาในพระไตรปิฎก คือคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 77 ขอยกมาโดยประสงค์เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

จตฺตารีมานิ  ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺยานิ  น  จินฺเตตพฺพานิ  ยานิ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

กตมานิ  จตฺตาริ.

อจินไตย 4 คืออะไรบ้าง

พุทฺธานํ  ภิกฺขเว  พุทฺธวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลายเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

…………..

คัมภีร์มโนรถปูรณีอันเป็นอรรถกถาของอังคุตรนิกาย ขยายความคำว่า “พุทฺธวิสโย” ไว้ดังนี้

…………..

พุทฺธวิสโยติ  พุทฺธานํ  วิสโย  สพฺพญฺญุตญาณาทีนํ  พุทฺธคุณานํ  ปวตฺติ  จ  อานุภาโว  จ.

คำว่า พุทฺธวิสโย แปลว่า “วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” คือ ความเป็นไปและอานุภาพของพระพุทธคุณมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 534

…………..

ขยายความตามอัตโนมัตยาธิบายว่า ไม่ควรคิดหาคำตอบหรือคำอธิบาย เช่นว่า – ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงทราบสรรพสิ่ง หรือทรงปฏิบัติการบางอย่างได้เหนือมนุษย์

ท่านไม่ได้ห้ามสงสัย ใครจะสงสัยก็ได้ เชิญสงสัยได้เต็มที่ แต่จะค้นหาคำตอบที่จุใจหรือพอใจตัวเองนั้น จะหาไม่พบ ได้คำตอบตรงนี้ ก็จะไปเจอข้อเยื้องแย้งตรงโน้น ซึ่งในที่สุดก็มักจะจบลงด้วยคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ทั้งนี้เพราะเอาวิสัยหรือขอบเขตของผู้คิดหาคำตอบนั่นเองเป็นเกณฑ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประตูไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้าเปิดตลอดกาล

: แต่นานแสนนานจึงจะมีคนผ่านเข้าไปได้สักคน

#บาลีวันละคำ (2,794)

5-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *