บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มะละกอในสวนจิตรฯ

มะละกอในสวนจิตรฯ

——————-

ช่วงปีสองปีมานี้ผมมีกิจจะต้องเข้ากรุงเทพฯ อย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง 

บ้านผมอยู่ราชบุรี ขับรถจากบ้านไปจอดฝากไว้ในบริเวณกรมยุทธศึกษาทหารเรือที่ศาลายาอันเป็นที่ทำงานสมัยยังรับราชการอยู่ 

นั่งรถโดยสารประจำทางสาย ๕๑๕ ไปลงที่หน้าเขาดิน แล้วเดินต่อไป (เขาดินอยู่ขวา วชิราวุธวิทยาลัยอยู่ซ้าย) ถึงสี่แยก เลี้ยวขวาไปตามคลองข้างเขาดิน มุ่งหน้าไปทางวัดเบญจมบพิตร 

มองข้ามถนนไปอีกฟากหนึ่งเป็นแนวรั้วสวนจิตรลดา เมื่อก่อนมีตำรวจวังยืนรักษาการณ์ตลอดแนวรั้วเป็นระยะๆ แต่ตอนนี้เงียบสงบ 

ผมไม่เคยเข้าไปในสวนจิตรลดา อย่างเก่งที่สุดก็แค่เคยเข้าไปติดต่ออะไรสักอย่างที่บริเวณกองรักษาการณ์ พูดภาษาชาวบ้านคือเคยเข้าไปแค่ประตู 

แต่ทำไมผมจึงรู้สึกว่ารู้จักพื้นที่ภายในสวนจิตรลดาเป็นอย่างดี …

——————

ความหลัง

——————-

เมื่อปี ๒๕๔๒ ผมยังรับราชการอยู่ในกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

วันหนึ่ง ขณะที่ผมนั่งทำราชการอยู่ตามปกติ เจ้าหน้าที่กองการศึกษา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ซึ่งสังกัดกรมเดียวกัน มีสำนักงานอยู่ในอาคารกองบังคับการเดียวกัน ก็เดินเข้ามาหาแล้วถามว่า 

“กพ.เขาจะมาอบรมให้พวกเราสามวัน อาจารย์อยากจะเข้าอบรมบ้างไหม”

คำย่อว่า “กพ.” ในวงการทหาร หมายถึงกรมกำลังพล (หน่วยงานนี้มีทุกเหล่าทัพ) ผมได้ยินคำว่า “กพ.” ทีแรกก็เข้าใจเช่นนั้น

“เป็นสิทธิหรือหน้าที่ละครับ” ผมถาม แล้วบอกต่อไปว่า “ถ้าเป็นสิทธิ จัดคนอื่นที่มีสิทธิไปก่อนให้ครบ ถ้ายังมีที่ว่างก็จัดผมเป็นคนสุดท้าย แต่ถ้าเป็นหน้าที่ จัดผมเป็นคนแรกได้เลย”

“ผมก็ยังงงๆ อยู่” เจ้าหน้าที่ตอบด้วยสีหน้างงๆ

“ถ้างั้นก็ตามแต่จะพิจารณา” ผมบอก

ปรากฏว่ามีชื่อผมเป็นผู้เข้ารับการอบรมด้วยคนหนึ่งในจำนวนข้าราชการสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือประมาณเกือบ ๔๐ คน 

พอถึงวันที่กำหนด ผู้เข้ารับการอบรมก็เข้าไปนั่งรอพร้อมกันในห้องประชุม 

ผมนั้นยังไม่หายงงว่า กพ. จะมาอบรมเรื่องอะไร

พอได้เวลา ก็มีสุภาพสตรีแต่งกายพลเรือนหิ้วกระเป๋าเอกสารเข้ามาในห้อง แนะนำตัวเองว่าเป็นวิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

นั่นแหละผมจึงได้เข้าใจว่า ก.พ. ไม่ใช่กรมกำลังพล

วิทยากรจาก ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) หลายคนหมุนเวียนกันเข้ามาพูดๆๆ ให้พวกเราฟังตลอดการอบรม ๓ วัน 

เป็นเรื่องเกี่ยวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) โดยตรงและล้วนๆ

————-

ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า พวกเราที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้จะต้องทำหน้าที่ “วิทยากรโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท” ที่จะจัดอบรมให้แก่ข้าราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยแต่ละหน่วยงานก็จะใช้วิทยากรของตัวเองที่ ก.พ. ไปจัดการอบรมให้เหมือนกับที่มาจัดให้กองทัพเรือนี้

โครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะจัดการอบรมให้แก่ข้าราชการทั้งปวงภายในเวลาประมาณ ๓ ปี (๒๕๔๒-๒๕๔๔)

โครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทนี้ยึดเอาพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ เป็นแกนหลัก เมื่อนำไปเปิดอบรมให้แก่ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ ก็ให้ผู้เข้ารับการอบรมช่วยกันศึกษา เรียนรู้ แล้วแปรออกมาเป็นหนทางปฏิบัติโดยมีวิทยากรเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำและสรุปผล

๓ วันเต็มๆ ที่วิทยากรจาก ก.พ. ช่วยกันแนะนำเทคนิคการศึกษาเรียนรู้พระบรมราโชวาทให้แก่พวกเราที่จะต้องไปเป็นวิทยากร 

เป็นการพูดๆๆๆ ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย ด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้อย่างสุดหัวใจ

————-

ผมขอรับสารภาพตามตรงว่า มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่ผมประทับใจชนิดไม่มีวันลืม

แต่เป็นเรื่องเดียวที่เป็นเชื้อประทุที่ทรงพลังมหาศาลให้ผมสดับตรับฟัง เก็บรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ไว้แบบกินไม่รู้จักอิ่ม

วิทยากรที่เล่าเรื่องนี้ให้พวกเราฟังเป็นสุภาพสตรี

————-

เป็นที่ทราบกันว่า ในบริเวณพื้นที่ซึ่งเรารู้จักกันว่า “สวนจิตรลดา” นั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดแบ่งให้เป็นที่ทำการเกษตรหลายอย่าง เช่นทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และมีโรงงานผลิตนมด้วย

มีผู้กล่าวว่า ถ้าเกิดสงคราม และถ้าสามารถรักษาสวนจิตรฯ เอาไว้ได้ เราจะไม่อดตาย

พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระดำเนินตรวจงานการเกษตรเป็นประจำวัน 

ตามเส้นทางที่ทรงพระดำเนินผ่าน มีมะละกอต้นหนึ่งขึ้นอยู่ข้างทาง เจ้าหน้าที่และผู้ตามเสด็จจะจำมะละกอต้นนี้ได้ เพราะผ่านอยู่แทบทุกวัน 

ทุกคนได้เห็นมะละกอต้นนี้ตั้งแต่ต้นยังเล็ก 

จนต้นโตขึ้น 

จนมะละกอออกลูก 

จนลูกแก่และห่าม

เจ้าหน้าที่สวนจิตรฯ คนหนึ่ง เห็นมะละกอลูกหนึ่งงามดี ห่ามกำลังกิน ก็ปลิดลงมา ปอกแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เสวย

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ไปได้มาจากไหน

เจ้าหน้าที่กราบทูลว่าเป็นมะละกอต้นนั้น

คำว่า “มะละกอต้นนั้น” พระเจ้าอยู่หัวย่อมทรงทราบเพราะทรงพระดำเนินผ่านเสมอเช่นกัน จึงตรัสถามว่า

“ไปเด็ดมันมาทำไม”

พระราชดำรัสตรัสถามนี้ย่อมจะฟังดูประหลาดมาก 

เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกราบทูลตอบไปตามความคิดของตน-และน่าจะเป็นของคนทั่วไปด้วย

“ก็มันสุกแล้ว สมควรจะเสวยได้แล้วพระเจ้าข้า”

…………

พระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นว่า

“เราเป็นคน ถ้าอยากจะกินมะละกอหรือผลไม้อะไร ก็สามารถจะไปเที่ยวหามากินได้ไม่ยาก มะละกอลูกนี้ถ้าปล่อยไว้กับต้น เมื่อสุกก็จะเป็นอาหารของนกและสัตว์ที่กินผลไม้ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้อย่างดี แล้วนี่ไปเด็ดมันมาทำไม”

————

พระเจ้าอยู่หัวของพวกเรามิได้ทรงห่วงใยเฉพาะพสกนิกรที่เป็นผู้คนเท่านั้น

พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์แผ่ไปทั่วถึงไม่มีเว้นเลยแม้แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย

ถ้านกหนูปูปีกในสวนจิตรลดามันรู้ภาษาคนและถ้ามันพูดได้ มันก็คงจะถวายพระพรให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ เซ็งแซ่อยู่ทุกวันคืน

ความตอนท้ายนี้วิทยากรท่านไม่ได้พูด แต่ผมคิดของผมไปเอง

………………..

โครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท-เป็นโครงการที่คนไทยควรได้เรียน ได้รู้ และดำเนินตามรอยพระยุคลบาท 

แต่โครงการนี้เอ่ยขึ้นมาตอนนี้ก็ไม่มีใครรู้จักแล้ว 

ใครก็ไม่รู้พูดว่า ระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีต่างจากเผด็จการตรงที่-อะไรที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่ต้องทนกับมันอยู่นาน พอถึงเวลามันก็ต้องไป

ใครคนนั้นลืมพูดไปว่า – อะไรที่เราชอบ มันก็อยู่ได้ไม่นานเหมือนกัน พอถึงเวลามันก็หายไป

………………..

รักพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และศึกษาพระบรมราโชวาทกันนะครับ

อย่ารักเฉพาะวันที่ ๕ ธันวาคม

อย่ารักเฉพาะเดือนธันวาคม

แต่จงรักทุกปี ทุกเดือน ทุกวันเวลาตลอดไป

อย่าให้อายนกในสวนจิตรฯ นะครับ

—————–

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ 

๑๑:๑๖

…………..

หมายเหตุ: เรื่อง “มะละกอในสวนจิตรฯ” 

โพสต์ครั้งแรก ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *