อุณฺหีสํ – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,346)
อุณฺหีสํ – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง คาถาที่ 358 มีข้อความดังนี้ –
…………..
ขคฺโค (จ) ฉตฺต’มุณฺหีสํ
ปาทุกา วาฬวีชนี
(อิเม กกุธภณฺฑานิ
ภวนฺติ ปญฺจ ราชุนํ)
(ราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ)
พระขรรค์, ฉัตร, อุณหีศ,
ฉลองพระบาท, วาฬวีชนี
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 110 อธิบายคำว่า “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” มีข้อความดังนี้ –
…………..
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน)
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ โดยพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน
…………..
“อุณฺหีสํ” อ่านว่า อุน-นฮี-สัง รูปคำเดิมเป็น “อุณฺหีส” อ่านว่า อุน-นฮี-สะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค ตัดมาจาก “อุป” = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + นหฺ (ธาตุ = ผูก, พัน) + อีส ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ
: อุ + นหฺ = อุนฺหฺ + อีส = อุนฺหีส > อุณฺหีส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เข้าไปพันไว้”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อุณฺหีส” ว่า อุณหิส, กรอบหน้า, ผ้าโพกศีรษะ, บันได
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุณฺหีส” ว่า a turban (ผ้าโพกศีรษะ)
บาลี “อุณฺหีส” สันสกฤตเป็น “อุษฺณีษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อุษฺณีษ : (คำนาม) ศิโรเวษฏน์, ผ้าโพก; มุกุฏ, รัดเกล้า; a turban; a diadem, a crown.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อุณหิส” (ตามรูปบาลี) และ “อุษณีษ์” (ตามรูปสันสกฤต) บอกไว้ดังนี้ –
(1) อุณหิส : (คำนาม) กรอบหน้า, มงกุฎ. (ป. อุณฺหีส; ส. อุษฺณีษ).
(2) อุษณีษ์ : (คำนาม) มงกุฎ; กรอบหน้า. (ส.; ป. อุณฺหีส).
อุณฺหีส – อุณหิส เป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในพระนามเจ้าฟ้า “มหาวชิรุณหิศ” สยามมกุฏราชกุมารพระองค์แรก (มหา+วชิร+อุณหิศ)
“วชิรุณหิศ” มีความหมายว่า “มงกุฎเพชร”
สรุปว่า อุณหิส – อุษณีษ์ มีความหมายเหมือนกัน
และโปรดสังเกตบทนิยามในพจนานุกรมฯ :
– อุณหิส : กรอบหน้า, มงกุฎ.
– อุษณีษ์ : มงกุฎ; กรอบหน้า.
“อุณหิส” ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เรียกเป็น “พระมหาพิชัยมงกุฎ”
ขยายความ :
จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 4 ฉบับที่ 40 กันยายน 2537 อธิบายคำว่า “พระมหาพิชัยมงกุฎ” ไว้ดังนี้ –
…………..
พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชสิราภรณ์ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้พระราชสมบัติไปเที่ยวหาซื้อเพชร ได้เพชรเม็ดใหญ่จากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานนามว่า “พระมหาวิเชียรมณี” พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม
ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเชิญทูตานุทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธีและทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 112 อธิบายคำว่า “พระมหาพิชัยมงกุฎ” มีข้อความดังนี้ –
…………..
พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้าง ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่การสวมมงกุฎ แต่นั้นมาจึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สวมธรรมไว้ที่หัวใจ
: งามกว่าสวมมงกุฎใด ๆ ไว้ที่หัวจริง
#บาลีวันละคำ (4,346)
6-5-67
…………………………….
…………………………….