ธรรมกถึก (บาลีวันละคำ 1,313)
ธรรมกถึก
อ่านว่า ทำ-มะ-กะ-ถึก
ประกอบด้วย ธรรม + กถึก
บาลีเป็น “ธมฺมกถิก” อ่านว่า ทำ-มะ-กะ-ถิ-กะ
ประกอบด้วย ธมฺมกถา + ณิก
(๑) “ธมฺมกถา” (ทำ-มะ-กะ-ถา) มาจาก ธมฺม + กถา
1) ธมฺม รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม
ธมฺม > ธรรม มีความหมายหลายหลาก แต่ในที่นี้หมายเฉพาะคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
2) กถา รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กถฺ + อ = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กล่าวไว้” หมายถึง (1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation) (2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)
ธมฺม + กถา = ธมฺมกถา แปลว่า การกล่าวธรรม, การแสดงธรรม, การแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า
(๒) ธมฺมกถา + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ (ณิก > อิก), “ลบสระหน้า” (คือ อา ที่ –กถา ซึ่งอยู่หน้า ณิก) : ธมฺมกถา > ธมฺมกถ
: ธมฺมกถา > ธมฺมกถ + ณิก > อิก : ธมฺมกถ + อิก = ธมฺมกถิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยถ้อยคำในธรรม” “ผู้กล่าวถ้อยคำคือธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมกถิก” ว่า one who converses about ethical problems, one who recites or preaches the Dhamma, one who speaks fitly or properly, one who preach the Word of the Buddha (ผู้สนทนาเกี่ยวกับปัญหาธรรม, ผู้สาธยายหรือสอนธรรม, ผู้พูดในสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้อง, ผู้กล่าวสอนธรรมะของพระพุทธเจ้า)
ธมฺมกถิก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมกถึก” คือแผลง –อิก เป็น –อึก
คำทำนองเดียวกันนี้ก็อย่างเช่น –
อธิก > อธึก
โชติก > โชดึก
สิกขา > ศึกษา
และ ธมฺมกถิก > ธรรมกถึก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธรรมกถึก : (คำนาม) เรียกพระที่เป็นนักเทศน์ผู้แสดงธรรมว่า พระธรรมกถึก. (ป. ธมฺมกถิก).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต นำหลักที่เรียกว่า “องค์แห่งธรรมกถึก” คือหลักที่ถูกต้องของการแสดงธรรมมาแสดงไว้ว่า –
1. อนุปุพฺพิกถํ (กล่าวความไปตามลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ : His instruction or exposition is regulated and gradually advanced.)
2. ปริยายทสฺสาวี (ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความ ยักเยื้องไปต่างๆ ตามแนวเหตุผล : It has reasoning or refers to causality.)
3. อนุทยตํ ปฏิจฺจ (แสดงธรรมด้วยอาศัยเมตตา คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่เขา : It is inspired by kindness; teaching out of kindliness.)
4. น อามิสนฺตโร (ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่เพราะมุ่งที่ตนจะได้ลาภหรือผลประโยชน์ตอบแทน : It is not for worldly gain.)
5. อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ (แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น : It does not hurt oneself or others; not exalting oneself while contempting others.)
……..
: พระธรรมกถึกชั้นนอก คือผู้เอาความคิดของตนมาบอกว่าเป็นพระธรรม
: พระธรรมกถึกชั้นนำ คือผู้แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
2-1-59