บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ฤๅจะรอให้ฝรั่งมาสอน

ฤๅจะรอให้ฝรั่งมาสอน

———————–

ผมเข้าไปเยี่ยมเฟซบุ๊กของญาติมิตร อ่านรายงานข่าวฉบับหนึ่ง เจอข้อความว่า

……………..

หากว่านักรบชายคนหนึ่งคนใดถูกสตรีคนหนึ่งฆ่าจนเสียชีวิตแล้ว เขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน

……………..

“ฆ่าจนเสียชีวิต” คือทำอย่างไร

เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับล่าสุด) ดูคำบางคำ พบดังนี้ 

……………..

ฆ่า : (คำกริยา) ทําให้ตาย เช่น ฆ่าคน ฆ่าสัตว์; ทำให้หมดไป, ทำให้สิ้นไป, เช่น ฆ่าเวลา ฆ่ากลิ่น ฆ่าข้อความ.

ตาย ๑ : (คำกริยา) สิ้นใจ, สิ้นชีวิต, ไม่เป็นอยู่ต่อไป, สิ้นสภาพของการมีชีวิต, เช่น สภาวะสมองตาย; 

สิ้นชีวิต : (คำกริยา) ตาย เช่น บิดามารดาเขาสิ้นชีวิตไปนานแล้ว.

เสียชีพ, เสียชีวิต : (คำกริยา) ตาย เช่น เขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อวานนี้.

……………..

สรุปว่า 

ฆ่า คือทำให้ตาย

ตาย คือสิ้นชีวิต

สิ้นชีวิต คือตาย

“ฆ่า” ก็คือทำให้เสียชีวิต คือตาย

ถ้าไม่ตาย ก็ไม่เรียกว่า “ฆ่า”

เพราะฉะนั้น เมื่อ “ฆ่า” แล้วก็ไม่ต้องบอกว่า “จนเสียชีวิต”

เพราะ “ฆ่า” ที่ไม่เสียชีวิต ไม่มี

ลองดูคำเทียบเพื่อให้ชัดขึ้น

“ยิงจนตาย”

เมื่อยิงไปนัดแรก การยิงเกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว แม้ผู้ถูกยิงจะยังไม่ตาย ก็เรียกได้แล้วว่า “ยิง”

เมื่อยิงต่อไปจนผู้ถูกยิงเสียชีวิต จึงพูดได้ว่า “ยิงจนตาย”

“ตีจนตาย”

เมื่อตีทีแรก การตีเกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว แม้ผู้ถูกตีจะยังไม่ตาย ก็เรียกได้แล้วว่า “ตี”

เมื่อตีต่อไปจนผู้ถูกตีเสียชีวิต จึงพูดได้ว่า “ตีจนตาย”

แต่ “ฆ่าจนตาย” ไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อลงมือกระทำ-จะยิง หรือตี หรือทำอย่างไรก็ตาม-ถ้าผู้ถูกกระทำยังไม่ตาย ก็ยังไม่เรียกว่า “ฆ่า” 

จะเรียกว่า “ฆ่า” ได้ก็ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำได้ตายลง

“ฆ่า” กับ “ตาย” จึงต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน

ไม่มีฆ่าก่อน แล้วจึงตายทีหลัง 

เพราะฉะนั้นจึงพูดไม่ได้ว่า “ฆ่าจนตาย”

อาจจะมีคำพูดว่า “ฆ่าไม่ตาย” แต่พึงทราบว่าเป็นเพียงคำพูดติดปาก เพราะถ้าไม่ตาย เขาก็ไม่เรียกว่า “ฆ่า” 

ฆ่า ต้องตาย

ถ้าไม่ตาย ไม่ใช่ฆ่า

ภาษากฎหมายใช้คำว่า “พยายามฆ่า” ซึ่งเป็นคนละกรณีกับ “ฆ่า”

เรื่องเหล่านี้ถ้าขยันเปิดพจนานุกรมก็จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น

พจนานุกรมไม่ใช่มีแต่ภาษา 

ความรู้นานาก็มีอยู่ในพจนานุกรม

—————-

เมื่อก่อนนี้พจนานุกรมเป็นเล่มกระดาษ เก็บไว้ที่ห้องสมุด ในตู้หนังสือ หรือบนโต๊ะทำงานโต๊ะเขียนหนังสือ ถ้าจะเปิดค้นคำ ก็ต้องตามไปหยิบไปเปิดกันที่นั่น จะแบกพจนานุกรมไปไหนๆ ด้วยก็ไม่ได้ ไม่สะดวก

สมัยผมบวช เคยเดินจากวัดไปห้องสมุดประชาชนซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓ กม. เพียงเพื่อไปค้นคำคำเดียวในพจนานุกรม

และไม่ใช่ครั้งเดียว แต่บ่อยๆ 

นึกน้อยใจในความยากจนขัดสน ไม่มีเงินซื้อพจนานุกรมเป็นของตัวเอง

แต่ไม่เคยท้อถอยในการแสวงหาความรู้

เดี๋ยวนี้พจนานุกรมที่เป็นเล่มกระดาษก็ยังมีอยู่ แต่ได้พัฒนาไปเป็นคลื่นไฟฟ้าด้วยแล้ว จึงสามารถเปิดดูได้ทุกหนทุกแห่งที่มีอุปกรณ์เปิดคลื่นไฟฟ้า

เวลานี้คนสามารถพกพาอุปกรณ์เปิดคลื่นไฟฟ้าไปได้ทุกหนทุกแห่ง

แหล่งที่จะตักตวง กอบโกยหาความรู้จึงมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ ฉันทะ อุตสาหะ ความรัก ความสุขในการที่จะแสวงหาความรู้

……………..

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผมไปบรรยายเรื่อง “พ่อหลวงในดวงใจ” ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผมถามว่า พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์อยู่ที่จังหวัดอะไร

นักศึกษาที่ฟังตอบไม่ได้

ผมว่า ต่อไปเราคงต้องให้ฝรั่งมาสอนประวัติศาสตร์ไทยให้คนไทย

เราจะช่วยกันสอนลูกหลานของเราให้รู้ภาษาไทย รักภาษาไทย และใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

หรือจะรอให้ฝรั่งมาสอน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

๑๓:๔๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *