บาลีวันละคำ

คุณธรรม (บาลีวันละคำ 1,664)

คุณธรรม

ง่ายๆ แต่ยาก

อ่านว่า คุน-นะ-ทำ

ประกอบด้วย คุณ + ธรรม

(๑) “คุณ

บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + ปัจจัย

: คุณฺ + = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” (2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” (3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม

คุณ” ในบาลีหมายถึง –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

ตัวอย่างในข้อ (4) นี้ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = –เท่า) “-คูณ” คำนี้ก็แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > -) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > –มฺม )

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม

ธมฺมธรรม” มีความหมายหลายหลาก ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ธมฺม > ธรฺม > ธรรม แปลเป็นอังกฤษ :

หลายท่านเข้าใจคำฝรั่งได้ลึกซึ้งกว่าคำบาลีหรือแม้แต่คำไทย จึงขอเสนอคำแปลเป็นอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ไว้ด้วยดังนี้ –

ธรรม (Dhamma) :

1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).

2. the Law; nature.

3. the Truth; Ultimate Reality.

4. the Supramundane, especially nibbāna.

5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.

6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.

7. justice; impartiality.

8. thing; phenomenon.

9. a cognizable object; mind-object; idea.

10. mental state; mental factor; mental activities.

11. condition; cause; causal antecedent.

คุณ + ธมฺม = คุณธมฺม (คุ-นะ-ทำ-มะ) > คุณธรรม (คุน-นะ-ทำ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่เป็นคุณ” หมายถึง ความดีงาม, สภาพที่เกื้อกูล

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “คุณธรรม” (Guṇadhamma) เป็นอังกฤษว่า goodness; virtue.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คุณธรรม” ไว้สั้นๆ ว่า –

คุณธรรม : (คำนาม) สภาพคุณงามความดี.”

…………..

อภิปราย :

ดูเหมือนว่า “คุณธรรม” ตามบทนิยามสั้นๆ นี้ จะมีความหมายกว้างขวางจนจับหลักไม่ได้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอ “คุณธรรม” ที่ควรมีประจำชีวิตดังนี้ –

๑ “เบญจศีล-เบญจธรรม” เป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ ถ้าไม่มี หมายถึงขาดคุณสมบัติที่จะพึงเป็นมนุษย์

๒ “กุศลกรรมบถ” เป็นคุณธรรมที่ขยายมาจากเบญจศีล-เบญจธรรม เพื่อให้เห็นวิธีปฏิบัติชัดเจนขึ้น

๓ “ทิศหก” เป็นคุณธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นการบอกให้รู้ว่าเมื่ออยู่ในฐานะอะไร ควรปฏิบัติอะไรอย่างไรจึงสมสถานภาพของตน

๔ “โอวาทปาติโมกข์” คือ :

– ไม่ทำชั่วทุกกรณี

– ทำความดีให้เต็มความสามารถ

– ชำระใจให้ใสสะอาดจนถึงที่สุด

หลักข้อนี้เป็นกรอบใหญ่ครอบคลุมคุณธรรมทั้งหมด

โปรดทดสอบ “คุณธรรม” ด้วยการถามใจตัวเองว่ามีฉันทะอุตสาหะที่จะเริ่มศึกษาเรียนรู้ว่า “คุณธรรม” ตามที่เสนอมานี้มีรายละเอียดเป็นประการใด หรือไม่

อนึ่ง พึงเข้าใจว่า มิใช่ว่าจะต้องศึกษาให้เข้าใจทั้งหมดเสียก่อนจึงจะมีคุณธรรมได้

ถ้ายังไม่เข้าใจอะไรเลย การไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นๆ เดือดร้อน เป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดเพื่อการมี “คุณธรรม

เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว ก็ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

อันว่าคุณธรรมนั้น

: อย่าพอใจเพียงแค่รู้จัก

: แต่จงมีใจรักที่จะบำเพ็ญให้เกิดมี

—————-

(สนองคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Phramaha)

24-12-59