จักษุวิทยา (บาลีวันละคำ 2,204)
จักษุวิทยา
ยังไม่มีในพจนานุกรม
อ่านว่า จัก-สุ-วิด-ทะ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า จักษุ + วิทยา
(๑) “จักษุ”
บาลีเป็น “จกฺขุ” (จัก-ขุ) รากศัพท์มาจาก จกฺขฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + อุ ปัจจัย
: จกฺขฺ + อุ = จกฺขุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่ดู คือยินดีรูป” (2) “อวัยวะที่มองเห็นได้” หมายถึง ดวงตา, นัยน์ตา, ประสาทตา (the eye)
ในภาษาไทยมีใช้ทั้ง “จักขุ” และ “จักษุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) จักขุ, จักขุ– : (คำนาม) ตา. (ป.; ส. จกฺษุ).
(2) จักษุ : (คำนาม) ดวงตา. (ส.; ป. จกฺขุ).
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “จกฺขุ” สันสกฤตเป็น “จกฺษุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “จกฺษุ” มีแต่ “จกฺษุสฺ” บอกไว้ว่า
“จกฺษุสฺ : (คำนาม) ‘จักษุส,’ จักษุ, ตา; the eye.”
(๒) “วิทยา”
บาลีเป็น “วิชฺชา” (วิด-ชา) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
จักษุ + วิทยา = จักษุวิทยา แปลตามศัพท์ว่า “ความรู้ว่าด้วยดวงตา”
คำว่า “จักษุวิทยา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปราย :
“จักษุวิทยา” เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า Ophthalmology
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 25 มิถุนายน 2561 เวลา 20:30 น.) มีคำว่า “จักษุวิทยา” บอกไว้ดังนี้ –
“จักษุวิทยา (อังกฤษ: Ophthalmology) เป็นสาขาหนึ่งของแพทยศาสตร์ที่ศึกษากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และโรคของตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเรียกว่า จักษุแพทย์ ซึ่งต้องผ่านการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต และการศึกษาเป็นแพทย์ประจำบ้านด้านจักษุวิทยา และสอบผ่านวุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจักษุวิทยาจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์.”
…………..
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล Ophthalmology เป็นบาลีว่า
: nayanavijjā นยนวิชฺชา (นะ-ยะ-นะ-วิด-ชา) = ความรู้ว่าด้วยดวงตา
แถม :
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [217] แสดง “จักขุ” คือพระจักษุอันเป็นสมบัติของพระพระพุทธเจ้าไว้ดังนี้ –
จักขุ 5 (พระจักษุอันเป็นสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า — Cakkhu: the Five Eyes of the Blessed One)
1. มังสจักขุ (ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรอันงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว และเห็นไกล — Maṃsa-cakkhu: the physical eye which is exceptionally powerful and sensitive)
2. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปต่างๆ กัน ด้วยอำนาจกรรม — Dibba-cakkhu: the Divine Eye)
3. ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรม เป็นต้น — Paññā-cakkhu: the eye of wisdom; Wisdom-Eye)
4. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทริยปโรปริยัตตญาณ และอาสยานุสยญาณ เป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์ — Buddha-cakkhu: the eye of a Buddha; Buddha-Eye)
5. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ — Samanta-cakkhu: the eye of all-round knowledge; All-seeing Eye; omniscience)
…………..
: ตาเนื้อ เห็นความสุขแค่ในชาตินี้
: ตาดี เห็นความสุขไกลไปถึงชาติหน้า
: ตาปัญญา เห็นทะลุไปถึงสุขในพระนฤพาน
ดูก่อนภราดา!
ท่านมีดวงตาชนิดไหนบ้าง?
#บาลีวันละคำ (2,204)
25-6-61