โอม (บาลีวันละคำ 2,840)
โอม
ถ้ารู้จักเสกก็ศักดิ์สิทธิ์
อ่านตรงตัวว่า โอม (โอ- ม สะกด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โอม : (คำนาม) คำที่ประกอบด้วยเสียง ๓ เสียง คือ อ อุ ม [อ่านว่า อะ อุ มะ] รวมกัน ข้างฝ่ายฮินดูหมายถึง พระเจ้าทั้ง ๓ คือ อ = พระศิวะ อุ = พระวิษณุ ม = พระพรหม; ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาใช้หมายถึง พระรัตนตรัย คือ อ = อรหํ (พระพุทธเจ้า) อุ = อุตฺตมธมฺม (พระธรรมอันสูงสุด) ม = มหาสงฺฆ (พระสงฆ์) นับถือเป็นคําศักดิ์สิทธิ์, เป็นคำขึ้นต้นของการกล่าวมนตร์. (คำกริยา) กล่าวคําขึ้นต้นของมนตร์. (ส.).”
ที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาใช้หมายถึง พระรัตนตรัย คือ อ = อรหํ (พระพุทธเจ้า) อุ = อุตฺตมธมฺม (พระธรรมอันสูงสุด) ม = มหาสงฺฆ (พระสงฆ์)” นั้น มีปรากฏในบทสวดมนต์ที่เรียกชื่อว่า “นโมการฏฺฐกคาถา” (นะโมการัฏฐะกะคาถา) แปลว่า “คาถาอันประกอบด้วยคำว่า ‘นโม’ แปดบท” เรียกกันเป็นสามัญว่า “นะโมแปดบท” ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
“นโมการฏฺฐกคาถา” มีข้อความดังนี้ –
(ในที่นี้เขียนแบบคำอ่าน)
…………..
(๑) นะโม อะระหะโต สัมมา-
สัมพุทธัสสะ มะเหสิโน
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาซึ่งประโยชน์อันใหญ่
(๒) นะโม อุตตะมะธัมมัสสะ
ส๎วากขาตัสเสวะ เตนิธะ.
ขอนอบน้อมแด่พระธรรมอันสูงสุด
ที่พระองค์ตรัสดีแล้วในพระศาสนานี้
(๓) นะโม มะหาสังฆัสสาปิ
วิสุทธะสีละทิฏฐิโน
ขอนอบน้อมแด่พระอริยสงฆ์หมู่ใหญ่
ผู้มีศีลและทิฏฐิอันหมดจด
(๔) นะโม โอมาต๎ยารัทธัสสะ
ระตะนัต๎ยัสสะ สาธุกัง.
การนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ที่เริ่มต้นว่า “โอม” (คือ อะ อุ มะ) ดังนี้
ให้สำเร็จประโยชน์
(๕) นะโม โอมะกาตีตัสสะ
ตัสสะ วัตถุตตะยัสสะปิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
อันล่วงพ้นโทษที่ต่ำช้านั้น
(๖) นะโมการัปปะภาเวนะ
วิคัจฉันตุ อุปัททะวา.
ด้วยอำนาจการกระทำความนอบน้อม
อุปัทวะทั้งหลายจงบำราศไป
(๗) นะโมการานุภาเวนะ
สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา
ด้วยอานุภาพแห่งการกระทำความนอบน้อม
ขอความสวัสดีจงมีทุกเมื่อ
(๘) นะโมการัสสะ เตเชนะ
วิธิมหิ โหมิ เตชะวา.
ด้วยเดชแห่งการกระทำความนอบน้อม
เราจงเป็นผู้มีเดชในมงคลพิธีเถิด.
…………..
ในสันสกฤตก็มีคำว่า “โอมฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “โอมฺ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) โอมฺ ๑ : (คำนาม) คหนกากษร ‘โอม’ [อ+อุ=โอ, สกดด้วย ม=โอม]; the mystical monosyllable Om.
(2) โอมฺ ๒ : (คำนาม) คหนนามของเทพดา, กล่าวนำบทภาวนาและเลขยบัตร์โดยมากของชาวฮินดู; อุ.อ.ม. ได้แก่นามพระวิษณุ, พระศิวะ, พระพรหม; ศัพท์นี้เปนตริตยหรือองค์สาม (ไตรสรณาคม) ของชาวอินเดีย; the mystic name of the deity, perfecting all the prayers and most of the writings of the Hindus; u. a. m. are short forms for Vishṇu, Śiva, and Braham; the word implies the Indian triad, and expresses the three in one; (คำอุทาน) นิบาตบอกความบังคับ, บอกความตกลงยินยอม (เช่น, เทียว, ฯลฯ), บอกความเปนมงคล, บอกความโยกย้าย (เช่น, ไป); อุปกรมนิบาต; a particle of command, of assent (as, verity, etc.), of auspiciousness, of removal (as, away); an inceptive particle.
…………..
ในบาลีมีคำตรงๆ ว่า “โอม” อ่านว่า โอ-มะ รากศัพท์มาจาก อุมฺ (ธาตุ = ติเตียน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ อุ-(มฺ) เป็น โอ (อุมฺ > โอม)
: อุมฺ + อ = อุม > โอม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรถูกติเตียน” หมายถึง ต่ำกว่า [ในตำแหน่งและชั้นหรือยศ], เลวกว่า, ด้อย (lower [in position & rank], inferior, low)
“โอม” ลง ก สกรรถ (กะ สะ-กัด, มีความหมายเท่าเดิม) เป็น “โอมก” (โอ-มะ-กะ) ดังในคำว่า “โอมะกาตีตัสสะ” (โอมก + อตีตสฺส)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โอมก” ว่า lower in rank, inferior; low, insignificant ([ชั้นหรือยศ] ต่ำกว่า, ด้อยกว่า; ต่ำต้อย, ไม่สำคัญ)
เป็นอันว่า –
๑ ในบาลีก็มีคำว่า “โอม” แต่เป็นคนละคำกับ “โอม” ที่รวมเสียงมาจาก อ อุ ม (อะ อุ มะ) ความหมายก็เป็นคนละอย่างกัน
๒ “อ อุ ม” (อะ อุ มะ) ที่รวมเสียงเป็น “โอม” นั้น คนทั่วไปมักพูดว่า “ม อ อุ” (มะ อะ อุ) การที่พูดเช่นนี้จะเป็นเพราะจำสลับกัน หรือเป็นอีกคำหนึ่ง คือคนละคำกับ “อ อุ ม” เป็นเรื่องที่ผู้สนใจควรศึกษาสืบค้นต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่ารีบปฏิเสธมนตร์ว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์
: แต่ก็อย่าฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับมนตร์
#บาลีวันละคำ (2,840)
22-3-63