บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัฒนธรรมโลก

วัฒนธรรมโลก

—————-

มีญาติมิตรท่านหนึ่งซึ่งคอยส่งข่าวสารทั่วไปให้ผมทราบอยู่เนืองๆ ท่านโพสต์ข้อความถึงผมเมื่อวันก่อนเกี่ยวกับสถานีตำรวจขึ้นป้ายเป็นภาษาอังกฤษ

ข้อความที่ท่านเขียนเป็นดังนี้ 

(ขออนุญาตปรับแก้อักขรวิธีบ้างเล็กน้อย)

………….

ไทยเป็นเมืองขึ้นประเทศอังกฤษ ?

………

ภาษาคือ มรดกที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรม

อันชนชาติใดที่มิได้เป็นเจ้าของภาษา ยืมภาษาของชนชาติอื่นมาใช้ ชนชาตินั้น จะไม่สามารถแสดงเอกลักษณ์ประจำชาติของตนได้ (เช่นสิงคโปร์)

ท่านทั้งหลายอาจะไม่สังเกต แต่ผมสังเกตและเก็บความสงสัยมานานแล้วว่า

4-5 ปีที่ผ่านมา

ทุกสถานีตำรวจไทยทั่วทั้งประเทศ และเป็นหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่ขึ้นป้ายเอาภาษาอังกฤษไว้ข้างบนภาษาไทย 

POLICE

ตามด้วยสถานีตำรวจ……

สงสัยครับ สงสัยครับ

เดิมทีนั้น มีแต่ป้ายภาษาไทยอย่างเดียว 

ผมสังเกตว่า 

ทุกชาติในโลก จะเอาภาษาพ่อภาษาแม่ขึ้นก่อนภาษาที่ 2 เสมอ (ยกเว้นชนชาตินั้นใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักของตน) 

และระเบียบราชการก็ว่าไว้เช่นนั้น

แต่หน่วยงานตำรวจไทยมีข้อยกเว้นรึ

ฤๅเป็นไทยนิยม

กระผมใคร่ขอความเห็นขอรับ

ท่านอาจารย์พูดได้ไอดัง….

—————-

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผมครับ

เรื่องสถานีตำรวจยกป้ายเป็นภาษาอังกฤษนั้นเป็นเหมือนกันทั่วราชอาณาจักรแล้วครับ 

ราชบุรีบ้านผมก็ขึ้นป้ายรูปลักษณ์เดียวกันนี้ (ดูภาพประกอบ)

เข้าใจว่าเป็นนโยบายระดับชาติ 

กล่าวคือมีผู้เสนอให้ทำแบบนี้ 

แล้วผู้มีอำนาจในชาติก็อนุมัติตามเสนอ

ที่ประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสรู้ก็คือ ทั้งผู้เสนอและผู้อนุมัติมีเหตุผลอย่างไรในการที่ทำเช่นนี้

ที่พอเดาใจได้ก็คือ 

๑ ต้องการอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติ 

หมายความว่า เวลาชาวต่างชาติเกิดความจำเป็นจะต้องพึ่งตำรวจ ก็ไม่ต้องไปมัวส่งภาษาสอบถามใครให้เสียเวลา เห็นป้ายบนหลังคาบ้านก็รู้เลย-คนเสนอและคนอนุมัติคงคิดแบบนี้

๒ เพื่อให้เข้าสู่ระบบสากล 

หมายความว่า ที่ไหนๆ เขาก็ใช้ภาษาฝรั่งกันทั้งนั้น ไทยเราจะมามัวล้าหลังอยู่ทำไม ควรอนุวัติตามโลกจึงจะถูกต้อง-คนเสนอและคนอนุมัติก็คงคิดแบบนี้

ผมสังเกตเห็นว่า เวลานี้มีกระแส “วัฒนธรรมสากล” เกิดขึ้นในสังคมไทยมากขึ้น

กระแสนี้มีแนวคิดที่บอกว่า มนุษย์ควรมีวัฒนธรรมเดียว 

แนวคิดนี้พยายามโฆษณาว่า โลกก้าวหน้าไปมากแล้ว เลิกบ้า “วัฒนธรรมชาติ” กันเสียทีเถอะ 

อย่างเช่น-เคารพธงชาติ-เคารพเพลงชาติ จะถูกกระแสนี้ตีอย่างหนัก

แล้วก็มีแนวโน้มว่าจะได้ผลด้วย

เวลานี้ที่ราชบุรีบ้านผม เวลาได้ยินเพลงชาติทางเสียงตามสาย แทบจะไม่มีใครหยุดฟังกันแล้ว

ใครยืนตรงเคารพเพลงชาติ จะถูกแนวคิดกระแสนี้ประณามทันทีว่าเป็นพวกคลั่งชาติ

ผู้บริหารบ้านเมืองก็ไม่ทำอะไร สังเกตดูว่ามีความโน้มเอียงที่จะบอกว่า-แล้วแต่ความสมัครใจ เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย

คิดอย่างนี้ก็สวัสดีเมืองไทยแน่

ต่อไปประเทศไทยก็ไม่เหลืออะไร

เพราะแนวคิดกระแสนี้เขาบอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่ “เป็นไทยๆ” ให้รุงรัง

โลกควรมีวัฒนธรรมเดียวคือวัฒนธรรมโลก วัฒนธรรมสากล 

ไม่ต้องมาเสียเวลาปกป้องวัฒนธรรมไทย 

อยู่อย่างไทย

กิริยามารยาทแบบไทย

แต่งกายแบบไทย

กินอาหารไทย

ฟังเพลงไทย

ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง-รวมทั้งยกย่องภาษาไทย อย่างกรณีที่กำลังยกขึ้นมาพูดกันนี้

เขาบอกว่า-เลิกบ้ากันทีเถอะ

มนุษย์ควรมีวัฒนธรรมเดียวคือวัฒนธรรมสากล

แต่งตัวเหมือนกัน

กินอาหารแบบเดียวกัน

ดำรงชีพด้วยวิธีเดียวกัน

นับถือศาสนาเดียวกัน (คือไม่ต้องนับถือศาสนาอะไรทั้งสิ้น)

พักผ่อน-เสพสุขด้วยวิธีเดียวกัน

และใช้ภาษาเดียวกัน 

ไม่ต้องมีภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาบ้าบออะไรทั้งนั้น

แต่มีภาษาโลก 

ภาษาโลกคือภาษาอะไร ไม่ต้องบอกก็พอจะเห็นกันอยู่

ผมเคยได้ยินนักวิชาการเขาเรียกภาษาไทยว่า “ภาษาของคนพื้นเมือง”

เหมือนกับจะประกาศว่า ภาษาของชาวโลกที่เจริญแล้วคือภาษาอังกฤษเท่านั้น

นอกนั้นคือ “ภาษาของคนพื้นเมือง” 

เป็นภาษาที่ล้าสมัยไร้สาระ

หลักการของท่านจำพวกนี้ก็แสนจะสะดวกมาก คือ –

ไม่อยากทำอะไร ก็ไม่ต้องทำ

แต่อยากทำอะไร ต้องได้ทำ

เพราะฉะนั้น ตามแนวคิดของท่านเหล่านี้ สังคมไม่จำเป็นจะต้องมีใครหรือกฎอะไรมาบอกว่าใครควรทำอะไร

ใครไม่อยากทำอะไร ไม่มีใครมีสิทธิ์มาบังคับให้ต้องทำ

ขณะเดียวกัน ใครอยากทำอะไร เขาต้องได้สิทธิ์ที่จะทำ ไม่มีใครมีสิทธิ์มาห้ามไม่ให้ทำ

จะเห็นได้ว่ามันก็คือเสรีภาพที่ใช้ความต้องการของแต่ละคนเป็นเกณฑ์นั่นเอง

ท่านเหล่านั้นอาจจะลืมนึกไปว่า ความต้องการของแต่ละคนนั้นไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน

เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำอะไรและไม่ต้องทำอะไรตามความต้องการของตนได้ทุกอย่าง มันก็คืออนาธิปไตย (anarchy) ชนิดหนึ่งนั่นเอง

………..

ถ้าจะแย้งว่า-ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น ยังต้องมีกรอบขอบเขตอันเหมาะสมอยู่ ไม่ใช่ไม่ให้ยึดหลักอะไรเลย อย่ามองกันเลยเถิดไปถึงขนาดนั้น

ถ้าเช่นนั้น ก็ตรงนี้แหละครับที่ควรเอาเหตุผลเข้ามาสู้กัน

ที่ท่านว่าไม่ต้องเคารพธงชาติเพลงชาติ ท่านมีเหตุผลอย่างไร 

คนที่เขาเคารพเขามีเหตุผลอย่างไร

ที่ท่านว่าไม่ต้องมีภาษาของชาติ ไม่ต้องมารักษาภาษาไทยที่ดีที่ถูกต้อง ท่านมีเหตุผลอย่างไร 

คนที่เขารักภาษาไทยเขามีเหตุผลอย่างไร

ฯลฯ

เอาเหตุผลมาสู้กัน

ไม่ใช่อยู่ๆ ก็บอกว่า-ก็กูจะคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้ ใครจะทำไม

………..

กล่าวเฉพาะกรณีภาษาไทยอันเป็น “ภาษาพ่อภาษาแม่” ของพวกเรา

ผมเชื่อว่าเด็กไทยรุ่นใหม่ ณ เวลานี้ ไม่ได้รับการศึกษาเรียนรู้กันอีกแล้วว่า “ภาษาไทยที่ดี” เป็นอย่างไร

ทั้งไม่รู้หลัก

ทั้งไม่เคยได้อ่านได้ซึมซับ

อุปมาเหมือนแกงส้มชาววังอันเลิศรส

สูตรที่จะแกงก็ไม่รู้

รสชาติแกงชนิดนั้นเป็นอย่างไรก็ไม่เคยชิม

เขาก็จะบอกกันว่า-แกงถุงตามตลาดก็กินได้เหมือนกัน

ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อความซาบซึ้งในความงามแห่งภาษาของตนก็ไม่มีเช่นนี้แล้ว

ความรักความภูมิใจใน “ภาษาพ่อภาษาแม่” ของตนจะมีมาแต่ที่ไหน

แต่ที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ กระแสภาษาสากลก็ไหลบ่าท่วมทับท่วมท้นจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น

ไม่รู้รสภาษาของตัว-เหมือนแรงดันให้ออก

รับแต่รสภาษาจากภายนอก-เหมือนแรงดึงให้หลุดออกไป

ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่จึงพร้อมเสมอที่จะชื่นชมยกย่องภาษาสากลให้อยู่เหนือ “ภาษาพ่อภาษาแม่” พร้อมๆ ไปกับเหยียดหยามภาษาของตนให้เป็นได้แค่ “ภาษาของคนพื้นเมือง” เท่านั้น 

——————-

แล้วจะทำอย่างไรกัน?

นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบ

ถ้าถามผม ผมก็จะตอบว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

เราต้องมีแม่ทัพระดับ “มหาบุรุษ” เท่านั้นจึงจะชนะได้

แต่เมื่อเราไม่รู้ว่ามหาบุรุษเช่นว่านี้ท่านอยู่ที่ไหน เกิดแล้วหรือยัง วิธีที่ทุกคนควรจะทำได้ก็คือ สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง

คือผมมองว่า 

การเชิดชูเห็นความสำคัญของภาษาสากลเหนือกว่าภาษาพ่อภาษาแม่ของตัวเอง ๑ 

การดูถูกภาษาพ่อภาษาแม่ของตัวเอง ๑ 

เป็นเหมือนโรคระบาดที่ควบคุมไม่ได้

ผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมือง-ซึ่งตามหลักการแล้วคือผู้มีหน้าที่ควบคุมและกำจัดโรคระบาดที่ว่านั้น-ก็คือคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยซาบซึ้งอะไรกับภาษาพ่อภาษาแม่ของตัวเอง-กลายเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคระบาดนั้นเสียเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากติดโรค ก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการ –

๑ อย่าพลอยเห็นดีเห็นงามไปกับพฤติการณ์เชิดชูภาษาสากลและดูถูกภาษาของตัวเอง

๒ จงศึกษาเรียนรู้ให้เข้าถึงความดีความงามของภาษาของตัวเอง จนถึงระดับสามารถถ่ายทอดไปยังคนอื่นๆ ได้ด้วย เหมือนคนที่ “กินเป็น-แกงเป็น” 

ระดับจุลภาคหรือระดับส่วนตัว แต่ละคนลงมือสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้เลยตั้งแต่บัดนี้

ส่วนระดับมหภาคหรือระดับสังคมส่วนรวม ใครมีบารมีด้านไหน ก็ใช้บารมีด้านนั้นทำกันไป 

แต่อย่าไปคิดหวังเป็นอันขาดว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลที่จะมีมาในอนาคตจะต้องทำ 

เพราะความเป็นจริงพิสูจน์ให้เห็นตลอดมาว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลไม่ว่าสมัยไหน ไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน 

หากแต่เข้ามาเพื่อหวังกอบโกยประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้องโดยอ้างประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนบังหน้าเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น แต่ละคนลงมือทำเดี๋ยวนี้ ดีกว่ามัวแต่เกี่ยงให้คนอื่นทำ

วัฒนธรรมประจำชาติอุปมาเหมือนอุทยานอันสวยงามอลังการ

ใครได้ศึกษาสัมผัสซึมซับก็เหมือนได้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ได้ชมชื่นรื่นรมย์กับความสวยงาม

การกระทำเช่นนี้ แม้หากว่าจะไม่สามารถดำรงรักษาวัฒนธรรมของเราไว้ได้ เราก็ได้สัมผัสความดีงามด้วยตัวของเราเองอยู่ตลอดเวลาแล้ว มีแต่ได้ ไม่มีอะไรจะต้องเสีย ใครทำใครได้

งานนี้มีแต่กำไรครับ ไม่มีทางขาดทุนเลย

การกระทำเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าเราปฏิเสธวัฒนธรรมสากล

วัฒนธรรมสากล-เช่นภาษาอังกฤษ-เราก็พร้อมที่จะเรียน จะรู้ จะใช้

เรียนให้เก่ง ใช้ให้ดีเลิศยิ่งกว่าพวกที่ยกภาษาอังกฤษขึ้นไปติดหลังคาบ้านตัวเองนั่นเสียอีก

แต่เรารู้จักกาลเทศะ

รู้จักว่านี่คือบ้านของเรา

รู้จักว่าเวลาไหนควรภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา

………..

อาจารย์ประวิทย์ จำปาทอง นักการศึกษาอาวุโสคนหนึ่งของเมืองไทย คนราชบุรี (ถึงแก่กรรมแล้ว) เล่าให้ผมฟังนานมาแล้วว่า ครูญี่ปุ่นคนหนึ่ง-ในยุคสมัยที่คนญี่ปุ่นถือเคร่งครัดไม่พูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติ (ในความหมายที่ว่าถ้าคุณอยากคุยอะไรกับคนญี่ปุ่น คุณก็สมควรจะต้องเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นให้พอที่จะสื่อสารเรื่องที่คุณอยากรู้นั้นได้)-ทำหน้าที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นให้แก่นักศึกษาชาวต่างชาติในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ครูญี่ปุ่นคนนี้ท่านสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น จึงต้องมีล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วย

ท่านบรรยายไป ล่ามก็แปลไป

วันหนึ่ง ท่านบรรยายไป แล้วล่ามก็แปล

ท่านพูดประโยคนั้นซ้ำอีก

ล่ามก็แปลซ้ำอีก

ท่านพูดประโยคนั้นซ้ำอีก ๒-๓ เที่ยว

ล่ามก็แปลซ้ำอีกเหมือนเดิม

ท่านเกิดขัดใจขึ้นมา คว้าชอล์กไปเขียนบนกระดานดำหน้าชั้น เขียนข้อความที่ท่านพูดนั้นเป็นภาษาอังกฤษอย่างรวดเร็วเท่ากับที่คนอังกฤษเขียน แล้วพูดประโยคนั้นเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่ชัดเจนเท่ากับคนอังกฤษที่พูดภาษาอังกฤษชั้นดี

ที่ต้องทำอย่างนั้นก็เพราะล่ามแปลข้อความภาษาญี่ปุ่นของท่านผิด

ท่านอุตส่าห์พูดซ้ำอีก ๒-๓ เที่ยว ล่ามก็ยังแปลผิดอยู่นั่นเอง ท่านจึงต้องแปลให้ดูกันเอง

นักศึกษาต่างชาติเหล่านั้นจึงได้รู้ความจริงว่าครูท่านนั้นรู้ภาษาอังกฤษดีกว่าล่ามหลายชั้น

แต่ท่านรักษาเอกลักษณ์ของชาติญี่ปุ่นตามอุดมการณ์ชาติไว้อย่างมั่นคง

………..

การกระทำอย่างนี้ ถ้าบรรพบุรุษของเรา-ที่ท่านสร้างภาษาไทย สร้างวัฒนธรรมไทยเป็นมรดกไว้ให้เรา-ท่านทราบได้ด้วยญาณวิถีใดๆ ท่านจะต้องภาคภูมิใจในตัวลูกหลานของท่าน

เราเอง จะรักษาไว้ได้แค่ไหนก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเราทำหน้าที่ของเราเต็มกำลังแล้ว ทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว

นึกขึ้นมาทีไรก็ภาคภูมิใจได้เต็มที่ว่า-ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นคนไทย

ไม่รู้จักวัฒนธรรมสากล ยังไม่น่าเกรง

แต่ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง นี่สิน่ากลัว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

๑๑:๔๑

——

(ความคิดเห็นท้ายโพสต์ เรื่อง “วัฒนธรรมโลก” ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

Chuang Carter · เป็นเพื่อนกับ ชุมพร รำไพ และ คนอื่น ๆ อีก 9 คน

อ่านแล้วเศร้าซ้อนหลายเศร้าที่เดียวคะอาจารย์ทองย้อย เศร้าสุดเศร้าก็ตรงที่ท่านบอกว่าอย่าดูถูกภาษาพ่อภาษาแม่คะ ท่านเคร่งครัดในทุกเรื่องท่านไม่ทราบเลยหรือคะว่าความเป็นไทยดูถูบรรพบุรุษของตนมาแต่ไหนแต่ไรคะ ท่านจะคาดหวังอะไรคะ ท่านทองย้อยอยุธยาก่อนพูดภาษาเขมรครั้งมาใช้ภาษาไตไทย ทุกวันนี้ยังใช้ตัวอักษรเขมรอยู่เลยคะ ขอมเปลี่ยนชื่อเป็นเขมร แม้แต่คัมภีร์ใบลานที่ท่านพูดถึงไม่กี่วันที่ท่านบอกต้องแปลภาษาจากเขมรมาเป็นไทยท่านยังเรียกขอมตัวท่านไม่ยอมบอกว่าแปลมาจากภาษาเขมร ท่านบอกว่าเป็นภาษาขอมเพราะท่านเองนั้นดูถูกภาษาเขมรตัวท่านเองยังเลี่ยงยังเรียกขอมไม่ยอมเรียกเขมรไม่ต่างคนไม่ยอมเรียกไทยแต่เรียกสยามนั้นเอง แค่ตรงนี้มันย้อยแย้งในตัวของมันเองสุดๆคะ คนไทยเองนั้นช่างตอแหลไม่เลิกราแล้วยังไงต่อคะท่าน ถ้ารุ่นของท่านรังเกียจภาษาบรรพบุรุษขนาดนั้นคนรุ่นหลังนี้คงไม่ต่างกันเลยคะ อะไรที่พอจะมองว่าพอดีพองามก้ควรทำอย่างยิ่งคะแต่ถ้าบอกว่าคนรุ่นหลังนั้นเป็นพวกดูกถุกภาษาพ่อภาษาแม่ท่านต้องย้อนดูที่ตัวท่านก่อนเลยคะท่านทองย้อย

———

ขอประทานโทษนะครับ

.

ผมเขียนตอบชี้แจงความคิดเห็นนี้ แต่ข้อความยาวมาก โพสต์ในช่องแสดงความคิดเห็นรวดเดียวจบไม่ได้ จึงจะขอตัดลงเป็นท่อนๆ นะครับ

.

ขออนุญาตชี้แจงตรงข้อความที่ว่า – “แม้แต่คัมภีร์ใบลานที่ท่านพูดถึงไม่กี่วันที่ท่านบอกต้องแปลภาษาจากเขมรมาเป็นไทยท่านยังเรียกขอมตัวท่านไม่ยอมบอกว่าแปลมาจากภาษาเขมร ท่านบอกว่าเป็นภาษาขอมเพราะท่านเองนั้นดูถูกภาษาเขมรตัวท่านเองยังเลี่ยงยังเรียกขอมไม่ยอมเรียกเขมร” 

.

คัมภีร์ใบลานที่พูดถึงนี้คือคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยซึ่งสมัยก่อนนิยมจารลงบนใบลาน อักษรที่ใช้จาร (หมายถึงตัวหนังสือที่เขียนลงบนใบลาน) นั้น ท่านเรียกกันว่า “อักษรขอม” หรือบางทีเรียกสั้นๆ ว่า “ขอม” เช่น “เขียนขอม” หมายถึงเขียนเป็นอักษรขอม 

.

อักษรขอมที่ว่านี้ ขอเรียนว่า คนไทยรุ่นเก่าๆ ท่านเรียกกันว่า “ขอม” หรือ “ตัวขอม” ทั้งนั้น ในวงการคัมภีร์ผมยังไม่เคยได้ยินใครเรียกว่า “อักษรเขมร” เลย 

.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า – “เขมร: ชื่อประเทศและชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับไทย ลาว และเวียดนาม มีภาษาพูดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร และมีอักษรของตนเองใช้ เรียกว่า อักษรขอม”

.

เป็นอันว่าอักษรชนิดนี้ท่านเรียกกันว่า “อักษรขอม” ไม่ใช่ “อักษรเขมร”

.

หนังสือสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่คำว่า “ขอม” บอกว่า –

๑ ชนชาติโบราณพวกหนึ่งในแหลมอินจีน

๒ เป็นชื่อใช้เรียกตัวหนังสือเขมรว่า ตัวหนังสือขอม

.

ที่คำว่า “เขมร” ก็บอกว่าเป็น ชนชาติ อย่างหนึ่ง และเป็น ภาษา อย่างหนึ่ง 

.

ตามนัยนี้ ถ้าเป็นภาษา เราเรียกว่า “ภาษาเขมร” ไม่เรียกว่า “ภาษาขอม” แต่ถ้าเป็นตัวหนังสือ เราเรียกว่าตัวหนังสือขอม ซึ่งก็คือ “อักษรขอม” ไม่เรียกว่า “อักษรเขมร”

.

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่คัมภีร์ใบลานที่ว่านั้นแม้จะจารเป็นตัวหนังสือขอม (หรือใครติดใจจะเรียกว่า “อักษรเขมร” ก็ตามสะดวก) แต่ภาษาก็เป็น “ภาษาบาลี” ไม่ใช่ “ภาษาเขมร” หรือ “ภาษาขอม” พูดให้เข้าใจง่ายว่า ใช้ตัวหนังสือขอมเขียนภาษาบาลี

.

เทียบให้เข้าใจง่าย ชื่อผม “ทองย้อย” ถ้าเขียนว่า Thongyoi จะเรียกว่าภาษาอะไร? “Thongyoi” ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ” ยังคงเป็น “ภาษาไทย” อยู่นั่นเอง เพราะอ่านว่า ทอง-ย้อย ซึ่งเป็นภาษาไทย เพียงแต่ว่าเขียนเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ – นี่ฉันใด

.

คัมภีร์ใบลานก็ฉันนั้น เขียนเป็นอักษรขอม ก็จริง แต่ภาษาคงเป็น “ภาษาบาลี” ไม่ใช่ “ภาษาขอม” หรือภาษาเขมร

.

เพราะฉะนั้น จะพูดว่า “แปลมาจากภาษาเขมร” หรือ “แปลมาจากภาษาขอม” ก็ไม่ถูกทั้งสิ้น และคัมภีร์ใบลานของไทยเราเท่าที่ผมศึกษามาก็ไม่มีฉบับไหนเลยที่แปลมาจากภาษาเขมร

.

การเปลี่ยนอักษรจากอักษรชนิดหนึ่งไปเป็นอักษรอีกชนิดหนึ่ง (แต่ “ภาษา” ยังคงเป็นภาษาเดิม) ในวงการคัมภีร์ท่านเรียกกันว่า “ปริวรรต” (transliteration) เป็นคนละวิธีกับการแปล (translation) 

.

ปริวรรต = เปลี่ยนอักษร แต่ภาษายังคงเป็นภาษาเดิม

แปล = เปลี่ยนภาษา คือเปลี่ยนจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง

.

เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกความแตกต่างระหว่าง “อักษร” กับ “ภาษา” ให้ออก

.

เมื่อกล่าวถึงคัมภีร์ใบลาน ผมใช้คำว่า “อักษรขอม” ก็เพราะท่านเรียกกันอย่างนั้น จะให้ใช้คำว่า “อักษรเขมร” ก็ไม่ตรงกับที่ท่านใช้กัน 

.

เวลานี้ถ้าพูดว่า “คัมภีร์อักษรขอม” ทุกคนจะเข้าใจถูกต้องว่าหมายถึงคัมภีร์ใบลานภาษาบาลีที่จารเป็นตัวหนังสือขอม ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองไทย (แหล่งใหญ่คือหอสมุดแห่งชาติ)

.

แต่ถ้าพูดว่า “คัมภีร์อักษรเขมร” จะไม่มีใครเข้าใจ ยิ่งถ้าพูดว่า “คัมภีร์ภาษาเขมร” ด้วยแล้ว จะต้องหมายถึงคัมภีร์พระไตรปิฎกที่มีอยู่ในประเทศกัมพูชาและแปลจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาเขมรแล้ว ซึ่งอยู่นอกขอบเขต “คัมภีร์ใบลาน” ที่ผมเอ่ยถึง

.

การใช้คำว่า “ขอม” แทนที่จะใช้คำว่า “เขมร” เช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องดูถูกคำอะไรหรือภาษาอะไร เป็นการใช้ตามที่ใช้กันจนลงตัวแล้วเท่านั้นเอง 

.

ประเด็นก็คงอยู่ที่ว่า (๑) เรามีอะไรเป็นของเดิมอยู่แล้วก็ควรใช้ของเดิม ไม่ควรใช้ของใหม่ หรือว่า (๒) เราควรเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมของสังคม ไม่ควรยึดติดอยู่กับของเดิมจนไม่ลืมตามองโลก – (ซึ่งน่าจะไม่ใช่ปัญหาของคัมภีร์ใบลาน เพราะคัมภีร์ใบลานก้าวข้ามจากใบลานอักษรขอมมาเป็นแผ่นกระดาษอักษรไทยนานแล้ว และเวลานี้กำลังเปลี่ยนรูปไปเป็นคลื่นไฟฟ้าต่อไปอีก) 

ถ้าเป็นประเด็นของเดิม-ของใหม่แบบนี้ ก็เชิญแสดงความคิดเห็นกันได้ตามอัธยาศัยครับ

.

อันนี้แถมเรื่อง “ภาษา-อักษร” ครับ

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/672814716145602

.

ขออภัยที่พูดยาว (แล้วยังมีแถมอีก)

(๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

———

Zamar Sib Oon‎ ถึง ทองย้อย แสงสินชัย

22 ชม. · 

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

ไทยเป็นเมืองขึ้นประเทศอังกฤษ ?

………

ภาษาคือ มรดกที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรม

อันชนชาติใดที่มิได้เป็นเจ้าของภาษา ยืมภาษาของชนชาติอื่นมาใช้ ชนชาตินั้น จะไม่สามารถแสดงเอกลักษณ์ประจำชาติของตนได้(สิงคโปร์)

ท่านทั้งหลายอาจะไม่สังเกต แต่ผมสังเกตและเก็บความสงสัยมานานแล้วว่า

4-5 ปีที่ผ่านมา

ทุกสถานีตำรวจไทยทั่วทั้งประเทศ และเป็นหน่วยงานเดียวเท่านั้น

ที่ขึ้นป้าย เอาภาษาอังกฤษ ไว้ข้างบนภาษาไทย 

POLICE

ตามด้วยสถานีตำรวจ……

สงสัยครับ สงสัยครับ

เดิมทีนั้น มีแต่ป้ายภาษาไทยอย่างเดียว(ตามภาพประกอบ)

ผมสังเกตว่า 

ทุกชาติในโลก จะเอาภาษาพ่อง ภาษา แ…่งขึ้นก่อนภาษาที่2

เสมอ. (ยกเว้นชนชาตินั้นใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักของตน)และระเบียบราชการก็ว่าไว้เช่นนั้น

แต่หน่วยงานตำรวจไทย มีข้อยกเว้นรึ

ฤา เป็นไทยนิยม

ท่านอาจารย์ขอรับ 

กระผมใคร่ขอความเห็นขอรับ

ท่านอาจารย์ พูดได้ไอดัง….

กราบอนุโมนทสาธุ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *