บาลีวันละคำ

วนประเวศน์ (บาลีวันละคำ 2,075)

วนประเวศน์

กัณฑ์ที่ 4 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า วะ-นะ-ปฺระ-เวด

คนเก่ามักออกเสียงเป็น วัน-นะ-ปฺระ-เหฺวด

ประกอบด้วยคำว่า วน + ประเวศน์

(๑) “วน

บาลีอ่านว่า วะ-นะ รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + ปัจจัย

: วนฺ + = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย

วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า

คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว

คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้

(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์

(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”

(๒) “ประเวศน์

บาลีเป็น “ปเวสน” (ปะ-เว-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน) + วิสฺ (ธาตุ = ไป, เข้าไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ วิ-(สฺ) เป็น เอ (วิส > เวส)

: + วิสฺ = ปวิสฺ + ยุ > อน = ปวิสน > ปเวสน แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “การเข้าไป

ปเวสน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การไป, การดำเนินไป, การเข้าไป (going in, entering, entrance)

(2) การเริ่มต้น (beginning)

(3) การใส่เข้าไป, การใช้หรือการยื่นส่งให้ (putting in, application)

(4) ทางเข้า (means of entry)

(5) (คุณศัพท์) สามารถเข้าได้ (able to enter)

บาลี “ปเวสน” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประเวศ” และ “ประเวศน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประเวศ, ประเวศน์ : (คำนาม) การเข้ามา, การเข้าถึง, การเข้าสู่. (ส. ปฺรเวศ, ปฺรเวศน; ป. ปเวส, ปเวสน).”

วน + ปเวสน ซ้อน ปฺ

: วน + ปฺ + ปเวสน = วนปฺปเวสน (วะ-นับ-ปะ-เว-สะ-นะ) แปลว่า “การเข้าไปสู่ป่า

ในภาษาไทยตัด ปฺ ตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้อิงสันสกฤตเป็น “วนประเวศน์

ขยายความ :

วนประเวศน์” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 4 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1108-1122 หน้า 389-394) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “วนปฺปเวสนํ” (ดูภาพประกอบ) ซึ่งตรงกับที่ภาษาไทยใช้ว่า “วนประเวศน์

เรื่องราวในกัณฑ์ “วนประเวศน์” ว่าด้วยพระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี และชาลี กัณหา เสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากกรุงสีพีมุ่งไปยังป่าหิมพานต์ เป็นระยะทาง 30 โยชน์ ถึงเมืองเจตราษฎร์ (หรือเจตรัฐ) อันเป็นเมืองพันธมิตร

กษัตริย์เมืองนั้นเชื้อเชิญให้อยู่ครองเมืองก็ไม่ทรงรับ เสด็จต่อไปอีก 15 โยชน์ถึงประตูป่า กษัตริย์เมืองเจตราษฎร์ตั้งให้พรานเจตบุตรเป็นนายด่านอยู่รักษา

เสด็จเข้าป่าไปอีก 15 โยชน์ ก็ถึงอาศรมที่พระอินทร์สั่งให้วิษณุกรรมเทพบุตรลงมาเนรมิตไว้รอท่า ก็ทรงถือเพศผนวชเป็นดาบสพร้อมกันทั้ง 4 พระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้นโดยสงบสืบมาเป็นเวลา 7 เดือน

สมกับชื่อกัณฑ์ว่า “วนประเวศน์” ที่แปลว่า “การเข้าไปสู่ป่า” ด้วยประการฉะนี้

……..

กัณฑ์ที่ 4 วนปฺปเวสนํ 57 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงพระยาเดิน

…………..

ดูก่อนภราดา!

๏ ผลาญป่าเพื่อแปลงเมือง

จนป่าเปลืองภูเขาเปลือย

โลกร้อนลงนอนเลื้อย

แล้วคิดออกด้วยติดแอร์

๏ แอร์เย็นได้ร้อยคน

แต่ร้อนพ่นล้านคนแผ่

ป่าป่นเพราะคนแปร

สัตว์ป่าป่นเพราะโดนปืน!

#บาลีวันละคำ (2,075)

16-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย