บาลีวันละคำ

หิมพานต์ [2] (บาลีวันละคำ 2,073)

หิมพานต์ [2]

กัณฑ์ที่ 2 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า หิม-มะ-พาน

บาลีเป็น “หิมวนฺตุ” อ่านว่า หิ-มะ-วัน-ตุ

ประกอบด้วย หิม + วนฺตุ

(๑) “หิม” (หิ-มะ)

รากศัพท์มาจาก หิ (ธาตุ = เบียดเบียน; เป็นไป; ตกไป) + อิม ปัจจัย

: หิ + อิม = หิม (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เบียดเบียนด้วยความเย็น” (2) “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” คือถึงเวลามีหิมะ หิมะก็มีตามปกติ จึงเรียกว่า “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ” (3) “สิ่งที่ตกบนแผ่นดินและภูเขา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หิม” ว่า –

(1) cold, frosty (หนาว, มีน้ำค้างแข็ง)

(2) ice, snow (น้ำแข็ง, หิมะ)

หิม” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “หิมะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หิม-, หิมะ : (คำนาม) ละอองนํ้าในอากาศที่แปรสภาพเป็นของแข็งเพราะอุณหภูมิตํ่า ลักษณะฟูเป็นปุย ลอยลงมาจากท้องฟ้า; ความหนาว, ความเยือกเย็น; ฤดูหนาว. (ป., ส.).”

(๒) “วนฺตุ” (วัน-ตุ)

เป็นปัจจัยสำหรับลงท้ายศัพท์ แปลว่า “มี-” หรือ “ประกอบ-”

: หิม + วนฺตุ = หิมวนฺตุ แปลตามศัพท์ว่า “มีหิมะมาก” หรือ “ประกอบด้วยหิมะในฤดูหิมะตก” หมายถึง ภูเขาหรือป่าที่มีหิมะ (snowy)

หิมวนฺตุ” ศัพท์นี้ท่านว่า “เอา -นฺตุ เป็น -นฺต ได้” คือเป็น “หิมวนฺต” (หิ-มะ-วัน-ตะ) ก็ได้ เมื่อแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ได้รูปเป็น “หิมวนฺตํ” (หิ-มะ-วัน-ตัง) และ “หิมวา” (หิ-มะ-วา) อันเป็นรูปคำที่ใช้ดกดื่น

ในคัมภีร์ “หิมวนฺต” หมายถึง (1) ภูเขาหิมพานต์ หรือที่รู้จักกันในบัดนี้ว่า ภูเขาหิมาลัย (2) ป่าใหญ่ในบริเวณภูเขาหิมพานต์

ดูเพิ่มเติม : “หิมพานต์” บาลีวันละคำ (715) 2-5-57

หิมวนฺตุ” หรือ “หิมวนฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “หิมพานต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หิมพานต์ : (คำนาม) ชื่อป่าหนาวแถบเหนือของอินเดีย; ชื่อกัณฑ์ที่ ๒ แห่งเวสสันดรชาดก.”

ข้อสังเกต :

ที่คำว่า “ทศพร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “ชื่อกัณฑ์ที่ ๑ ของมหาชาติ

แต่ที่คำว่า “หิมพานต์” นี้ พจนานุกรมฯ บอกว่า “ชื่อกัณฑ์ที่ ๒ แห่งเวสสันดรชาดก

ถ้ามองแบบจับผิดก็ต้องว่า ทำไมไม่บอกว่า “ชื่อกัณฑ์ที่ ๒ ของมหาชาติ” เหมือนที่คำว่า “ทศพร

อีกนัยหนึ่ง ที่คำว่า “ทศพร” ทำไมไม่บอกว่า “ชื่อกัณฑ์ที่ ๑ แห่งเวสสันดรชาดก” เหมือนที่คำว่า “หิมพานต์

หมายความว่า เมื่อเป็นชื่อกัณฑ์เหมือนกัน จะใช้คำว่า “ของมหาชาติ” หรือ “แห่งเวสสันดรชาดก” ก็ควรจะใช้ให้ลงรอยเดียวกัน ไม่ควรให้ลักลั่นแบบนี้

ขยายความ :

หิมพานต์” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 2 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1051-1077 หน้า 366-375) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “หิมวนฺตํ” (ดูภาพประกอบ) ซึ่งตรงกับที่ภาษาไทยใช้ว่า “หิมพานต์

เรื่องราวในกัณฑ์ “หิมพานต์” ว่าด้วยผุสดีเทพกัญญาจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ได้บรรลุพรทุกข้อสมประสงค์ กล่าวถึงกำเนิดพระเวสสันดร ที่มาของชื่อ “เวสสันดร” “ชาลี” และ “กัณหา” และตัวละครสำคัญตัวหนึ่งคือ ช้างปัจจัยนาค

เมื่อพระเวสสันดรมีพระชนมายุได้ 16 ปี พระเจ้ากรุงสญชัยผู้พระราชบิดาได้จัดการอภิเษกกับพระนางมัทรี แล้วทรงมอบราชสมบัติให้ครอบครอง พระเวสสันดรบริจาคช้างปัจจัยนาคให้แก่แคว้นกาลิงคะซึ่งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

ชาวเมืองโกรธแค้นลงมติให้เนรเทศพระเวสสันดรไปอยู่เขาวงกต

กล่าวได้ว่าการบริจาคช้างปัจจัยนาคนั่นเองเป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในมหาเวสสันดรชาดก

กัณฑ์นี้ชื่อ “หิมพานต์” ตามข้อความที่พระนางมัทรีพรรณนาภาพของป่าหิมพานต์ถวายพระเวสสันดรเล้าโลมพระทัยให้รื่นรมย์ในการที่จะต้องไปอยู่ในป่า เพื่อมิให้ต้องกังวลห่วงระลึกบ้านเมือง

……..

กัณฑ์ที่ ๒ หิมวนฺตํ 134 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงตวงพระธาตุ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากหนัก จงเอา

: อยากเบา จงให้

#บาลีวันละคำ (2,073)

14-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย