บาลีวันละคำ

ทานกัณฑ์ (บาลีวันละคำ 2,074)

ทานกัณฑ์

กัณฑ์ที่ 3 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า ทาน-นะ-กัน

ประกอบด้วยคำว่า ทาน + กัณฑ์

(๑) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;

ทาน 2 คือ

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ

2. ธรรมทาน ให้ธรรม;

ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทาน ๑, ทาน– : (คำนาม)  การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในสังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม. (ดู สังคหวัตถุและทศพิธราชธรรม).”

(๒) “กัณฑ์

บาลีเป็น “กณฺฑ” (กัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก กฑิ (ธาตุ = ตัด, ทำลาย) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ -(ฑิ) แล้วแปลงเป็น ณฺ (กฑิ > กํฑิ > กณฺฑิ), ลบ และลบสระหน้า คือ อิ ที่ กฑิ (กฑิ > กฑ)

: กฑิ > กํฑิ > กณฺฑิ + = กณฺฑิก > กณฺฑก > กณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ถูกตัด

กณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ปล้องไม้หรือปล้องอ้อย, ปล้องไม้ไผ่หรือปล้องหญ้า; ก้านลูกศร, ลูกศร (the portion of a stalk or cane between one knot and another; the whole stalk or shaft; the shaft of an arrow, an arrow in general)

(2) ส่วน, ตอนหรือย่อหน้าของหนังสือ (a section, portion or paragraph of a book)

(3) ส่วนเล็กๆ, ชิ้นหรือก้อน (a small portion, a bit or lump)

(4) ส่วนหนึ่งของเวลา, สักประเดี๋ยว, ชั่วครู่, สักครู่ (a portion of time, for a while, a little)

ในที่นี้ “กณฺฑ” มีความหมายตามข้อ (2)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัณฑ์ : (คำนาม) ข้อความที่แต่งเป็นคำเทศน์เรื่องหนึ่ง ๆ ที่จบลงคราวหนึ่ง ๆ, ตอนหนึ่ง ๆ ของคำเทศน์ที่เป็นเรื่องยาว เช่น มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์, ลักษณนามของเทศน์ เช่น เทศน์กัณฑ์หนึ่ง เทศน์ ๒ กัณฑ์; เรื่องหรือหมวด, ตอน, ส่วนของเรื่อง, เช่น วานรกัณฑ์. (ป.; ส. กฤณฺฑ).”

ทาน + กณฺฑ = ทานกณฺฑ (ทา-นะ-กัน-ดะ) แปลว่า “ตอนว่าด้วยทาน” หมายถึง เรื่องราวในมหาเวสสันดาชาดกตอนที่ว่าด้วยการให้ทานของพระเวสสันดร

ทานกณฺฑ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ทานกัณฑ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทานกัณฑ์ : (คำนาม) ชื่อกัณฑ์ที่ ๓ ในมหาชาติ.”

ขยายความ :

ทานกัณฑ์” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 2 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1078-1107 หน้า 375-389) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “ทานกณฺฑํ” (ดูภาพประกอบ) ซึ่งตรงกับที่ภาษาไทยใช้ว่า “ทานกัณฑ์

เรื่องราวในกัณฑ์ “ทานกัณฑ์” ว่าด้วยพระเวสสันดรบริจาคทานที่เรียกว่า “สัตสดกมหาทาน” (สัด-ตะ-สะ-ดก-มะ-หา-ทาน) คือของ 100 อย่าง อย่างละ 700 แล้วเสด็จออกจากเมืองโดยราชรถเทียมม้า พร้อมด้วยพระนางมัทรี และชาลี กัณหา ขณะออกจากเมืองมีคนทูลขอม้าและราชรถ ก็ประทานให้ทั้งสิ้น แล้วเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเพื่อไปอยู่ป่าหิมพานต์ตามมติเนรเทศของชาวเมือง

ร่ายยาวกัณฑ์ทานกัณฑ์ที่นับถือกันว่าเป็นแบบฉบับคือฉบับความวัดถนน มีสำนวนโศก สำนวนเสียดสี สำนวนสั่งลา โวหารน่าฟังหลายตอน

วรรคทองในทานกัณฑ์ :

มีบุญเขาก็วิ่งเข้ามาเป็นข้า

พึ่งพระเดชพระกรุณาให้ใช้สอย

เฝ้าป้อยอสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ

ยามเมื่อเพลี่ยงพล้ำเขาก็จะช่วยกันกระหน่ำซ้ำซ้อมซัก

ดั่งราชหงส์ปีกหักตกปลักกลางหนอง

……..

ความประพฤติเช่นนี้ย่อมเป็นสัจธรรมความจริงประจำโลก

……..

กัณฑ์ที่ 3 ทานกณฺฑํ 209 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงพระยาโศก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากให้โลกชี้หน้า จงเป็นคนเห็นแก่ตัว

: อยากให้โลกก้มหัว จงเป็นคนมีน้ำใจ

#บาลีวันละคำ (2,074)

15-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย