บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วันลูก

วันลูก

——

ผมมีพ่อแม่ ๓ คนหรือจะเรียกว่า ๓ คู่น่าจะถูกต้องกว่า

พ่อแม่คู่ที่ ๑ คือพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่ 

แม่ตายเมื่อผมอยู่ ป. ๒ พ่อตายเมื่ออยู่ ป.๔ ตอนนั้นผมยังเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ไม่ได้เพราะยังเป็นเด็กมาก พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายเลี้ยงผม

ครั้นเมื่อผมเติบโตเลี้ยงตัวเองได้แล้ว และพอจะเลี้ยงพ่อแม่ได้ ผมก็ไม่มีพ่อแม่อยู่ให้เลี้ยง

เห็นใครเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ผมอยากตะโกนดังๆ แบบนักเลงปากท่อว่า

“อิจฉาโว้ย!”

งานวัด ไอ้หนุ่มคนไหนกำลังจีบสาว แล้วมีคนตะโกนขึ้นมาลอยๆ ว่า “อิจฉาโว้ย!” 

รับรองได้ว่าอีกสักพักต้องมีการตีกัน

ปากท่อ-เป็นอำเภอที่ผมเกิด อำเภอนี้สมัยผมเป็นเด็กนักเลงเยอะ มีงานวัดที่ไหน มักมีนักเลงนัดไปตีกัน

การนัดไปตีกันในวัดในสมัยโน้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัดเป็นแหล่งชุมชน มีงานมีการอะไรก็ไปจัดกันที่วัด เมื่อคนไปชุมนุมกันมากๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว ก็ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา

นักเลงปากท่อตีกัน ล่อกันพอหอมปากหอมคอ 

ตีกันแค่พอให้เจ็บและให้อาย

คำพูดในภาษาไทยที่ว่า “ทั้งเจ็บทั้งอาย” คงมีที่มาจากวัฒนธรรมตีกันของนักเก่าสมัยโน้น

ไม่ทำกันถึงตายเหมือนสมัยนี้

นักเลงปากท่อตีกันอย่างมีระเบียบ ถ้าเป็นงานกฐินผ้าป่า เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงลงมือตีกัน 

ถ้ามีมหรสพกลางคืน พอลิเกลงโรงได้สักพัก หรือหนังฉายไปได้สักม้วนหนึ่ง ก็ค่อยตีกัน 

ตีกันเสร็จก็ดูหนังดูลิเกกันต่อ

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่แกล้งพูด แต่เป็นเรื่องจริงที่ผมเคยเห็นและบางทีก็เคยอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

เห็นใครเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ผมอิจฉาจริงๆ

ผมประทับใจคนเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่มาตั้งแต่ตอนบวชเณร มีหนุ่มคนจีนบ้านอยู่ใกล้วัด ปรนนิบัติดูแลแม่เป็นอย่างดี มาวัดทีไรก็มาคุยเรื่องเลี้ยงแม่ให้ฟัง ผมฝังใจมาตั้งแต่นั้นว่าคนจีนนี่ยอดกตัญญู

เวลานี้หลานคนหนึ่งที่ปากท่อก็ดูแลแม่-คือพี่สะใภ้ผม-ที่นอนติดเตียงมาจะร่วม ๑๐ ปีแล้ว

ทหารเรือคนหนึ่งที่คุ้นกับผมมาก นี่ก็เลี้ยงแม่เป็นอันดับหนึ่ง แม่เป็นอัลไซเมอร์ ดูแลแม่เรียบร้อยแล้วจึงไปทำงาน เลิกงานไม่ไปไหน กลับมาดูแลแม่ 

ซักผ้าขี้ สีผ้าเยี่ยว ให้แม่ทุกอย่าง

เด็กไทยสมัยนี้จะรู้จักสำนวนนี้กันหรือเปล่า-ซักผ้าขี้ สีผ้าเยี่ยว

ผมบอกเขาว่า “กูอิจฉามึงฉิบหายเลย”

ตอนแม่ตาย โทรมาบอกผม ร้องไห้เหมือนเด็กๆ

เพื่อนทางเฟซบุ๊ก ทั้งที่เคยพบกันและเคยเห็นแต่รูป หลายคนก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่เป็นกิจวัตรประจำชีวิต รู้เห็นแล้วก็อดอิจฉาไม่ได้

การเลี้ยงพ่อแม่นั้นเป็นงานไม่หนัก แต่ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงยิ่ง 

เวลาใดที่ความอดทนลดลง ความหงุดหงิดจิตเป็นอกุศลจะเกิดได้ง่ายและเกิดบ่อยๆ 

บุญที่เกิดจากการเลี้ยงพ่อแม่ก็จะลดลงตามส่วน

คนที่เอาชนะความหงุดหงิดรำคาญลงได้ ดูแลพ่อแม่ด้วยจิตใจที่ผ่องใสตลอดเวลา จะเกิดมหากุศลเทียบเท่ากับได้ปรนนิบัติบำรุงพระอรหันต์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ผมไม่มีโอกาสเลี้ยงพ่อแม่ แต่ยังไม่หมดหนทาง เพราะการเลี้ยงพ่อแม่วิธีสุดท้ายที่พระพุทธศาสนาสอนไว้คือ-เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

ผมทำบุญอุทิศให้พ่อแม่ทุกวัน กราบไหว้ระลึกถึงพระคุณท่านทุกวันไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว และวันหนึ่งๆ ระลึกถึงหลายครั้ง

——————

พ่อแม่คู่ที่ ๒ ของผม คือพระพุทธศาสนาและวัด

ถ้าสังคมไทยไม่มีพระพุทธศาสนาและไม่มีวัด ป่านนี้ผมจะไปเป็นอะไรอยู่ที่ก็ไม่รู้ อาจเป็นหัวขโมย เป็นโจร ติดคุกติดตะราง หรือถูกนักเลงเสียบตายไปนานแล้วก็ได้

แต่ที่แน่ๆ ผมคงทำบาปทำอกุศลต่างๆ ติดตัวเต็มไปหมด 

แทนที่จะกำลังนั่งเขียนเรื่องนี้-ผมอาจจะกำลังนั่งร่ำสุรา เมากรึ่มอยู่กลางทุ่งกลางทางที่ไหนสักแห่งแถวๆ ปากท่อ

หนทางวิธีที่จะทำบุญกุศลทำความดีให้แก่ชีวิตนี้และเป็นเสบียงติดตามตนไปในภพเบื้องหน้า ตลอดจนวิธีที่จะพัฒนาขัดเกลาตัวเองให้สะอาด สงบ สว่าง ผมก็คงจะไม่รู้จัก หรือรู้ผิดๆ ถูกๆ และผิดมากกว่าถูก กำลังเงอะงะงมงายอยู่ที่ไหนก็เหลือที่จะคาดเดา

ผมเป็นเด็กวัด ๕ ปี เป็นสามเณร ๔ ปี เป็นพระ ๑๐ ปี

พูดเลียนสำนวนการเมือง ก็ต้องพูดว่า ผมมีวันนี้เพราะพระท่านให้

พระพุทธศาสนาและวัดจึงเป็นเสมือนพ่อแม่ของผมอีกคู่หนึ่ง

ผมตอบแทนบุญคุณพ่อแม่คู่นี้ทุกวัน ด้วยการ –

ศึกษาเล่าเรียน 

พากเพียรปฏิบัติ 

เคร่งครัดบำรุง 

มุ่งหน้าเผยแผ่ 

แก้ไขให้หมดจด 

(ถอดความจากคุณสมบัติของพุทธบริษัทตามพระพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร)

นับเป็นมหากุศลที่ผมได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้มีศรัทธาเลื่อมใส และมีกำลังกายกำลังใจปฏิบัติดำเนินตาม

ผมจะทำเช่นนี้ไปจนตลอดชีวิต และตั้งความปรารถนาขอให้ได้ทำเช่นนี้ทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะถึงความพ้นทุกข์คือพระนฤพาน

——————

พ่อแม่คู่ที่ ๓ ของผม คือทางราชการ-โดยเฉพาะกองทัพเรือ

ผมเคยทำงานเอกชน (มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ) ซึ่งมีกฎการทำงานแบบเข็มข้น ฝึกคนให้ทนงานและชื่อตรงกับงาน เคยรับราชการพลเรือน (หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร) และรับราชการทหาร (กองทัพเรือ)

ผมจึงโชคดีที่ได้รับรู้รสชาติของระบบงาน และเข้าถึงจิตใจของคนทำงานทั้ง ๓ ระบบ 

โดยเฉพาะระบบทหารที่ฝึกคนให้เป็นผู้ตามที่ดีและให้เป็นผู้นำที่เด็ดขาด

และโดยเฉพาะกองทัพเรือ ที่ฝึกฝน ให้โอกาสผมได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานรับใช้กองทัพมาจนเกษียณอายุราชการ ให้มีหน้ามีตาอยู่ในสังคมได้พอสมควร และเลี้ยงดูไม่ให้อดตายอยู่จนทุกวันนี้

กล่าวได้ว่าที่ผมไม่ต้องห่วงเรื่องการทำมาหากิน ทำให้สามารถใช้เวลาทั้งหมดไปเพื่อทำหน้าที่ด้านอื่นๆ ได้เต็มเวลา ก็เพราะพ่อแม่คู่นี้

ผมปวารณารับใช้กองทัพเรือ-ตราบเท่าที่ยังมีความสามารถ-ตลอดชีวิต

ขอบพระคุณกองทัพเรือที่-แม้ผมจะเกษียณออกมาอยู่ข้างนอกแล้วก็ยังเรียกใช้งานตามโอกาส

ลูกที่พ่อแม่ยังเรียกใช้งาน ผมถือว่าโชคดีมากๆ

——————

บ้านเรามีวันพ่อ วันแม่ วันครู แล้วก็วันนี้-วันเด็ก

บางคนไม่ได้เป็นพ่อ 

บางคนไม่ได้เป็นแม่

บางคนไม่ได้เป็นครู

ทุกคนแม้จะต้องเป็นเด็ก แต่ก็เป็นแค่เพียงช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นเด็กอยู่ตลอดชีวิต

แต่เรามีสถานะเป็น “ลูก” กันทุกคน

ไม่มีใครเลยที่ไม่ได้เป็นลูก

และความเป็นลูกนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

เราทุกคนมีสถานะเป็น “ลูก” ตั้งแต่เกิดจนตาย

นั่นแปลว่า เราทุกคนมีโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกรณีย์ตามหน้าที่ของลูกกันไปตลอดชีวิต

และนั่นแปลว่า ถ้าเราฉลาดพอ เราจะมีโอกาสกอบโกยเอาบุญกุศลมหากุศลทั้งปวงเข้ามาไว้ในชีวิตได้ตลอดชีวิต แล้วเผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนร่วมโลกได้เสมอ และสั่งสมไว้เป็นเสบียงติดตามตนไปในสังสารวัฏจนกว่าจะประลุถึงความสิ้นภพจบชาติ

แม้ทางบ้านเมืองจะไม่ได้กำหนดให้มี “วันลูก” แต่เราทุกคนสามารถกำหนดให้ทุกวันเป็น “วันลูก” ได้ด้วยตัวของเราเอง ด้วยการบำเพ็ญกรณีย์ บำเพ็ญคุณความดีตามหน้าที่ ให้สมกับที่เราเป็น “ลูก”

“วันลูก” ไม่ต้องทำวันเดียวแล้วเลิกเหมือนวันอื่นๆ

ทำหน้าที่ของลูกที่ดีทุกวัน

มี “วันลูก” ที่ดีได้ทุกคน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มกราคม ๒๕๖๑

๑๒:๐๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *