บาลีวันละคำ

เสมฺหํ (บาลีวันละคำ 2,041)

เสมฺหํ = เสลด

ลำดับ 21 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า เสม-หัง

เสมฺหํ” รูปคำเดิมเป็น “เสมฺห” (เสม-หะ) รากศัพท์มาจาก สิลิสฺ (ธาตุ = ติดแน่น) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ สิ-(ลิสฺ) เป็น เอ (สิลิสฺ > เสลิสฺ) แล้วแปลง ลิสฺ เป็น (เสลิสฺ > เสห), กลับ หฺม (คือ หฺ ที่แปลงมาจาก ลิสฺ และ ปัจจัย) เป็น มฺห (เสหฺม > เสมฺห)

: สิลิสฺ + = สิลิสฺม > เสลิสม > เสหฺม > เสมฺห (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ติดแน่น” หมายถึง เสลด (phlegm)

บาลี “เสมฺห” สันสกฤตเป็น “เศฺลษฺมก” และ “เศฺลษฺมน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) เศฺลษฺมก : (คำนาม) เสมหะ, ‘เศลษม์,’ ก็เรียก; phlegm, the phlegmatic humour.

(2) เศฺลษฺมน : (คำนาม) น. ‘เศลษมัน,’ เศลษม์, เสมหะ; the phlegmatic humour, phlegm.

เสมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เสมฺหํ

เสมฺห” ในภาษาไทยใช้เป็น “เสมหะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เสมหะ : (คำนาม) เสลด, เมือกที่ออกจากลำคอ ทรวงอก และลำไส้. (ป.; ส. เศฺลษฺม).”

คำว่า “เสลด” (สะ-เหฺลด) พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

เสลด : (คำนาม) เสมหะ, เมือกที่ออกจากลําคอ ทรวงอก และลำไส้. (เทียบ ส. เศฺลษฺม).”

คำว่า “เสลด” ที่หมายถึงเมือกที่ออกจากลำคอนี้ บางคนสะกดเป็น “เศลษ” (อ่านว่า สะ-เหฺลด เหมือนกัน) สะกดอย่างนี้ชวนให้เข้าใจว่าสะกดตามสันสกฤต (ดูข้างต้น)

พจนานุกรมฯ ก็มีคำว่า “เศลษ” บอกไว้ดังนี้ –

เศลษ : (คำนาม) การติด, การเกาะ, การเกี่ยวข้อง, การพาดพิง; การกอดรัด. (ส.).”

จะเห็นได้ว่าเป็นคนละความหมายกับ “เสลด

เพราะฉะนั้น ถ้าหมายถึง “เสมหะ” ต้องสะกดเป็น “เสลด” ไม่ใช่ “เศลษ

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “เสมฺหํ” ไว้ดังนี้ –

เสมฺหนฺติ  สรีรพฺภนฺตเร  เอกปตฺตปูรปฺปมาณํ  เสมฺหํ. 

คำว่า “เสมฺหํ” คือเสลดอันมีประมาณกอบมือหนึ่งอยู่ภายในร่างกาย

ตํ  วณฺณโต  เสตํ  นาคพหลปณฺณรสวณฺณํ.

เสมหะนั้นมีสีขาวดังสีน้ำใบแตงหนู

สณฺฐานโต  โอกาสสณฺฐานํ.

เสมหะนั้นมีรูปทรงสัณฐานตามรูปทรงอวัยวะที่มันเข้าไปอยู่

โอกาสโต  อุทรปฏเล  ฐิตํ 

เสมหะนั้นท่านว่าเกิดอยู่ในกระพุ้งท้อง

ยํ  ปานโภชนาทิอชฺโฌหรณกาเล  เสยฺยถาปิ  นาม  อุทเก  เสวาลปณฺณกํ  กฏฺเฐ  วา  กํเส  วา  ปตนฺเต  ฉิชฺชิตฺวา  ทฺวิธา  หุตฺวา  ปุน  อชฺโฌตฺถริตฺวา  ติฏฺฐติ  เอวเมว  ปานโภชนาทิมฺหิ  นิปตนฺเต  ฉิชฺชิตฺวา  ทฺวิธา  หุตฺวา  ปุน  อชฺโฌตฺถริตฺวา  ติฏฺฐติ 

ในเวลาที่กลืนอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้นลงไป เสมหะจะแยกออกจากกันเป็น 2 ส่วนแล้วหุ้มเข้าตามเดิม แบบเดียวกับจอกแหนในน้ำ เมื่อไม้หรือกระเบื้องตกลงไป มันจะแยกออกจากกันเป็น 2 ข้างแล้วหุ้มเข้าตามเดิมฉะนั้น

ยมฺหิ  จ  มนฺทีภูเต  ปกฺกคณฺโฑ  วิย  ปูติกุกฺกุฏณฺฑมิว  จ  อุทรํ  ปรมเชคุจฺฉํ  กุณปคนฺธํ  โหติ 

อนึ่ง เมื่อมันมีน้อยไป ภายในท้องจะมีอาการเหมือนไข่เน่ามีเหม็นเหมือนซากศพน่าเกลียดพอๆ กับฝีเน่าแตกกระนั้น

ตโต  อุคฺคเตน  จ  คนฺเธน  อุทฺเทโกปิ  มุขมฺปิ  ทุคฺคนฺธํ  ปูติกุณปสทิสํ  โหติ 

และเพราะกลิ่นที่ขึ้นมาจากท้องนั้น ลมที่เรอออกมาและแม้กระทั่งกลิ่นปากก็พลอยเหม็นเหมือนซากเน่าไปด้วย

โส  จ  ปุริโส  อเปหิ  ทุคฺคนฺธํ  วายสีติ  วตฺตพฺพตํ  อาปชฺชติ

ใครที่มีอาการเช่นว่านี้เข้าใกล้ใครเข้า ก็มีแต่คนเบือนหน้าหนีอยากจะไล่ไปให้พ้นเพราะส่งกลิ่นเหม็น

ยญฺจ  วฑฺฒิตฺวา  พหลตฺตมาปนฺนํ  ปิธานผลกมิว  วจฺจกุฏิยา  อุทรปฏลสฺส  อพฺภนฺตเรเยว  กุณปคนฺธํ  สนฺนิรุมฺหิตฺวา  ติฏฺฐติ.

เสมหะนั้นถ้าเพิ่มขึ้นจนมากพอ ก็จะปิดกั้นกลิ่นเหม็นในท้องไว้ได้เหมือนแผ่นกระดานปิดปากส้วมหลุมกระนั้นแล

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 44-45)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “เสมฺหํ” ไว้ดังนี้ –

๏ เสมหังเสลด….คิดน่าสมเพช……….เสลดสาธารณ์

ทำให้ราคิน…….เมื่อจะสิ้นวายปราณ…ทำให้รำคาญ

กลุ้มทั่วหัวใจ๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เสลดพันคอมีฤทธิ์ อาจทำให้ชีวิตบรรลัย

: แต่กิเลสพันใจ ไปไกลถึงอเวจี

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,041)

13-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย