บาลีวันละคำ

อนุกัมปัง อุปาทายะ (บาลีวันละคำ 2,382)

อนุกัมปัง อุปาทายะ

คำบาลีที่ควรติดปากคนไทย

คนไทยพูดคำบาลีบางคำติดปาก เช่น ตามยถากรรม อนุโมทนาสาธุ โยนิโสมนสิการ ปฏิสังขาโย ยถาสัพพี ขัดสัคเค

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอบาลีอีกคำหนึ่งที่ควรพูดให้ติดปาก นั่นคือ “อนุกัมปัง อุปาทายะ

อนุกัมปัง อุปาทายะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อนุกมฺปํ อุปาทาย” อ่านว่า อะ-นุ-กำ-ปัง อุ-ปา-ทา-ยะ

อนุกมฺปํ อุปาทาย” เป็นวลีหนึ่งในประโยคคำบาลีที่เป็นคำปวารณาในวันออกพรรษา

ข้อความเต็มเป็นดังนี้:

…………..

สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา;

วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย;

ปสฺสนฺโต ปฏิกริสฺสามิ.

(สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ, ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา;

วะทันตุ มัง, อายัส๎มันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ;

ปัสสันโต ปะฏิกะริสสามิ.)

ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ, … ปฏิกริสฺสามิ.

ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ, … ปฏิกริสฺสามิ.

แปลตามสำนวนบาลี:

ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไข

แม้ครั้งที่สอง …

แม้ครั้งที่สาม …

แปลตามสำนวนไทย:

ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ถ้าข้าพเจ้ามีข้อบกพร่องเสียหาย โดยท่านได้เห็นเองก็ตาม มีผู้บอกเล่าก็ตาม หรือนึกระแวงสงสัยก็ตาม, ขอจงว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี เมื่อข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้วจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

…………..

อนุกมฺปํ อุปาทาย” แปลว่า “อาศัยความหวังดีเอ็นดู

อนุกมฺปํ” แปลว่า “ความหวังดีเอ็นดู

อุปาทาย” แปลว่า “อาศัย

(๑) “อนุกมฺปํ” (อะ-นุ-กำ-ปัง)

คำเดิมเป็น “อนุกมฺปา” (อะ-นุ-กำ-ปา) รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ) + กมฺปฺ (ธาตุ = หวั่นไหว) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อนุ + กมฺปฺ = อนุกมฺปฺ + = อนุกมฺป + อา = อนุกมฺปา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่ทำให้จิตของผู้คำนึงถึงตัวเองหวั่นไหวได้เป็นประจำ” หมายถึง ความเอ็นดู, ความสงสาร, ความกรุณา (compassion, pity, mercy)

(๒) “อุปาทาย

บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ทา-ยะ เป็นคำ “กิริยากิตก์” ประกอบด้วย อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ตฺวา ปัจจัย, แปลง ตฺวา เป็น

: อุป + อา + ทา = อุปาทา + ตฺวา = อุปาทาตฺวา > อุปาทาย แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปถือเอา

ในที่นี้ อา คำอุปสรรคใช้ในความหมายว่า “กลับความอา + ทา (ให้) = อาทา กลับความจาก “ให้” เป็น “เอา

อนุกมฺปํ อุปาทาย” แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปถือเอาซึ่งความเอ็นดู” แปลเอาความว่า “อาศัยความหวังดีเอ็นดู” หมายถึง (กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง) เนื่องจากความสงสารหรือความปรานี (out of pity or mercy)

ขยายความ :

แนวคิดในคำว่า “อนุกมฺปํ อุปาทาย” ก็คือ เมื่อเห็นเพื่อนร่วมโลกประสบทุกข์ เดือดร้อน หรือมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง หัวใจของคนที่มีคุณธรรมย่อมหวั่นไหว ไม่อาจทนนิ่งเฉยอยู่ได้ ครั้นแล้วก็จะพยายามลงมือช่วยเหลือด้วยประการต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ นี่คือความหมายของ “อนุกมฺปํ อุปาทาย” จะเรียกให้โก้ว่าอุดมคติหรือปรัชญาชีวิตก็คงได้

ถ้าเรามองเพื่อนมนุษย์ด้วยดวงจิตที่คิดจะทำประโยชน์ให้เขา มากกว่าที่คิดจะเอาประโยชน์จากเขา สังคมจะอบอุ่นอบอวลไปด้วยน้ำใจไมตรี โลกมนุษย์นี้จะน่าอยู่ยิ่งนัก

ไม่ต้องรอให้คนอื่นทำก่อน หรือรอจนใครๆ ทำกันหมดทั้งโลกเราจึงจะทำเป็นคนสุดท้าย

แม้มีเราทำอยู่คนเดียว ใจเราก็อบอุ่นด้วยความอิ่มใจ

เวลาบอกตัวเองให้ลงมือช่วยเหลือเกื้อกูล จงพูดว่า “อนุกมฺปํ

เวลาจะบอกคนอื่นให้มีใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จงพูดว่า “อนุกมฺปํ

แม้เมื่อจะขอความเห็นใจจากใคร ที่คำฝรั่งพูดว่า Please ก็จงบอกเขาเป็นคำบาลีว่า “อนุกมฺปํ

ช่วยกันพูดคำว่า “อนุกมฺปํ อุปาทาย” หรือ “อนุกมฺปํ” ให้ติดปาก

…………..

ดูก่อนภราดา!

มหาปุริสภาวสฺส  ลกฺขณํ  กรุณาสโห.

: เพราะการุญในดวงกมล ไม่อาจทนเฉยชา

: นั่นแหละคือมรรคา อันมหาบุรุษดำเนิน

#บาลีวันละคำ (2,382)

20-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *