วัฒนธรรมการทำงานของราชการบ้านเมือง
วัฒนธรรมการทำงานของราชการบ้านเมือง
——————————————–
ภาพประกอบวันนี้เป็นบริเวณที่เรียกกันว่า แยกเจดีย์หัก อยู่ทางด้านตะวันตกของเขตเทศบาลเมืองราชบุรี
ถ้ามาจากนครปฐมตามถนนเพชรเกษม จะไปเพชรบุรี ก่อนเข้าตัวเมืองราชบุรี ถ้าไม่แยกซ้ายออกทางเลี่ยงเมือง แต่ตรงไปตามถนนเส้นเดิม ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ตรงไปเป็นแยกไฟแดงแรก ชื่อทางการว่าแยกเขางู แต่บางคนเรียกว่าแยกนิสสัน เพราะมีร้านขายรถนิสสันตั้งอยู่บริเวณนั้น เมื่อหลายปีก่อน นางกอบกุล นพอมรบดี สส.ราชบุรี ถูกยิงเสียชีวิตที่แยกนี้ คนก็เลยเรียกกันว่าแยกกอบกุล
เลยแยกนี้ไปราว ๓๐๐ เมตรก็ถึงแยกเจดีย์หัก
แต่เดิมตรงแยกเจดีย์หักนี้เป็นทางราบเสมอกัน ต่อมาก็มีการสร้างสะพานข้ามถนน
ภาพแรกถ่ายเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ขณะปรับพื้นถนนเตรียมสร้างสะพาน (โปรดสังเกตป้ายห้าง MAKRO ที่อยู่เกือบกลางภาพซึ่งแสดงว่าทุกภาพเป็นบริเวณเดียวกัน)
ภาพที่ ๒ ถ่ายเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๘ ถนนสร้างเสร็จแล้ว สะพาน (มองเห็นไกลออกไป) ยังไม่เสร็จ
ภาพที่ ๓, ๔ และ ๕ ถ่ายเมื่อเช้าวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๐ สะพานเสร็จเรียบร้อยแล้ว (เปิดให้รถข้ามได้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๙) มีป้ายคร่อมถนนบอกทิศทางว่าจะไปไหนได้บ้าง
ป้ายนี้เป็นที่มาของเรื่องที่ญาติมิตรกำลังอ่านอยู่นี้
———————-
ผมเดินออกกำลังตอนเช้าไปแถวนี้บ่อยๆ วันที่คนงานเอาเสามาวางเตรียมยกป้ายผมก็ไปอยู่แถวนั้นพอดี แต่ไม่ทันได้เห็นแผ่นป้าย
เมื่อเช้านี้ (๑๑ มีนาคม ๒๕๖๐) ผ่านไปแถวนั้นอีกรอบจึงได้เห็นป้าย
ญาติมิตรทั้งหลายโปรดสังเกตข้อความบนป้ายในภาพที่ ๔ จะเห็นว่า
๑ คำว่า ราชบุรี อักษรไทย ป้ายเขียนแยกเป็น ๒ คำ คือ ราช (เว้นวรรค) บุรี
โปรดเทียบกับคำว่า เพชรบุรี ที่ป้ายแผ่นกลางจะยิ่งเห็นความแตกต่าง
๒ คำว่า เพชรบุรี อักษรโรมัน ป้ายสะกดเป็น Phachaburi (ดูชัดๆ ที่ภาพที่ ๕)
———————-
ชื่อจังหวัด ราชบุรี และเพชรบุรี ดูตามอักษรโรมัน ชัดเจนว่า ๓ พยางค์ท้ายอ่านว่า –ชะ-บุ-รี ซึ่งถูกต้องตามที่ราชบัณฑิตยสภากำหนด
ตามอักษรโรมันในป้ายนี้ พยางค์แรกของ ราชบุรี Rat อ่านว่า ราด- ถูกต้อง
แต่พยางค์แรกของ เพชรบุรี Pha- จะให้อ่านว่ากระไร?
ความสับสนตามถนนหนทางยังมีอีก
ชื่อจังหวัด เพชรบุรี ราชบัณฑิตยสภากำหนดให้เขียนเป็นอักษรโรมันว่า PHETCHABURI หรือ Phetchaburi (ดูภาพที่ ๖)
แต่ถ้าดูภาพที่ ๗ จะเห็นว่า ป้ายบอกทางในภาพนี้สะกดเป็น PETCHABURI (PET- ไม่ใช่ PHET-)
ความสับสนตามถนนหนทางยังไม่หมด คือ ราชบุรี อักษรโรมันในภาพที่ ๔ สะกดเป็น Ratchaburi ซึ่งถูกต้อง
แต่ถ้าไปดูภาพที่ ๘ (มาจากแยกกอบกุลเป็นป้ายแรกก่อนจะถึงป้ายที่ ๒ ตามภาพที่ ๓ และ ๔) ก็จะเห็นว่าในภาพที่ ๘ นี้ ราชบุรี อักษรโรมัน สะกดเป็น RatChaburi
ตรงคำว่า cha ใช้ C เป็นแบบพิมพ์ใหญ่
ถ้าอ่านเจตนาก็คือ ตั้งใจจะแยกเป็น Rat Chaburi นั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเพิ่มความสับสนเข้าไปอีกเรื่องหนึ่ง คือ ถนนสายเดียวกัน สถานที่เดียวกัน ตรงโน้น Ratchaburi ตรงนี้ Rat Chaburi เอายังไงกันแน่
———————-
เรื่องที่ปรารภมาข้างต้นนั้น ถามว่า หน่วยงานหรือตัวบุคคลผู้รับผิดชอบรู้หรือไม่ว่ามันเกิดเป็นปัญหาขึ้นแล้วนะ
ถ้ายังไม่รู้ ทำอย่างไรจึงจะรู้
ข้อสำคัญก็คือใครจะเป็นคนทำให้รู้
ผู้รับผิดชอบมีระบบออกไปตรวจสอบปัญหาบ้างหรือไม่ หรือใช้วิธีนั่งรอรายงานอยู่ในสำนักงาน
และรายงานนั้นต้องเป็นแผ่นกระดาษ มีลายเซ็น จึงจะยอมรับรู้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ข้อที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ถ้าหน่วยงานหรือตัวบุคคลผู้รับผิดชอบรู้เรื่องนี้แล้ว เมื่อไรจะแก้ไข
แต่ข้อที่สำคัญที่สุดกว่าอะไรทั้งหมดก็คือ ถ้าหน่วยงานหรือตัวบุคคลผู้รับผิดชอบรู้เรื่องนี้แล้ว แต่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เขียนผิด เงินเดือนก็ไม่ลด
เขียนถูก เงินเดือนก็ไม่ได้เพิ่ม
ปล่อยไว้แบบนี้น้ำมันก็ไม่ได้แพงขึ้นหรือถูกลง
ข้อสำคัญคือไม่ได้ผิดศีลธรรม ไม่เป็นบาป ไม่ตกนรก
เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร
ถ้าผู้รับผิดชอบคิดแบบนี้ เราจะทำอย่างไร
ปัญหาต่างๆ ในบ้านเมือง ถ้าผู้รับผิดชอบคิดแบบนี้ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
แน่นอน ถ้าสมมุติว่านายกรัฐมนตรีรู้เรื่องนี้แล้วสั่งไปยังผู้รับผิดชอบให้รีบแก้ไข
รับรองได้เลยว่า สั่งเช้า เย็นนี้ก็แก้ไขเสร็จเรียบร้อย
บ้านเมืองของเรามีวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้
———————-
ผมเห็นป้ายพวกนี้แล้ว นึกถึงสภาพการบริหารกิจการพระศาสนา-ช่างเหมือนกันไม่มีผิด
วงการพระศาสนาบ้านเรา มีปัญหา มีข้อคาใจ มีการปฏิบัติที่ผู้คนสงสัยว่าแบบนี้มันใช่หรือเปล่า แบบนี้มันถูกต้องหรือเปล่า อย่างไรมันจึงจะถูกต้อง ฯลฯ
ถามว่า หน่วยงานหรือตัวบุคคลผู้รับผิดชอบรู้หรือไม่ว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วนะ
ถ้ายังไม่รู้ ทำอย่างไรจึงจะรู้
ข้อสำคัญก็คือใครจะเป็นคนทำให้รู้
ผู้รับผิดชอบมีระบบออกไปตรวจสอบปัญหาบ้างหรือไม่ หรือใช้วิธีนั่งรอรายงานอยู่ในสำนักงาน
และรายงานนั้นต้องเป็นแผ่นกระดาษ มีลายเซ็น จึงจะยอมรับรู้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ตราบเท่าที่ยังไม่เห็นแผ่นกระดาษมาวางอยู่ตรงหน้า ถ้ามีใครไปถาม ท่านก็จะพูดว่า เอ ยังไม่เห็นมีเรื่องเข้ามานะ
———————-
ถ้าผู้รับผิดชอบการพระศาสนานั่งรอแผ่นกระดาษอยู่เช่นนี้ เราจะทำอย่างไรกัน
ปัญหาต่างๆ ในแวดวงพระศาสนา ถ้าผู้รับผิดชอบเป็นแบบนี้ การพระศาสนาในบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
แน่นอน ถ้าสมมุติว่าผู้มีอำนาจในแผ่นดินรู้ว่าพระศาสนามีปัญหาอะไร แล้วสั่งไปยังผู้รับผิดชอบให้แก้ไขโดยด่วน
รับรองได้เลยว่า สั่งเช้า เย็นนี้ก็แก้ไขเสร็จ หรือไม่ก็เกือบเสร็จ
ผู้บริหารการพระศาสนาของเรามีวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้
………………
เพราะฉะนั้น ขอได้โปรดทำใจ แล้วเร่งแสวงหาความรู้สำหรับรักษาตัวเองไว้ให้จงมากโดยทั่วกัน เทอญ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๐
๑๘:๐๐
…………………………….
…………………………….