บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ข้อคิดเรื่องการสวดมนต์แปล

ข้อคิดเรื่องการสวดมนต์แปล

—————————-

ปัจจุบันนี้ชาวพุทธเรานิยมสวดมนต์แปลกันโดยทั่วไป โดยอ้างว่าสวดแปลเพื่อให้รู้เรื่อง 

มีผู้บรรยายคุณประโยชน์ของการทำวัตรสวดมนต์แปลไว้ว่า

………………

คนไทยเราคุ้นกับการสวดมนต์มาตั้งแต่เกิด แต่เป็นที่น่าสงสารว่าได้แต่สวดตามๆ กันไป น้อยคนนักที่จะแปลได้และรู้ความหมาย ทำให้ขาดสาระทางใจ กลายเป็นงมงาย ฉะนั้นควรให้เด็กหัดสวดมนต์แปล จิตจะได้น้อมตามไป ได้อรรถรสจากการสวดมนต์อย่างแท้จริง นอกจากนั้นควรให้เด็กได้ทราบว่าสวดมนต์ไปทำไมอีกด้วย …

………………

เท่าที่เคยตรวจสอบซักถามผู้สวดมนต์แปลดูแล้ว เอาเข้าจริงแม้จะสวดแปล ส่วนมากก็รู้เฉพาะคำแปล แต่ยังไม่รู้เรื่องในบทที่สวดอยู่นั่นเอง

สวดมนต์แปลก็คือการพูดซ้ำ ๒ เที่ยว 

เป็นการแปลเพื่อให้รู้ภาษาเท่านั้น 

ไม่เกี่ยวกับรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง 

ความจริงแล้ว ภาษาหรือถ้อยคำที่เราไม่เคยรู้นั้น เมื่อมารู้เข้าครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องแปล 

เช่น “นะโม” แปลว่า “ขอนอบน้อม” นี่คือรู้ภาษา 

รู้คำแปลอย่างนี้แล้ว ต่อไปพอสวดคำว่า “นะโม” อีก ก็ย่อมจะรู้คำแปลทุกครั้งไปว่า “นะโม” แปลว่า “ขอนอบน้อม” โดยไม่ต้องพูดซ้ำว่า “นะโม ขอนอบน้อม” 

เปรียบเทียบกับพูดภาษาอังกฤษ เช่นคำว่า Good morning 

คนไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย ทีแรกก็ย่อมจะไม่รู้ว่า Good morning แปลว่าอะไร 

แต่พอรู้ว่า Good morning แปลว่า “สวัสดีตอนเช้า” คราวนี้พอพูดว่า Good morning ทีไร ก็รู้ทันที่ว่า แปลว่า “สวัสดีตอนเช้า” 

และพอไปพูดกับฝรั่งจริงๆ ก็พูดว่า Good morning เท่านั้น ไม่ต้องพูดว่า “Good morning สวัสดีตอนเช้า” 

แต่ถ้าอยากรู้ว่า สวัสดีตอนเช้าหมายความว่าอย่างไร มีสวัสดีตอนเช้าแล้วมีสวัสดีตอนอื่นด้วยหรือไม่ สวัสดีตอนอื่นว่าอย่างไร มีเหตุผลอย่างไรจึงต้องแบ่งคำสวัสดีออกเป็นหลายเวลา เรื่องเหล่านี้จะต้องเรียนรู้ศึกษาต่อไปอีกจึงจะไปถึงขั้น “รู้เรื่อง” 

จะเห็นได้ว่าแค่รู้ว่า Good morning แปลว่า “สวัสดีตอนเช้า” ยังไม่พอ เพราะเป็นเพียงแค่ “รู้ภาษา” ยังไม่ใช่ “รู้เรื่อง”

สวดมนต์แปลก็ทำนองเดียวกันนี้ คือแค่รู้ภาษา ยังไม่ถึงขั้นรู้เรื่อง 

อย่าง “นะโม” แปลว่า “ขอนอบน้อม” การนอบน้อมคืออะไร ทำอย่างไรจึงชื่อว่านอบน้อม เป็นเรื่องที่จะต้องไปศึกษาหาความรู้ต่อไปอีก ไม่ใช่เพียงแค่สวดว่า “นะโม ขอนอบน้อม” เท่านี้ ก็รู้เรื่องของการนอบน้อมทะลุหมดสิ้นแล้ว เพราะรู้เท่านี้เป็นแค่รู้คำแปลหรือรู้ภาษาเท่านั้น

หรืออย่างคำว่า “วิชชาจะระณะสัมปันโน” ซึ่งเป็นพระพุทธคุณบทหนึ่ง หนังสือสวดมนต์แปลก็มักจะแปลคำนี้ว่า “เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ” 

ผมเคยลองถามผู้นิยมสวดมนต์แปลว่า “วิชชาและจรณะ” ในคำแปลนั้นคืออะไร 

ส่วนมากท่านก็ตอบว่า “ไม่ทราบ”

นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า แม้จะสวดแปลแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่นั่นเอง

ประเด็นนี้มีผู้แก้ต่างให้ว่า แม้จะไม่รู้เรื่องบ้างก็เป็นเพียงบางคำ คำที่รู้เรื่องก็มี เพราะฉะนั้น สวดแปลก็ย่อมจะดีกว่าสวดเฉพาะบาลีอย่างเดียว เพราะถึงอย่างไรๆ ก็ยังรู้เรื่องบ้าง

ข้อสงสัยของผมมีอยู่ว่า ถ้าอ้างว่า “ควรสวดมนต์แปลเพื่อจะได้รู้เรื่อง” แล้วไซร้ ทำไมไม่สวดเฉพาะคำแปล จะต้องสวดภาษาบาลีด้วยทำไม? 

สวดเฉพาะคำแปลก็รู้เรื่องตรงตามความประสงค์ที่อ้างอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาและเหนื่อยเป็นสองเท่าด้วย

ข้อสงสัยนี้เคยมีผู้ตอบว่า ต้องสวดภาษาบาลีด้วย มิฉะนั้นจะไม่ขลัง

ฟังแล้วก็ยิ่งงง 

ตกลงว่า สวดมนต์นั้นจะสวดเพื่อรู้เรื่องหรือสวดเพื่อขลังกันแน่ 

สวดเพื่อรู้เรื่อง เป็นความมุ่งหมายดั้งเดิมที่ถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธศาสนา 

แต่ถ้าสวดเพื่อขลัง ก็เบี่ยงเบนออกไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า 

ความประสงค์สองอย่างนี้จึงขัดแย้งกันอยู่ในตัว

การอยากรู้เรื่องในบทสวดมนต์นั้นนับเป็นความใฝ่รู้ เป็นความคิดที่ดี ควรแก่การอนุโมทนา 

แต่ดูไปแล้ว เหมือนกับว่าต้องการจะรู้เรื่องในขณะที่สวดนั่นเลยทีเดียว ราวกับว่าทั้งชีวิต ท่านมีเวลาพอที่จะสวดมนต์นั้นเท่า แต่ไม่มีเวลาพอที่จะไปศึกษาหาความรู้เรื่องในบทสวดมนต์ในตอนอื่น จึงจะต้องเอาเป็นเอาตายรู้เรื่องกันในตอนสวดนี่แหละ 

ดูคล้ายกับจะเป็นอย่างนั้น

ผมเห็นว่า ถ้าอยากรู้เรื่องในบทสวดมนต์นั้นจริงๆ ก็ควรไปศึกษาหาความรู้เอาทีหลัง 

ถ้าเรามีเวลาทำนั่นนี่ได้สารพัด ก็ควรจะมีเวลาพอที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของบทสวดมนต์นั้นๆ ให้ได้บ้าง 

การแบ่งเวลาไปศึกษาเช่นว่านี้ เราอยากจะรู้ให้ลึกซึ้งขนาดไหนก็ย่อมทำได้ ไม่จำเป็นจะต้องตั้งเกณฑ์ว่า ฉันจะต้องรู้เรื่องให้ได้ในขณะสวดนั่นเลย 

ยอมเสียเวลาศึกษาให้เข้าใจแจ่มแจ้งเสียคราวเดียว ต่อไปพอสวดบทนั้นก็จะรู้เรื่องไปพร้อมๆ กับที่สวดนั่นทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาแปลอีกทุกครั้งไป ซึ่งก็คือการเสียเวลาสวดซ้ำสองเที่ยวนั่นเอง 

สำหรับผู้ไปถืออุโบสถอยู่ที่วัด ก็ศึกษาจากหนังสือสวดมนต์ในวันที่ไปถืออุโบสถนั่นเลย ดีที่สุด เพราะมีเพื่อนที่ถืออุโบสถด้วยกันให้ร่วมคิดร่วมศึกษา พระสงฆ์ในวัดก็มีให้ไต่ถามได้สะดวก ถ้าพระท่านไม่รู้ ก็ยิ่งสมควรถามให้บ่อยเข้าไว้ (ทำนองเดียวกับธรรมเนียมมีพระราชปุจฉา) เพื่อเป็น “การบ้าน” ให้ท่านไปศึกษาหาความรู้มาถ่ายทอดให้ญาติโยมฟัง เพราะนั่นคือหน้าที่ของพระโดยตรง (หน้าที่ของพระสงฆ์ คือ ศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย) 

ผมมีความคิดที่อยากจะเสนอแนะอีกวิธีหนึ่งเพื่อสนองความอยากรู้เรื่องในบทสวดมนต์และอยากรู้ในเวลาที่กำลังสวดนั่นด้วย วิธีที่ผมคิดได้ ทำดังนี้ – 

พอถึงเวลาสวดมนต์ ก็เปลี่ยนจากกางหนังสือสวด มาเป็นกางหนังสือศึกษาความหมายของบทสวดแทน 

สวดบทไหนบ้าง ก็ยกข้อความในบทนั้นนั่นแหละขึ้นมาศึกษากัน 

เช่น-เริ่มตั้งแต่ นะโม ตัสสะ ไปเลย 

นะโม แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร 

ตัสสะ แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร 

อิติปิ  โส  ภะคะวา แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร 

ฯลฯ

วิธีศึกษาก็คือ ถามกัน ตอบกัน 

ใครที่นั่งสวดมนต์อยู่ด้วยกันตรงนั้นรู้อะไรอย่างไร ก็แถลงความรู้ความเข้าใจสู่กันฟัง อธิบายสู่กันฟัง หรือเชิญผู้รู้มาตอบมาอธิบายให้ฟัง 

ผู้รู้ที่เหมาะที่สุดก็คือพระในวัดที่ไปสวดมนต์กันนั่นแหละ ไปนิมนต์ท่านมาให้อธิบายความหมายในบทสวดนั้นให้ผู้สวดมนต์ฟัง 

ถ้าพระท่านไม่รู้ ก็เท่ากับเป็นการเตือนท่านว่า ท่านจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ท่านมีหน้าที่จะต้องศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยเพื่อเอาไปแนะนำสั่งสอนญาติโยม

เมื่อศึกษาอธิบายบทไหนจนกระจ่างแจ้งจบแล้ว ก็พร้อมใจกันสวดบทนั้นพร้อมๆ กันอีกเที่ยวหนึ่ง ทำแบบเดียวกับที่พระอรหันต์ท่านทำสังคายนานั่นเลย

สวดคนเดียว ก็ศึกษาค้นคว้าไปคนเดียว

มีเวลาสวดมนต์ชั่วโมงหนึ่ง ก็ศึกษากันไปชั่วโมงหนึ่ง หมดเวลาสวดมนต์ก็เลิก จะต่อด้วยปฏิบัติธรรมก็ทำกันไป

ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวันทุกเวลาที่เป็นเวลาสวดมนต์ มีค่ามีความหมายเท่ากับได้สวดมนต์แล้วทุกประการ 

เป็นการสวดมนต์ตามความหมายที่แท้จริงของการสวดมนต์ คือการทบทวนความรู้ในพระธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง 

และเป็นการสวดที่รู้เรื่องกระจ่างแจ้งดีกว่าอ่านตามหนังสือ หรือแม้ท่องได้จำได้ แต่ไม่เข้าใจความหมายเป็นไหนๆ 

เป็นการแก้ปัญหาที่โอดโอยกันว่า สวดมนต์แต่คำบาลีไม่รู้เรื่อง ต้องแปลด้วย 

ซึ่งแปลแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องเท่าเดิมนั่นเอง 

ปัญหาที่ว่านี้จะหมดไปโดยเด็ดขาด

และเมื่อศึกษาด้วยวิธีนี้ไปจนจบทุกบทที่สวดแล้ว ต่อไปพอยกบทนั้นๆ ขึ้นมาสวด ก็จะรู้เรื่องกระจ่างทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาสวดแปลอีกต่อไป

แนวความคิดเช่นนี้ไม่มีนักสวดมนต์คนไหนเห็นด้วย 

ทุกคนจะต้องค้านโดยอ้างว่า นั่นมันไม่ใช่สวดมนต์ 

สวดมนต์จะต้องนั่งประนมมือ 

เปล่งวาจาออกเสียงตั้งแต่คำว่า นะโม ตัสสะ เรื่อยไป 

ต้องว่าเป็นภาษาบาลี 

แล้วก็ต้องว่าคำแปลตามที่ท่านแปลไว้ ตามที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสวดมนต์ ต้องว่าไปตามนั้นจึงจะเป็นการสวดมนต์ 

จะมาเที่ยวนั่งถามนั่งตอบนั่งอธิบายอะไรกันนั่น ไม่ใช่สวดมนต์

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรายึดติดรูปแบบชนิดที่ไม่ลืมหูลืมตา เข้าขั้นสีลัพพตปรามาส 

จนกระทั่งลืมไปว่า การสวดมนต์คืออะไร ความมุ่งหมายที่แท้จริงหรือแก่นแท้ของการสวดมนต์คืออะไร 

พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เรื่องสวดมนต์นั้นทุกวันนี้เราเห็นว่าเปลือกสำคัญกว่าแก่นไปแล้ว ทั้งๆ ที่เราก็เรียกร้องหาแก่น คือสวดแล้วอยากรู้เรื่องด้วย 

แต่พอเสนอวิธีที่จะทำให้รู้เรื่องและเข้าใจได้ดีที่สุด ก็ไม่มีใครอยากทำ บอกว่าทำแบบนั้นก็เหมือนกับนั่งเรียนธรรมะนะซี ไม่ใช่สวดมนต์สักหน่อย 

ทั้งๆ ที่ต้นกำเนิดของการสวดมนต์ก็คือการเรียนธรรมะนั่นเอง 

อุปมาเหมือนคนที่วางของแท้แล้วหันไปคว้าของเทียมมายึดไว้ 

ยึดไว้นานเข้าก็เลยเชื่อว่านั่นเป็นของแท้ 

พอมีใครมาชี้ให้ดูของแท้ ก็บอกว่าของแท้นั่นเป็นของเทียม 

กลับตาลปัตรกันไป

………………….

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ขอเรียนว่ามิได้มีเจตนาที่จะคัดค้านการสวดมนต์แปลแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

ท่านที่มีศรัทธาจะสวดแปลก็ขอเชิญท่านสวดแปลต่อไปได้เต็มที่ตามที่ท่านศรัทธา 

ผมเองเวลาร่วมสวดมนต์ ถ้าเขาสวดแปลผมก็สวดแปลด้วย มิได้คัดค้านหรือขัดข้องแต่อย่างใด 

ที่ว่ามานี้ก็เพียงแต่ต้องการชี้ให้เราฉุกคิดถึงเหตุผลต้นปลายว่า ก่อนที่จะเกิดมีการสวดมนต์แปลนั้นเราอ้างเหตุผลอะไร และตั้งเป้าหมายไว้ที่ไหน และบัดนี้เมื่อสวดแปลแล้ว เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้จริงหรือเปล่า 

กับต้องการเสนอแนะวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นให้ช่วยกันพิจารณา 

เจตนามีเพียงเท่านี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๗:๕๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *