ความจริง
ความจริง
…………………………….
———
สัจธรรม-ความจริง ไม่ขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ”
หมายความว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร ความจริงก็คงเป็นอย่างที่มันเป็น
ไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อหรือความไม่เชื่อของใคร
ตัวอย่างเช่น ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก
ไม่ใช่ว่า-ใครเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก คนนั้นก็เกิดอีก
ใครเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอีก คนนั้นก็ไม่เกิดอีก
ไม่ใช่อย่างนั้น
ถ้าตายแล้วเกิดอีก ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร เขาก็ต้องเกิดอีก
ถ้าตายแล้วไม่เกิดอีก ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร เขาก็ไม่เกิดอีก
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าความจริงเป็นอย่างไร ใครจะตัดสินชี้ขาดได้?
วิธีที่จะรู้ ไม่ใช่ด้วยการตั้งคำถามให้คนอื่นตอบ
ท่านว่าหน้าที่ของเราคือ ทำความเห็นให้ตรงกับความจริง
ไม่ใช่เกณฑ์ให้ความจริงตรงกับความเห็น
เรื่องนรก-สวรรค์ กระทะทองแดงหรือวิมานชั้นฟ้าก็ทำนองเดียวกัน
ถ้าอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็จงเร่งทำความเห็นของเราให้ตรงกับความจริง
วิธีทำ ท่านก็ให้ทำกับจิตของเรา คือทำจิตให้นิ่ง ให้สงบ
ตามหลักที่ว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ = เมื่อจิตตั้งมั่นย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
เมื่อจิตนิ่งถึงที่แล้วก็ใช้ความนิ่งนั้นเป็นสนามปฏิบัติการเพื่อปลูกปัญญาต่อไป
ปัญญาที่สมบูรณ์และคมชัดจะเป็นตัวรู้สัจธรรมตามความเป็นจริง
ใครจะตีความคำสอน ก็ตีไป เป็นทางให้เกิดความคิดต่อไปได้อีกเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้รู้ประจักษ์ความจริง
เพราะสัจธรรม-ความจริง พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิธีตีความ
หากแต่ต้องพิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติ
และต้องเป็นการปฏิบัติที่ถูกทางด้วย
ถ้าใครจะถามต่อไปอีกว่า-แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าปฏิบัติอย่างไรถูกทางหรือไม่ถูกทาง?
เรื่องก็ยาว
วิธีที่จะทำให้เรื่องสั้นเข้าก็คือลงมือทำเดี๋ยวนี้
คนที่อยากรู้รสชาติของอาหารใดๆ
ทางตรงที่สุดคือกินอาหารนั้น
ไม่ใช่ไปเที่ยวถามใครๆ ว่า แกงเผ็ดรสชาติเป็นอย่างไร ต้มจืดรสชาติเป็นอย่างไร
การตั้งปัญหาถามโดยไม่ลงมือทำ ไม่มีทางที่จะได้คำตอบที่ถูกต้อง
อยากรู้ว่านรก-สวรรค์มีจริงหรือไม่
อย่าพิสูจน์ด้วยทฤษฎีหรือตีความอย่างเดียว
ต้องพิสูจน์ด้วยการลงมือทำด้วย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ มกราคม ๒๕๕๙
๑๔:๑๓
ขอบคุณภาพประกอบจากโพสต์ที่ Zamar Sib Oon แชร์มาให้อ่าน
——
ที่มา:
ความคิดเห็นท้ายโพสต์ของ Zamar Sib Oon ได้แชร์รูปภาพไปยัง ไทม์ไลน์ ของคุณ
๒๑ มกราคม ๒๕๕๙
(เป็นภาพข้อความ)
———
ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ มกราคม ๒๕๕๙
(ข้อความเดิม)
สัจธรรมไม่ขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ”
.
หมายความว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร มันก็คงเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ได้เป็นไปตามความเชื่อหรือความไม่เชื่อของใคร
.
ตัวอย่างเช่น ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก
.
ไม่ใช่ว่า-ใครเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก คนนั้นก็เกิดอีก
ใครเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอีก คนนั้นก็ไม่เกิดอีก
.
ถ้าตายแล้วเกิดอีก ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร เขาก็ต้องเกิดอีก
ถ้าตายแล้วไม่เกิดอีก ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร เขาก็ไม่เกิดอีก
.
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าความจริงเป็นอย่างไร ใครจะตัดสินชี้ขาดได้?
.
วิธีที่จะรู้ ไม่ใช่ด้วยการตั้งคำถามให้คนอื่นตอบ ท่านว่าหน้าที่ของเราคือ ทำความเห็นให้ตรงกับความจริง ไม่ใช่เกณฑ์ให้ความจริงตรงกับความเห็น
.
ถ้าอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็จงเร่งทำความเห็นของเราให้ตรงกับความจริง วิธีทำท่านก็ให้ทำกับจิตของเรา คือทำจิตให้นิ่ง ให้สงบ ตามหลักที่ว่า สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ = เมื่อจิตตั้งมั่นย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
.
ใครจะตีความคำสอน ก็ตีไป เป็นทางให้เกิดความคิดต่อไปได้อีกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้รู้ประจักษ์ความจริง เพราะสัจธรรม-ความจริงพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิธีตีความ หากแต่ต้องพิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติ และต้องเป็นการปฏิบัติที่ถูกทางด้วย
.
ถ้าใครจะถามต่อไปอีกว่า-แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าปฏิบัติอย่างไรถูกทางหรือไม่ถูกทาง? เรื่องก็ยาว วิธีที่จะทำให้เรื่องสั้นเข้าก็คือลงมือทำเดี๋ยวนี้
.
การตั้งปัญหาถามคนอื่นโดยตัวเองไม่ได้ลงมือทำ ไม่มีทางที่จะได้คำตอบที่ถูกต้อง
…………………………….
…………………………….