นัยเหตุ (บาลีวันละคำ 2488)
นัยเหตุ
ข้อ 6 ในกาลามสูตร: เพราะอนุมาน
อ่านแบบคำไทยว่า ไน-ยะ-เหด
อ่านแบบคำบาลีว่า ไน-ยะ-เห-ตุ
หลักข้อที่ 6 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา นยเหตุ” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา นะยะเหตุ
แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือโดยอนุมาน” (คือคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้)
“นยเหตุ” ภาษาบาลีอ่านว่า นะ-ยะ-เห-ตุ (ไม่ใช่ นะ-ยะ-เหด) ประกอบด้วยคำว่า นย + เหตุ
(๑) “นัย”
บาลีเป็น “นย” (นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป, แนะนำ, รู้) + อ ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย)
: นี > เน > นย + อ = นย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนำ” (leading) (2) “การเป็นไป” (3) “อุบายเป็นเครื่องแนะนำ” (4) “วิธีที่พึงแนะนำ” (5) “วิธีเป็นเหตุให้รู้”
“นย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หนทาง, วิธีการ, แผน, วิธี (way, method, plan, manner)
(2) การอนุมาน (inference)
(3) นัย, ความหมาย [ในไวยากรณ์] (sense, meaning [in grammar])
(4) ความประพฤติ (behaviour, conduct)
“นย” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “นย-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) “นยะ” และ “นัย” บอกไว้ดังนี้ –
(1) นย-, นยะ : (คำนาม) เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง. (ป., ส.).
(2) นัย : (คำนาม) ข้อสําคัญ เช่น นัยแห่งเรื่องนี้; ความ, ความหมาย, เช่น หลายนัย; แนว, ทาง, เช่น ตีความได้หลายนัย; แง่ เช่น อีกนัยหนึ่ง. (ป. นย).
ในที่นี้ “นย” ใช้ในความหมายว่า “เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง” หรือ “อนุมาน” = คาดคะเนตามหลักเหตุผล (inference)
(๒) “เหตุ” (เห-ตุ)
รากศัพท์มาจาก หิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; ตั้ง) + ตุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ หิ เป็น เอ (หิ > เห)
: หิ + ตุ = หิตุ > เหตุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เป็นไปสู่ความเป็นผล” (2) “สิ่งที่ถึงความเป็นเหตุ” (3) “สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งผล” (4) “สิ่งเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล”
“เหตุ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เหตุ, เหตุผล, ปัจจัย, มูล (cause, reason, condition)
(2) ความเหมาะสมเพื่อบรรลุพระอรหันต์ (suitability for the attainment of Arahantship)
(3) ตรรกะ (logic)
นย + เหตุ = นยเหตุ (นะ-ยะ-เห-ตุ) แปลตามประสงค์ว่า “เพราะการอนุมาน”
อภิปราย :
คำหลักในกาลามสูตรข้ออื่นๆ ท่านแจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปไปตามวิภัตติ คือ –
“อนุสฺสว” เปลี่ยนรูปเป็น “อนุสฺสเวน”
“ปรมฺปรา” เปลี่ยนรูปเป็น “ปรมฺปราย”
“อิติกิรา” เปลี่ยนรูปเป็น “อิติกิราย”
“ปิฏกสมฺปทาน” เปลี่ยนรูปเป็น “ปิฏกสมฺปทาเนน”
มาถึง “นยเหตุ” ถ้าใช้กฎเดียวกันก็ควรเปลี่ยนรูปเป็น “นยเหตุนา” (นะ-ยะ-เห-ตุ-นา) แต่ท่านยังคงรูปเป็น “มา นยเหตุ” (รวมทั้ง “มา ตกฺกเหตุ” ในข้อที่ 5 ด้วย) แสดงว่าไม่ได้แจกด้วยวิภัตตินามเหมือนข้ออื่น
ลักษณะเช่นนี้ หลักไวยากรณ์ชั้นสูงบอกว่า “-เหตุ” ในที่นี้ ท่านประสงค์จะให้แปลว่า “เพราะ” คือ “นยเหตุ” ต้องแปลว่า “เพราะนยะ” (ไม่ใช่ “เพราะเหตุคือนยะ” หรือ “เพราะเหตุแห่งนยะ” คือ “-เหตุ” ในที่นี้แปลว่า “เพราะ” ไม่ใช่ “เพราะเหตุ-”)
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์อรรถกถาไขความคำว่า “นยเหตุ” ว่า “นยคาเหน” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)
“นยเหตุ” แปลตามอรรถกถาว่า “ด้วยการยึดถือโดยนยะ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นยเหตุ” ว่า through inference (ด้วยการอนุมาน)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา นยเหตุ” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by inference.
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล inference เป็นไทยว่า ลงความเห็นได้, แสดงว่า, ข้อลงความเห็น, ข้อวินิจฉัย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล inference เป็นบาลีว่า –
(1) anumāna อนุมาน (อะ-นุ-มา-นะ) = การอนุมาน
(2) naya นย (นะ-ยะ) = นัย (“เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง”)
ขยายความ :
ความหมายอีกนัยหนึ่งของ “นยเหตุ” คือ-อย่าเอาประสบการณ์ในอดีตมาคาดการณ์ในอนาคต เช่น – คราวก่อนมันเคยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคราวนี้มันน่าจะต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น
ประสบการณ์ในอดีตหรือประวัติศาสตร์ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เชื่อไม่ได้เลย อย่างนั้นหรือ? หามิได้ เพียงแต่ท่านเตือนว่า อย่าเชื่อดิ่งลงไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตจะต้องเกิดซ้ำอีกในอนาคต
คุณทองหยิบกับคุณทองหยดเคยร่วมทุนกันแคะขนมครกขายมาตลอดเวลา 10 ปี ไม่เคยปรากฏว่ามีใครเบี้ยวใคร ก็อย่าเพิ่งคาดการณ์ว่า พรุ่งนี้คุณทองหยิบกับคุณทองหยดก็จะไม่เบี้ยวกันอีก
สรุปความหมายในกาลามสูตรข้อนี้ก็คือ อย่าเชื่อถือโดยวิธีอนุมาน คือคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่มัวแต่อนุมานก็จงรอจนตัวเองตก –
: ท่านก็จะรู้ว่านรกมีจริง
#บาลีวันละคำ (2,488)