อจฺฉมํส (บาลีวันละคำ 3,655)
อจฺฉมํส
อจฺฉมํส
เนื้อหมี : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 9
เขียนแบบบาลี อ่านว่า อัด-ฉะ-มัง-สะ
แยกศัพท์เป็น อจฺฉ + มํส
(๑) “อจฺฉ”
อ่านว่า อัด-ฉะ รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = ซัดไป) + ฉ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺ
: อสฺ + ฉ = อสฺฉ > อจฺฉ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่พุ่งตัวไป” หมายถึง หมี (a bear)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อจฺฉ” เหมือนบาลี บอกไว้ดังนี้ –
“อจฺฉ : (คำวิเศษณ์) ใส, กระจ่าง; clear, transparent; – (คำนาม) หมี; แก้ว; a bear; a crystal.”
คำว่า “หมี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“หมี : (คำนาม) ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Ursidae ตาและใบหูกลมเล็ก ริมฝีปากยื่นแยกห่างออกจากเหงือก สามารถยืนและเดินด้วยขาหลังได้ ประสาทการดมกลิ่นดีกว่าประสาทตาและหู กินพืชและสัตว์ ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด คือ หมีควาย [Selenarctos thibetanus (G. Cuvier)] ตัวใหญ่ ขนยาวดำ ที่อกมีขนสีขาวรูปง่าม และหมีหมาหรือหมีคน [Helarctos malayanus (Raffles)] ตัวเล็กกว่าหมีควาย ขนสั้นดำ ที่อกมีขนสีขาวรูปคล้ายเกือกม้า.”
แถม :
คำบาลีที่แปลว่า หมี อีกคำหนึ่งคือ “อิกฺก” (อิก-กะ) รากศัพท์มาจาก อิจฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง จฺ ที่สุดธาตุเป็น ก, ซ้อน กฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (อิจฺ + กฺ + อ)
: อิจฺ + กฺ + อ = อิจฺก > อิกฺก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ชอบส่งเสียง”
บาลี “อิกฺก” สันสกฤตเป็น “ฤกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ฤกฺษ : (คำวิเศษณ์) อันแทงแล้ว, ตัดแล้วหรือแบ่งแล้ว; pierced, cut or divided; – (คำนาม) ดาว, นักษัตร; ภูเขาในทวีปกัลป, ที่ประทับชั่วคราวของพระราม; หมี; a star, a constellation; a mountain in the peninsula, the temporary residence of Rāma; a bear.”
คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บเป็น “ฤกษ์ ๒” บอกไว้ดังนี้ –
“ฤกษ์ ๒ : (คำนาม) หมี; ดาวจระเข้, ดาวนพเคราะห์. (ส.).”
สรุปว่า ศัพท์ที่แปลว่า “หมี” :
บาลี “อจฺฉ” สันสกฤต “อจฺฉ”
บาลี “อิกฺก” สันสกฤต “ฤกฺษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ฤกษ์” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “อัจฉะ”
(๒) “มํส”
อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)
: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)
“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้
อจฺฉ + มํส = อจฺฉมํส (อัด-ฉะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อหมี”
ขยายความ :
“อจฺฉมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –
(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์
(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง
(3) อสฺสมํส เนื้อม้า
(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข
(5) อหิมํส เนื้องู
(6) สีหมํส เนื้อสิงโต
(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง
(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง
(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี
(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว
…………..
ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อหมี ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –
…………..
เตน โข ปน สมเยน ลุทฺธกา อจฺฉํ หนฺตฺวา อจฺฉมํสํ ปริภุญฺชนฺติ ภิกฺขูนํ ปิณฺฑาย จรนฺตานํ อจฺฉมํสํ เทนฺติ ฯ
ก็สมัยนั้นแล พวกพรานฆ่าหมีแล้วบริโภคเนื้อหมี และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
ภิกฺขู อจฺฉมํสํ ปริภุญฺชิตฺวา อรญฺเญ วิหรนฺติ ฯ
พวกภิกษุฉันเนื้อหมีแล้วอยู่ในป่า
อจฺฉา อจฺฉมํสคนฺเธน ภิกฺขู ปริปาเตนฺติ ฯ
เหล่าหมีฆ่าพวกภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อหมี
ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุํ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
(พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า)
น ภิกฺขเว อจฺฉมํสํ ปริภุญฺชิตพฺพํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี
โย ปริภุญฺเชยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ
รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ
ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60
…………..
คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –
…………..
สีหมํสาทีนิ ปญฺจ อตฺตโน อนุปทฺทวตฺถายาติ ฯ
เนื้อ 5 ชนิดมีเนื้อสิงโตเป็นต้น (รวมทั้งเนื้อหมี) ที่ทรงห้ามก็เพื่อต้องการความไม่มีอันตรายแก่ภิกษุ
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สัตว์มักจะร้ายเมื่อถูกทำร้าย
: มนุษย์แม้ไม่มีใครทำร้ายก็ร้ายได้
#บาลีวันละคำ (3,655)
15-6-65
…………………………….
…………………………….